ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ดู“โขน”ให้สนุก รู้จักพระนางไพร่พลทศกัณฐ์ โขน นาฏกรรมชั้นสูงของไทยมีมาแต่โบราณ มีการพัฒนารูปแบบการแสดงมาโดยลำดับ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหลายประเภท อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะแห่งการเล่นโขนได้วิธีเล่น วิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากชักนาคดึกดำบรรพ์ และได้ท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้น มาจากบางส่วนของกระบี่กระบอง ซึ่งผู้เล่นหนังเอามาเล่นก่อน และได้ศิลปะอย่างอื่นของการเล่นหนังมาใช้ เช่น คำพากย์ คำเจรจา และหน้าพาทย์เพลงดนตรี ตลอดจนได้ท่าเต้นของผู้เชิดหนังมาอีกด้วย ทั้งคงจะได้ประดิษฐ์แก้ไขวิธีแต่งตัวให้งดงามรัดกุมขึ้น และถ้าเครื่องสวมศีรษะได้เคยมีมาตั้งแต่ครั้งเล่นดึกดำบรรพ์บ้างแล้ว ก็คงจะได้แก้ไขดัดแปลงแล้วประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น (ธนิต อยู่โพธิ์ 2508, กรมศิลปากร) ข้อมูลอันเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่า มีการจัดแสดงอย่างโขนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ จดหมายเหตุของเมอสิเออร์เดอลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลจากเอกสารจดหมายเหตุของเดอลาลูแบร์ บรรยายให้เห็นภาพการแสดงโขนไว้ค่อนข้างชัดเจนวิวัฒนาการของโขนว่า ได้รับอิทธิพลมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง หนังใหญ่ และการละเล่นของหลวง อันได้แก่ ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ส่วนเนื้อเรื่องที่ใช้แสดงโขน ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมของอินเดีย เช่น รามายณะ หนุมานนาฏกะ ฯลฯ หนังใหญ่ การแสดงโขนมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน จำแนกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ โขนกลางแปลง โขนนั่งราว หรือโขนโรงนอก โขนหน้าจอ โขนโรงใน โขนฉาก โขน เรื่องรามเกียรติ์ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการทำสงครามระหว่างพระรามกษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา พร้อมบรรดาไพร่พลวานร กับทศกัณฐ์ราชาแห่งยักษ์เจ้ากรุงลงกา พร้อมบรรดาอสูร รากษส และไพร่พลยักษ์ นอกจากนี้มีศิราภรณ์ เครื่องประกอบศีรษะของฝ่ายพระและนาง โขนนั่งราว มาทำความรู้จักฝ่ายพระฝ่ายนาง ยักษ์ ลิง ไพร่พล เครื่องแต่งกายโขน และหัวโขน เครื่องสวมหัวผู้แสดง หัวโขนแบ่งออกได้เป็น 4 ฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายพระ อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ พระใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ เทวดา ท้าวทศรถ พระราม ฯลฯ พระน้อย เช่น พระพรต พระลักษมณ์ พระสัตรุต ฯลฯ พระเสนา เช่น สุมันตัน เสนาพระ เช่น พวกไพร่พล สำหรับศิราภรณ์สวมใส่ ได้แก่ มงกุฏยอดชัย มงกุฏยอดบวช มงกุฏยอดน้ำเต้า มงกุฏยอดชัย 2 ชั้น 4 หน้า มงกุฏยอดเดินหน หัวกุมาร เป็นต้น จารีตการสวมศิราภรณ์ของตัวพระห้อยอุบะ และทัดดอกไม้ด้านขวา สำหรับศิราภรณ์ของฝ่ายพระ สังเกตได้ดังนี้ มงกุฏยอดชัย ได้แก่ พระนารายณ์ พระราม พระลักษมณ์ พระพรต พระสัตรุต ฯลฯ มงกุฏยอดบวช ได้แก่ พระราม และพระลักษมณ์ตอนออกบวช มงกุฏยอดน้ำเต้า ได้แก่ พระอิศวร มงกุฏยอดชัย 2 ชั้น 4 หน้า ได้แก่ พระพรหม ท้าวมาลีวราช มงกุฏยอดเดินหน ได้แก่ พระอินทร์ หัวกุมาร ได้แก่ พระมงกุฎ และพระลบ พระราม ฝ่ายนาง อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ นางตัวเอก เช่น พระอุมา พระลักษมี นางสีดา ฯลฯ นางตัวรอง เช่น นางตรีชฎา นางเบญกาย นางสุวรรณกันยุมา ฯลฯ นางกำนัล เช่น นางค่อมกุจจี นางเถ้าแก่ นางสนม ฯลฯ สำหรับศิราภรณ์สวมใส่ ได้แก่ มงกุฎกษัตรีย์ กระบังหน้า(เงิน) รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว เบญกาย ฝ่ายยักษ์ อาจแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้ ยักษ์ใหญ่ เช่น ทศกัณฐ์ ยักษ์น้อย เช่น กุมภกรรณ อินทรชิต ยักษ์ต่างเมือง เช่น มัยราพณ์ แสงอาทิตย์ สัทธาสูร ยักษ์เสนา เช่น มโหทร เปาวนาสูร เสนายักษ์ เช่น กาลสูร การุณราช สุกสาร เขนยักษ์ เช่น พวกพลยักษ์ สำหรับหัวโขนของฝ่ายยักษ์ ได้แก่ หัวโขนยักษ์ยอด หัวโขนยักษ์โล้น หัวนางยักษ์ นางกากนาสูร (สัณฐานปากเป็นกา) ทศกัณฐ์ ฝ่ายลิง อาจแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้ พญาวานร ได้แก่ ท้าวมหาชมพู พญากากาศหรือพาลี ชามพูวราช สุครีพหนุมาน นิลพัท ชมพูพาน องคต นิลนนท์ ฯลฯ สิบแปดมงกุฎ ได้แก่ ไวยบุตร เกสรทมาลา ไชยามพวาน ฯลฯ เตียวเพชร ได้แก่ ปิงคลา ทวิพัทวาหุโรม ฯลฯ (ปัจจุบันไม่ใช้แสดง) จังเกียง ไม่ปรากฏว่าชื่อ (ปัจจุบันไม่ใช้แสดง) เขนลิง ได้แก่ พลลิง นอกจากนี้ยังปรากฏหัวโขนลิงกุมาร คือองคต หัวอสุรผัดเป็นลูกผสม ทั้งนี้ในการแสดงโขนยังปรากฏมีหัวโขนและศิราภรณ์อีกหลายประเภท เช่น พญาครุฑ พญานาค นกสัมพาที นกสดายุ กวางทอง ม้าอุปการ ทรพี ทรพา เป็นต้น พาลี เครื่องแต่งกายโขน องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจและรู้สึกตกตะลึงไปกับความงดงามของเครื่องแต่งกายที่มีความวิจิตรตระการตา ปรมาจารย์ด้านนาฏศิลป์ไทยได้คิดค้นมาจากเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ และกำหนดแบบแผนของเครื่องแต่งกายให้มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะสีสันและลวดลายที่ใช้ในการปัก คือ ตัวพระจะปักลวดลายกระหนก ตัวนางจะปักลวดลายเครือเถา ตัวยักษ์จะปักลวดลายหน้าสิงห์ขบ ส่วนตัวลิงจะปักลวดลายทักษิณาวัตร ซึ่งเปรียบได้กับขนลิง ด้วยเหตุนี้เครื่องแต่งกายโขนจึงแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง ทั้ง 4 กลุ่มมีรูปแบบเครื่องแต่งกายที่มีความแตกต่างกันตามจารีต ตัวพระมีวิธีการนุ่งผ้าที่เรียกว่า นุ่งหางหงส์ ตัวนางมีวิธีการนุ่งผ้า ที่เรียกว่านุ่งจีบหน้านาง ตัวยักษ์และตัวลิงมีวิธีการนุ่งผ้า ที่เรียกว่านุ่งก้นแป้น ร่ายพอสังเขป หากท่านสนใจรายละเอียดมากกว่านี้ลองขอข้อมูลสำนักการสังคืต หรือฝ่ายเผยแพร่กรมศิลปากร เมื่อเรารู้จักตัวพระนาง ยักษ์ ลิง ไพร่พลแล้วทำให้การชมโขนนาฏกรรมชั้นสูงของไทย ได้อรรถรสดูสนุกตามท้องเรื่องไปด้วย