กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในงานหัตถกรรมการทอผ้าของคนในชุมชน ที่เป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากลประจำปี 2562 (Taproot Thai Textile) พร้อมจัดงานแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรมและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย  วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH รวมไปถึงส่งเสริมศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องของการทอผ้าไทยได้เผยแพร่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบนรากฐานของวัฒนธรรมในชุมชน ให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจแ ละมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนอกจากการพัฒนาชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้าให้เป็นต้นแบบในเรื่องการทอผ้าแล้ว ยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ผลักดันนักออกแบบ และผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจากเหล่าบรรดาแขกผู้มีเกียรติในแวดวงแฟชั่นมาร่วมงาน อาทิ ศิริชัย ทหรานนท์, กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์, พัชทรี ภักดีบุตร, ณัฐ ประกอบสันติสุข, เอก ทองประเสริฐ, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และภัทรสุดา อนุมานราชธน เป็นต้น “จากแดนไกล” คอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัยล่าสุดของแบรนด์ “WISHARAWISH” ออกแบบรังสรรค์ผลงานโดย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ ซึ่งคอลเลกชั่นนี้ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย แต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิคหยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยทอมือทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งวัสดุหลักก็คือบรรดาผืนผ้าที่วิชระวิชญ์ได้เลือกใช้ถึง 7 ชนิด จากผู้ประกอบการท้องถิ่น 7 ท่าน จากมุมต่างๆ ของประเทศไทยที่เขาได้เดินทางไปร่วมงานและได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ร่วมกันออกมานับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาผ่านการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการสนับสนุนและพัฒนา ผ้าไทย ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการฯ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาการบริหารและพัฒนาในเรื่องของผ้าไทยพื้นถิ่นที่สืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการสรุปข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล พิจารณาคัดเลือกและลงพื้นที่ชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า จำนวน 7 ชุมชน ใน 5 จังหวัดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องการทอผ้า การออกแบบลายผ้า เส้นใยผ้าตลอดจนวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ทอผ้า เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปสู่การต่อยอดที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพต่อยอดทางภูมิปัญญาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี, ผ้าฝ้ายทอมือคอตตอน ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่, บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี, ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพย์ จังหวัดขอนแก่น, ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น, ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น และผ้าไหมยีนส์ เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์