คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น เขียนไปแล้วก็เกรงว่าจะไม่ชัดเจน เรื่องแก้ปัญหาคณะสงฆ์ ที่มีคนคิดจะ “ปฏิรูป” การคณะสงฆ์ ซึ่งดูเป็นงานใหญ่และไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของคฤหัสถ์ งานปฏิรูปทุกด้าน อยากให้คนในวงการหรือคนในวงงานเองคิดกันขึ้น ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประมาณทุก 50 ปี กิจการทุกอย่างจะต้องได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย และคนที่จะรู้เรื่องดีที่สุด ก็คือคนในกิจการนั้นๆ งานปฏิรูป ไม่อยากให้ทำโดยคณะบุคคลหรือโดยรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพราะในที่สุดจะไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเป็นงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ เห็นได้ชัด คืองานปฏิรูปการศึกษาที่ทำโดยนโยบายของรัฐบาลหนึ่ง ดูคึกคักในขณะที่รัฐบาลนั้นยังอยู่ แต่พอให้หลังรัฐบาลใหม่ก็คิดการใหม่ มีนโยบายใหม่ คนทำงานก็เหนื่อย กรณีวัดพระธรรมกายนั้น ผมเคยเขียนตั้งข้อสังเกตว่าการมีหนังสือ “พระบัญชา” ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ให้ปรับอาบัติปาราชิกแก่ท่านพระธัมมชโย นั้นไม่น่าจะเป็น “พระนิสัย” ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น เพราะเป็นการปรับอาบัติข้ามวัดข้ามนิกาย ได้แสดงความเห็น (ตั้งข้อสังเกต)ไปว่า หนังสือพระบัญชานั้นแปลกๆอยู่ (อยากจะบอกว่ามี “ใครสักคน” ทำขึ้น?) ผลก็คือ คดีของท่านพระธัมมชโยครั้งนั้น เอาผิดอะไรไม่ได้ ทางออกคือ มีการคืนเงินให้แก่วัด เท่ากับว่า ทำผิดแล้วล้างผิดได้ด้วยการยกเลิกการกระทำ แต่ในทางสิกขาบทหรือพระวินัยบัญญัติ ความผิดในข้อนี้ ยกเลิกการกระทำไม่ได้ เป็นความผิด (เป็นอาบัติ) ตั้งแต่แรกทำคือ ตั้งแต่มีเจตนาลัก ต้องเป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ในคราวนี้ก็มาแปลกๆ คือให้เป็น “คดีรับของโจร” แทนที่จะเป็น “คดีฟอกเงิน”? อยากจะตั้งขอสังเกตว่า การพิจารณาความผิดระหว่างในทางคดี (ทางศาล) กับในทางสิกขาบทนั้น มีความละเอียดตรงไปตรงมาต่างกันอยู่ ในทางคดี คดีอาจจะพลิกได้ แต่ในทางสิกขาบทจะพลิกจากเป็นอาบัติ ไม่ให้เป็นอาบัติไม่ได้เลย อยากจะตั้งข้อสังเกตอีกว่า กรณีความผิดในเรื่อง “ทรัพย์” ที่วัดพระธรรมกายนั้น มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง เป็นเพราะว่า มี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง น่าสังเกตว่า น่าจะเป็นการทำงานอย่างเป็น “ขบวนการ” ซึ่งเดิมทีก็เป็นเรื่องของ “ศรัทธา” ล้วนๆ โดยที่ผู้บวชก็บวชด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง แต่แล้วก็มีผู้มาอาศัยหาประโยชน์และสร้างขบวนการขึ้น แล้วก็ยากแก่การยุติปัญหา อย่างที่เป็นอยู่ มานึกว่า การตั้งคดีหรือประเด็นไปในทาง “รับของโจร” ถ้าถึงที่สุด มีการตัดสินว่า พระสงฆ์เป็นผู้รับทาน จะรู้ได้อย่างไรว่าทานนั้นเป็นของโจรหรือไม่อย่างไร แล้วจะทำอย่างไร? อันที่จริง ในทางสิกขาบท พระพุทธเจ้าได้ป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องอย่างนี้แล้ว จึงให้พระสงฆ์ (ภิกษุ) ใช้จีวรเพียง 3 ผืนที่เรียกว่า “ไตรจีวร” และให้ทำกุฏิเพื่ออยู่อาศัยขนาดเล็กๆ พอนั่งนอนได้ ไม่ให้พระสงฆ์สะสมที่ดินหรือขยายที่วัดเกินความจำเป็น “พระคันธกุฎี” ของพระพุทธเจ้าเอง ก็เป็นเพียงกระท่อมหลังเล็กๆ ใครก็อาจไปเคาะประตูเรียกได้ แต่ที่เรียกว่า “คันธกุฎี” (กระท่อมหอม) เพราะมักจะมีคนเอาดอกไม้ไปวางบูชาเท่านั้นเอง ถ้าพระสงฆ์ปฏิบัติตามสิกขาบท ก็จะไม่มีผู้หาประโยชน์ไปแอบอิงได้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไปว่าจะเป็นนักธุรกิจ จะไม่เข้าไปกล้ำกรายได้ เมื่อวัดมีผลประโยชน์ ก็เป็นที่ซ่องสุมกำลังในรูปต่างๆ ได้นานเข้า ก็เป็นปัญหาแก่บ้านเมือง ยากแก่การแก้ไข จึงเห็นว่า กฎหมายป้องกัน “การแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์” น่าจะเป็นวิธีป้องกันปัญหาที่ดี เชื่อว่า จีวร หรือเครื่องนุ่งห่ม ของพระพุทธเจ้าที่มาจากผ้าบังสุกุล (ผ้าที่เข้าทิ้งแล้ว) ที่ภาษากฎหมายใช้คำว่า “เครื่องแต่งกาย” นั่นแหละ ได้กลายมาเป็นแหล่งหาประโยชน์ไปแล้ว เมื่อแยกชาวสันติอโศกให้ไปอยู่ในเครื่องนุ่งห่มอย่างอื่นปัญหาก็ค่อยๆ หมดไป แม้จะมีผู้เลื่อมใสในแนวทาง “การดำเนินชีวิต” อย่างนั้นอยู่ ก็จะไม่ใหญ่โตไปได้ เบื้องต้น จึงอยากให้แก้ปัญหา “วัดพระธรรมกาย” ด้วยวิธีอย่างเดียวกัน คือให้พระวัดพระธรรมกายแยกตัวเองให้ต่าง จากพระสงฆ์ทั่วไป พระวัดพระธรรมกายก็ควรจะมีน้ำใจเป็นนักกีฬาต่อพระพุทธศาสนา ไม่แอบอิงเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ในการซ่องสุมกำลังให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง วิธีการไม่เลียนแบบการแต่งกายฯ ใช้กับพระสงฆ์ฝ่ายเดียวก็พอ ประชาชนทั่วไปจะแต่งอย่างไรก็ไม่เป็นผล เมื่อแยกพระวัดพระธรรมกายออกไปได้ พระสงฆ์วัดต่างๆ ก็จะหยุดเคลื่อนไหวไปเอง วัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ทำท่าจะเป็นวัดร้างก็จะไม่ถูกยึดเอาไปหาประโยชน์อยู่เอง วิธีการของฝ่ายบ้านเมืองที่ปฏิบัติต่อผู้ปฏิบัติธรรมไม่อยากให้ใช้คำว่า “จับสึก” หรือ “จับขัง” ให้ใช้คำว่า “ห้ามแต่งกายเลียบแบบฯ” ก็พอ เชื่อว่า วัดพระธรรมกายจะค่อยๆ อ่อนกำลังไปเอง ว่าไปแล้ว ก็เป็นความชอบธรรมที่วัดพระธรรมกายจะนุ่งห่มเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่นุ่งห่มจีวรอย่างพระสงฆ์ไทย เพราะคำสอนของวัดหพระธรรมกายในเรื่อง “อัตตา-อนัตตา” ต่างไปจากพระไตรปิฎกบาลีอย่างชัดเจน พระสงฆ์ในวัดอื่นๆ อาจจะมีความเชื่ออย่างวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่ประกาศแนวคำสอนอย่างคัดขาดเช่นนั้น ยังถือว่าเป็นผู้ (พยายาม) ปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎกบาลี ว่าไปแล้ว คำสอนแนววัดพระธรรมกาย (หรือของ “หลวงพ่อสด” วัดปากน้ำฯ) ที่สอนให้เพ่งเอานิมิตดวงแก้วใสเป็นสมาธิก็เป็นคำสอนให้คนทำความดี ให้คนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ให้คนสนใจในการทำบุญให้ทานรักษาศีล ให้คนมีระเบียบวินัยรักความสามัคคี ฯลฯ แต่ก็จะเห็นได้ว่า คำสอนอันไม่ใช่ “อริยมรรค” ของพระพุทธเจ้า (ตามพระไตรปิฎกบาลี) นั้น ในที่สุดก็นำไปสู่การสะสมพอกพูน มุ่งสูลาภยศและสวรรค์เป็นเป้าหมาย ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นทางแห่งทุกข์ อย่างน้อย ก็สร้างปัญหาให้แก่บ้านเมืองอย่างที่เป็นอยู่ คิดว่า การคิดปฏิรูปศาสนา ฝ่ายบ้านเมืองน่าจะมุ่งมาทางคิดอ่านกฏหมายให้ฝ่ายศาสนาได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองที่ถูกต้อง และไม่อยากให้ฝ่ายบ้านเมืองก้าวก่ายฝ่ายศาสนา ด้วยการ “จับสึก” และ “จับขัง” เอาเอง กรณีวัดพระธรรมกาย อยากให้ฝ่ายบ้านเมืองตั้งคดีให้ชัดๆว่า เป็นคดีรับของโจร หรือเป็นคดีฟอกเงิน ถ้าตั้งเป้าว่าเป็นคดีรับของโจร เกรงว่า คดีจะพลิกได้แต่ถ้าตั้งเป้าว่าเป็นคดีฟอกเงิน น่าจะมีมูล... เพราะวัดพระธรรมกายมีการก่อสร้างใหญ่โต มีเงินสะพัดเป็นแสนๆ ล้าน มีนักธุรกิจเข้าไปแทรกซึม อยู่ไม่น้อย อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า การระดมเงินอย่างผิดปกติในเชิงธุรกิจ จักเป็นอันตรายต่อสังคมในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ขบวนการนี้เมื่อมีธุรกิจเป็นเป้าหมาย ก็จะมีทั้งนักบวชมีทั้งนักวิชาการ มีทั้งนักการเมือง ฯลฯ ผนึกกำลังกันทำงานใหญ่ โดยที่แต่ละฝ่ายไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้ศาสนาทำลายประเทศและสังคมส่วนรวม ยิ่งนึกก็ยิ่งเห็นว่า คำสอนในพระไตรปิฎกของเถรวาท เป็นคำสอนที่ชาวพุทธควรใส่ใจเป็นพิเศษ หน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้อยู่ที่พระสงฆ์ซึ่งจะต้องรู้เท่าทัน ควรที่พระสงฆ์จะรู้เท่าทันว่า ภัยของพระพุทธศาสนาเข้ามาล้ำลึกมากแล้ว ถ้าพระสงฆ์ไม่ตื่นตัว ก็เห็นที่จะ “เอวัง” ไปทั้งพระสงฆ์เองและสงัคมส่วนรวม