“อโพฟิส” อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า วันที่ 13 เม.ย.2572 เทียบกับดาวเคราะห์ที่เฉียดโลกทั่วไปถือว่าใหญ่มาก จากที่ก่อนหน้าเคยกังวลว่าอาจมีสิทธิ์พุ่งชนโลก แต่แน่นอนแล้วว่าแค่เฉียด ให้ได้ยลโฉมและได้ศึกษาที่นักวิทย์ตั้งตารอคอย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ภาพจำลองแสดงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (ที่จะเข้าใกล้โลกที่สุดในอนาคต) ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2572 โดยเส้นสีเหลืองคือเส้นทางการเคลื่อนที่ของอโพฟิส จุดสีฟ้าคือวงโคจรของดาวเทียมค้างฟ้า และเส้นสีม่วงคือวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ จากการประชุมนักวิจัยด้านดาวเคราะห์น้อยล่าสุด (2019 Planetary Defense Conference) มีแถลงการณ์เกี่ยวกับ ดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (99942 Apophis) ที่จะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในอีกสิบปีข้างหน้า ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2572 ด้วยระยะห่างประมาณ 31,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะห่างประมาณ 1 ใน 10 จากโลกถึงดวงจันทร์ หรือพอๆ กับความสูงของดาวเทียมที่โคจรรอบโลก นับเป็นโอกาสอันดีที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ศึกษาดาวเคราะห์น้อยอย่างใกล้ชิด ด้วยระยะที่ใกล้มาก ทำให้ดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส มีความสว่างใกล้เคียงกับดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ เราอาจได้เห็นดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่พาดผ่านท้องฟ้าด้วยตาเปล่า นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น และเรดาห์ ทำให้ได้ความละเอียดสูงถึงระดับตารางเมตร ทั้งยังอาจใช้วิธีการศึกษาอื่นๆ เช่น การส่งยานขึ้นไปสำรวจ ได้ด้วย ดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 340 เมตร จัดอยู่ในประเภทวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) โดยปกติแล้ววัตถุใกล้โลกโคจรเฉียดโลกเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณ 5-10 เมตร อโพฟิสจึงถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ช่วงแรกที่ค้นพบในปี พ.ศ.2547 เคยได้รับการคำนวณว่า มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลก 2.7% แต่เมื่อสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องทำให้คำนวณได้แม่นยำขึ้น และพบว่าอโฟฟิสจะไม่ชนโลกอย่างแน่นอน การที่ดาวเคราะห์น้อยอโพฟิสโคจรเฉียดโลก จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรวิตกกังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาและทำความเข้าใจ หนึ่งในวัตถุของระบบสุริยะที่อาจส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุด ซึ่งประเด็นที่น่าศึกษามีมากมาย เช่น รูปร่างและขนาดที่ชัดเจน ลักษณะพื้นผิว องค์ประกอบภายในที่เป็นไปได้ ผลของแรงดึงดูดของโลกที่กระทำกับดาวเคราะห์น้อยขณะเข้าใกล้ อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจเห็นดาวเคราะห์น้อยอโพฟิสพร้อมกันทั่วโลก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมีอัตราการเคลื่อนที่เร็วมาก และจะเคลื่อนที่จากซีกโลกใต้ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ โดยจะเริ่มเห็นจากฝั่งตะวันออกและค่อย ๆ เลื่อนไปทางตะวันตก สำหรับช่วงเวลาที่อโพฟิสเข้าใกล้โลกที่สุดคือ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2572 เวลาประมาณ 05:00 น. ตามเวลาประเทศไทย เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง https://www.jpl.nasa.gov https://cneos.jpl.nasa.gov http://pdc.iaaweb.org https://www.space.com