หลังการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ของพรรคที่ยึดอุดมการณ์ทางการเมืองมาตลอดอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้แม่ทัพอย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่ได้ลั่นวาจาว่าจะทำให้พรรคเป็นอุดมการณ์ทันสมัย หรือเป็นยุคซุปเปอร์ฮีโร่ ได้อย่างที่คาดหวังมุ่งมั่นเอาไว้ได้จริงหรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป ทั้งนี้มีการตั้งทีมงานที่มีความมุ่งมั่นทำให้กับพรรค เพื่อรวมพลังซุปเปอร์ฮีโร่เข้ามาช่วยกันฟื้นฟูพรรคให้มาครองใจประชาชนให้ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแต่งตั้งรองหัวหัวหน้าพรรคแต่ละภาค เพื่อช่วยกันฝ่าวิกฤตศรัทธากลับมาให้ได้ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทุกพื้นที่จำนวนส.ส.พรรคลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะภาคเหนือเคยมีส.ส.10 กว่าคน แต่ครั้งนี้ได้มาเพียงหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นครั้งหน้า“นราพัฒน์ แก้วทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ที่รับผิดชอบ ภาคเหนือ กับภารกิจการพลิกฟื้นสถานการณ์ในภาคเหนือ -หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา อยากให้ประเมินถึงภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 7ปีเป็นอย่างไรบ้าง ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาประหลาดใจพอสมควร เพราะเป็นการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ ในอดีตที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จากเขตเล็ก เขตใหญ่ เขตเดียว เบอร์เดียว และการเลือกตั้ง 2 ระบบ เขตและบัญชีรายชื่อ แต่ครั้งนี้เป็นการรวมเอาระบบเขต กับบัญชีรายชื่อมาอยู่ในใบเดียวกัน จึงทำให้พรรคการเมืองเล็ก ๆเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็เข้าใจได้เพราะมีหลายสถานการณ์เกิดขึ้นด้วย รวมทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มีการปรับตัว และจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งบนเงื่อนไขว่าต้องเลือกได้เพียงอย่างเดียว ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาผิดจากการคาดหวังสมควร -การเลือกตั้งรอบนี้มีอะไรที่น่าสนใจ น่าแปลกใจและต้องเก็บเอามาถอดบทเรียนบ้าง ผลพวงจากรัฐธรรมนูญทำให้พรรคเล็กเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะคนที่เก่งด้านคณิตศาสตร์ก็คงคำนวณแล้วว่าหากได้คะแนน 7-8 หมื่นเสียงก็จะได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงทำให้เกิดพรรคการเมืองเล็ก ๆขึ้น เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองใหญ่ต้องตระหนักแล้วว่าถ้าการเลือกตั้งยังเป็นระบบเดิมอยู่จะทำให้พรรคการเมืองเกิดมากขึ้น ๆเพราะตอนนี้ก็มี 60-70 พรรค ต่อไปอาจจะเป็น 100-200 พรรคก็เป็นไปได้ เพราะมีโอกาสที่จะเป็นส.ส.ได้จากสูตรคำนวณของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้คะแนนไม่ถึง 7 หมื่นก็ได้เป็นส.ส.แล้ว และครั้งมีพรรคเซอร์ไพรส ซึ่งเป็นพรรคน้องใหม่ในวงการคือพรรคอนาคตใหม่ แต่ด้วยกลยุทธ์ และวิธีการนำเสนอตอบโจทย์ที่เข้ามาในช่วงเว้นวรรคทางการเมือง 7 ปี และคนรุ่นใหม่อายุ 18 ปีมีสิทธิในการเลือกตั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือพรรคอนาคตใหม่ช่วงชิงความได้เปรียบกับฐานเสียง เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเก็บเกี่ยว 2 เรื่องคือพรรคเล็กเข้ามาสู่การเลือกตั้ง และพรรคใหม่มีแนวคิด โดยใช้ระบบโซเชียลมิเดียมาเป็นหลักในการทำงาน การส่งข้อมูลข่าวสารตรงไปยังพี่น้องประชาชน เพราะบางคนบอกว่าตื่นเช้ามาก็เห็นข่าวพรรคอนาคตใหม่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำมาเป็นบทเรียน -การเกิดพรรคเล็กมากมายทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบด้วยหรือไม่ จริงๆมีผลทั้งสองด้านทั้งได้เปรียบ และเสียเปรียบ พรรคใหญ่จะได้เปรียบในเชิงทีมงาน และนโยบาย คุณภาพของผู้สมัคร ส่วนพรรคใหม่ เขาทำการบ้านมาดี และเก่งคณิตศาสตร์การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ โอกาสที่เขาจะได้รับเลือกตั้งมีสูง และต้นทุนต่างๆน้อยกว่าพรรคใหญ่ ตั้งเป้าไว้ 1-2 แสนก็ได้ ขณะที่พรรคใหญ่ต้องทำเป็นล้านๆเสียง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ -ถ้าจะให้โฟกัสภาพรวมการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคเหนือ มีอะไรน่าสนใจหรือไม่ ภาคเหนือประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร จึงมีปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ลำใย เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องโฟกัสในจุดเหล่านี้ ยอมรับนโยบายของพรรคมีผลทั้งในเรื่องการเจาะจงไปในพื้นที่ และภาพใหญ่ บางทีนโยบายพรรคครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ไม่เพียงพอกับการเจาะลงไปในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดมีปัญหาไม่เหมือนกัน ล่าสุดผมลงไปในพื้นที่เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 26 พ.ค.และได้พบกับประชาชนในพื้นที่จะมีปัญหาเรื่องน้ำ และลำใย เพราะการที่บอกว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่ได้ไปถึงตัวเกษตรกรจริง ตรงนี้ก็จะเป็นจุดอ่อน เพราะคนในพื้นที่อยากจะเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นในอนาคตข้างหน้าพรรคจะต้องกำหนดนโยบายในภาพกว้าง และเจาะลึกในเขตพื้นที่ หรือเป็นนโยบายเฉพาะพื้นที่ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าจะเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ได้ -ปรากฎการณ์การเลือกตั้งรอบนี้มีเซอร์ไพรซ์หลายเขต จุดนี้มีอะไรที่อยากให้ข้อสังเกตหรือไม่ รูปแบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป ความขยัน ความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมีความสำคัญ แต่ภาพใหญ่หรือภาพรวมของพรรคในการที่จะเป็นกระแสก็มีผลมาก เมื่อก่อนมีการเลือกตั้ง 2 ใบ คนในพื้นที่พรรคนี้ชนะ แต่ภาพใหญ่อีกพรรคชนะ แต่ครั้งนี้การเลือกตั้งเป็นการบีบบังคับให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้งนี้จะต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าชอบทั้งคน ทั้งพรรคไม่มีปัญหา แต่ชอบคนในพื้นที่ ไม่ชอบกระแสพรรค ตรงนี้คือปัญหาของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าทำอย่างไรจะให้ทั้งสองอย่างโดนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะบอกว่าเลือกเฉพาะนาย ก.เพราะขยันทำงาน เป็นที่รักของประชาชนในพื้นที่ แต่ในภาพใหญ่ของพรรคไม่มีอะไรเด่น หรือไม่มีอะไรชู จะบอกว่าขายหัวหน้าพรรค ขายความเป็นพรรค ขายนโยบายสำคัญของพรรค แต่คนในพื้นที่ไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นในอนาคตพรรคต้องทำทั้งสองอย่างให้เท่าเทียมกัน เพื่อเป็นภาพใหญ่ของพรรคให้โดนใจประชาชนในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น -แสดงว่ากติกาใหม่มีปัญหา ในอนาคตถ้ามีโอกาสจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือปรับปรุงการทำงานของพรรค รัฐธรรมนูญคือกติกากลางที่ร่างมาแล้ว ทุกคนก็เดินหน้ากัน เหมือนนักมวยที่เขียนกติกามาแล้ว พวกเราอยู่ภายใต้กติกาก็ต้องไปศึกษาว่ากติกามีอะไร เราก็ต้องปรับปรุง พัฒนาตัวของเราให้สอดคล้องกับกติกานั้น แต่ถามว่าชอบหรือไม่ อยากแก้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเราก็ต้องทำตัวให้อยู่ภายใต้กรอบกติกานั้น ๆ แต่ถ้าในวันข้างหน้าเขาหยิบยกรัฐธรรมนูญเราอาจจะเสนอแนะได้ว่าการเลือกตั้งแบบนี้มันค่อนข้างที่จะกดดันประชาชนจนเกินไป เมื่อก่อนการแข่งขันไม่รุนแรง รักคนเลือกคน รักพรรคเลือกพรรค แต่ครั้งนี้บัตรใบเดียวเป็นการกดดันประชาชน -การเข้ามารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ รอบนี้ถือว่าเป็นความท้าทายมากน้อยแค่ไหน แน่นอน เพราะในอดีตพรรคได้ส.ส.ภาคเหนือ 10 กว่าคน แต่ครั้งนี้เหลือเพียง 1 คน ดังนั้นขั้นแรกก็ต้องพยายามนำพาพรรคให้กลับไปสู่ฐานเดิม ส.ส. 10 คนให้ได้ก่อน และขั้นถัดไปต้องได้ส.ส. 20-30 คนถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าถึงประชาชนจะเป็นการบ้านสำคัญ พรรคต้องดูภาพรวมของประเทศ และนโยบายเฉพาะกลุ่มของคนภาคเหนือ ผมเชื่อว่าจะสอดรับกัน ถ้าเป็นนโยบายภาพรวมกว้าง ๆไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา ดังนั้นจะเสนอให้หัวหน้าพรรคทำนโยบายเฉพาะชุมชน เฉพาะพื้นที่ และผู้สมัครต้องทำการบ้าน รายงานปัญหาเพื่อที่จะได้แก้ไขได้ตรงจุด -แสดงว่าที่ผ่านมาผู้สมัครของพรรคละเลยการทำงานในพื้นที่ ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าอดีตส.ส. และผู้สมัครส.ส.พยายามนำเสนอ แต่อาจจะบอกว่ามันยากลำบากในการส่งข่าวสารไปทั่วประเทศ หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผมคิดว่าเป็นการบ้านต้องไปวางแผนว่าข่าวสารต่าง ๆที่จะส่งไปถึงพี่น้องประชาชนอย่างไร และข่าวสารใหญ่ๆของพรรคจะออกไปสู่สาธารณะจะเป็นอย่างไร อาจจะใช้ระบบการสื่อสาร หรือระบบฐานข้อมูล ทางเอสเอ็มเอส ทางไลน์ หรือช่องทางอื่น ๆส่งตรงไปยังพี่น้องประชาชนภาคเหนือ น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ -ทัพภาคเหนือจะออกมารูปแบบไหน ทำเชิงรุกหรือไม่ อย่างไร คงจะต้องประชุมร่วมกับอดีตส.ส. อดีตผู้สมัครส.ส. สมาชิกพรรค ตัวแทนจังหวัด เพื่อที่จะระดมความคิด ระดมสมองว่าเราจะเดินไปอย่างไร คงจะต้องทำงานเชิงรุกเข้าไปสำรวจปัญหาประชาชนในพื้นที่ อย่างที่บอกต้องมีข้อความส่งถึงประชาชนโดยตรง มีนโยบายเฉพาะที่จะดูแลเขา เพื่อให้เขามีความรู้สึกว่าจะไปช่วยเหลือ ภาคเหนือไม่ใช่เล็ก ๆ ดังนั้นต้องระดมความเห็นกันอีกครั้งว่าภาคเหนือจะเดินไปทิศทางไหน อย่างไร ซึ่งต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยการรับฟัง และการหาแม่ทัพในหลายจุด หลายๆพื้นที่ การทำงานวันแมนโชว์คงเป็นไปไม่ได้ต้องทำงานเป็นทีม และมีพรรคพวกขับเคลื่อนไปด้วยกัน อย่างไรก็ตามคงจะเริ่มทำงานหลังการตั้งรัฐบาลได้ทันที -หลายคนประเมินว่า การเลือกตั้งรอบนี้ เป็นการทดลองใช้กติกาใหม่ เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงในการเลือกตั้งรอบหน้า สำหรับประชาธิปัตย์เอง มองอย่างไร เป็นการกดดัน หรือบังคับให้ประชาชนเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการบีบหัวใจ ความจริงการเลือกตั้ง 2 ใบน่าจะเป็นคำตอบที่ดี คนที่ขยัน ตั้งใจ อยู่กับพี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาอาศัยได้เขาก็อยากจะเลือก แต่พอเป็นภาพรวมพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ สถาบันทางการเมืองมีบุคลากร มีความรู้ความสามารถ สามารถนำประเทศไปได้อย่างมั่นคงก็ตอบโจทย์ภาพใหญ่ของประเทศ ถ้าการเลือกตั้งเป็น 2 ระบบจะถูกต้องดีกว่าในการที่จะบังคับให้เลือกบัตรใบเดียว เพราะสุดท้ายก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคที่ได้รับเสียงมาไม่ถึง 5 หมื่นเสียงได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองใหญ่ ๆกับพรรคที่ทำงานมาพอสมควร -ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งพรรคได้วิเคราะห์ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ จากการใช้บัตรใบเดียว จริงๆก็เคยคิดกัน และเราเห็นหลายๆพรรคคิดแล้ว และกล้าที่จะตัดสินใจที่จะขยายพรรค เป็นพรรคเล็ก หรือพรรคสาขา และมีบางพรรคทำอย่างนั้นอยู่แล้ว ความจริงพรรคประชาธิปัตย์มีนักคณิตศาสตร์แนะนำเราว่าจะให้พรรคได้ส.ส.หรือผู้สนับสนุนทางการเมืองเยอะ ๆจำเป็นต้องแตกพรรคออกไป เพื่อที่จะเก็บเกี่ยว พรรคที่ตัดสินใจได้ถูกต้องคือพรรคไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยในขณะนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าเราเป็นสถาบันทางการเมือง จะต้องอยู่กับหลักการ และอุดมการณ์ของเรา จึงคิดว่าถ้าตัดสินใจแบบนั้นเป็นการหลอกลวงประชาชน ไม่ซื่อตรง จึงยึดมั่นอุดมการณ์ของพรรคดีกว่า แต่ในอนาคตเมื่อมีบทเรียนแบบนี้เราจะทำอย่างไรให้สถาบันเราได้ประโยชน์ หรือได้จำนวนสมาชิกเพิ่ม หรือผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนให้กับเรามากขึ้น ซึ่งต้องสร้างคนที่โดนใจ สร้างพรรคที่ถูกใจ ถ้าได้คนที่ถูกใจในพื้นที่ ได้พรรคที่โดนใจในภาพกว้างก็จะเป็น 2 แรงบวก ที่จะทำให้คนมาลงคะแนนเสียงให้พรรคมากขึ้น ถ้ากระแสการเมืองในอนาคตเขารู้แล้วว่าการเลือกแบบแตกพรรคออกไปไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก เขาอาจจะอยากจะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำการเมืองให้เป็นจุดเลือกของพี่น้องประชาชนทั้งในเขตและภาพใหญ่เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องตัวเลขตรงนั้น ถ้าส.ส.เขตได้คะแนน 7-8 หมื่นก็ไม่ต้องกังวล และประชาชนเห็นว่ากระจายการเลือกพรรคเล็กๆจะมีผลกระทบต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเราไม่ได้ฉุนคิดแต่ในอนาคตข้างหน้าประชาชนอาจจะฉุกคิดว่าต้องเทไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือเลือกให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อพรรคเห็นจุดอ่อนตรงนี้แล้วจะต้องมารณรงค์และช่วยกันให้ได้ทั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อให้ได้ -การที่พรรคตัดสินใจไม่เชื่อนักคณิตศาสตร์ในครั้งนั้นคิดว่าเป็นความผิดพลาดในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ไม่ มันคือจุดยืน และอุดมการณ์ เพราะการทำแบบนั้นเป็นการหลอกลวงประชาชน รูปแบบนี้คือการคงความเป็นพรรคประชาธิปัตย์มา 73 ปี เพียงแต่ว่าต้องปรับตัว ต้องยืดหยุ่น และหาแนวทางใหม่ ๆพรรคประชาธิปัตย์คือแบรนของสินค้าที่ทรงคุณค่า เป็นแบรนด์ที่ทรงคุณค่า เป็นแบรนด์ที่ดัง เป็นแบรนด์ที่ดี มีคนชื่นชอบและเคารพนับถือคือแบรนด์นี้ แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเราก็จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีขึ้น อาจจะเป็นแพคเกจจิ้ง ทำรูปแบบให้ดีขึ้น หรือแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายที่โดนใจผู้บริโภค พรรคก็ควรที่จะต้องปรับตัวเอง ทำให้เป็นเหมือนที่หัวหน้าพรรคพูดว่า อุดมการณ์ที่ทันสมัย ก็ต้องทำให้เห็นว่าทันสมัยอย่างไร ถ้ามีระบบที่ดีขึ้น นำเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยมาใช้ และวางแผนที่ดี ทำให้คนที่มองเข้ามาได้เห็นภาพใหม่ ๆตอนนี้เราก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามา เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ตบแต่งทำให้ลงตัว เพราะฉะนั้นผมมั่นใจว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่จะตบซ้าย ตบขวาให้พรรคประชาธิปัตย์หน้าตาเปลี่ยนไป ลุคส์เปลี่ยนไป แพคเกจจิ้งเปลี่ยนไป อาจจะทำให้โดนใจของประชาชน ผมว่าทำได้ แต่ยังคงเป็นแบรนของพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ -ภารกิจในการพลิกฟื้นพรรค ให้กลับมาอยู่ในใจประชาชนอีกครั้ง สำหรับประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอาศัยทุกคนในพรรค แต่ตอนนี้เหมือนกับเกิดคลื่นใต้น้ำในพรรค เราจะไปต่ออย่างไร ผมว่าสุดท้ายต้องอยู่ที่ผู้นำ ผมเชื่อว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่มีประสบการณ์อยู่ในยุคกึ่งเก่า และกึ่งใหม่ อยู่ในพรรคมานาน รับรู้ รับทราบ จุดแข็งจุดอ่อนของพรรค และวัฒนธรรมในพรรค และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ คนรุ่นใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ รูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ด้วยประสบการณ์ของท่าน บวกกับท่านเป็นคนที่เปิดตัวเอง เข้าไปศึกษาหลายหลักสูตร เปิดใจรับรู้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆจะได้นำมาผสมผสาน และถ่ายทอดให้คนในองค์กรที่อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน ผมเชื่อว่าความเห็นแตกต่างภายในพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เพียงแต่ว่ายังหาจุดสรุปไมได้ อยู่ที่หัวหน้าคนใหม่ที่จะหล่อหลอมความคิดที่ไม่ตรงกัน ทำอย่างไรที่จะให้แนวคิดไปด้วยกันได้ เจตนาของทุกคนต้องการให้พรรคกลับมายิ่งใหญ่ ต้องการให้พรรคเป็นทางเลือกของประชาชน ต้องการให้พรรคนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า สุดท้ายประเทศและประชาชนได้ประโยชน์ ผมว่าตรงนี้ทุกคนเห็นเหมือนกัน ดังนั้นขอเวลาให้หัวหน้าพรรคค่อยๆสำรวจปมปัญหาทั้งหลาย และมานั่งพูดคุยกัน เมื่อตกผลึกเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าพรรคจะกลับมาเป็นหนึ่งเดียวเหมือนเดิม และเชื่อว่าในความตั้งใจของหัวหน้าพรรค และทุกคนที่ตั้งใจทำงานเพื่อพรรค ผมเชื่อว่าภายใน 1-2 ปีจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆภายในพรรคภายใต้อุดมการณ์ทันสมัยได้เห็นกันแน่นอน -คุณพ่อ สอนหรือให้คำแนะนำทางการเมือง ตั้งแต่เราเข้ามาเล่นการเมืองอย่างไรบ้าง ต้องมีความอดทน ประนีประนอม และรับฟัง พยายามคิดถึงคนอื่น คิดถึงประชาชน ชาวบ้านให้มาก วันนี้เรามาอยู่ในพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นความหวังก็อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง เมื่อมีโอกาสทำงานก็ทำให้เต็มที่ ทุกอย่างมีทั้งถูกตำหนิ เชื่อชม มีทั้งคนดี และไม่ดีต้องรับให้ได้ และตั้งใจทำงานให้เขาเห็นความตั้งใจของเรา แม้จะผิดพลาดบ้างเขาก็จะได้เห็นความตั้งใจของเรา