"วิษณุ" ชี้วันโหวตนายกฯ รอชัดเจนหลังได้ประธานสภาฯ "สรศักดิ์" แจงขั้นตอนโหวตเลือกปธ.สภา- รองปธ.สภา มั่นใจบัตรออกเสียงปลอมยาก ขณะที่ "50ส.ว."ก่อหวอดให้โหวตเลือก "ปธ."บี้"พรเพชร"เร่งทำความเข้า ใจส.ว. "บิ๊กตู่" ไม่ตอบภาพ ภท.-ปชป.จับมือลุยศึกการเมือง "สมคิด" บอกแค่คนในวงการเมืองเป็นมิตรกัน ออกตัวไม่มีนักการเมืองเข้าพบพูดคุย เชื่อทุกฝ่าย หวังตั้งรัฐบาลเร็ว กั๊กช่วย "บิ๊กตู่" ต่อหรือไม่ ส่วน "บิ๊กป้อม" ปัด "พัชรวาท" ได้นั่ง มท.1 ยันน้องชายเลิกยุ่งการเมือง "มนตรี" ยัน "ปชป.-ภท." จับมือแน่น กอดเป็นขั้วที่ 3 ตั้ง รบ.รับข่าวลือแบ่งกระทรวงเบ็ดเสร็จ ปูด"พปชร." เสนอเก้าอี้ "ภท.-ปชป." พรรคละ7ตำแหน่ง อยู่ที่สูตร 3 กระทรวงหลักเกรดเอ 4 รมช. หรืออาจเป็น3 กระทรวงหลักบวก1รองนายกฯ และ 3 รมช. ส่วน "กกต." รับปมเงินกู้ไม่ถือเป็นรายได้พรรคการเมืองตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง "หมอวรงค์"สวนกลับ "ชวน" ปมแทรก แซงเลือกหัวหน้าพรรค ลั่นอย่าว่าแต่คน นอก คนในก็สั่งไม่ได้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 22 พ.ค.62 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาว่า โดยขั้นต้นจะต้องมีการโหวตเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 25 พ.ค.หลังจากนั้นจะนำรายชื่อประธานและรองประธานสภาขึ้นทูลเกล้าฯ และพอโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ประธานสภาฯ จึงจะมีการกำหนดให้โหวตเลือกนายกฯ ทั้งนี้ การโหวตเลือกนายกฯโดยหลักแล้วไม่ควรเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะส.ส. ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ด้าน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมร่วมงานรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกในวันที่ 24 พ.ค. ว่า ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้ง ส.ส.ทุกคนให้พร้อมกันที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ตั้งแต่เวลา 11.00 น.โดยขั้นตอนของการเลือกประธานและรองประธานตามข้อบังคับการประชุม กำหนดให้การลงคะแนนเลือกดังกล่าวเป็นการลับ ดังนั้นสำนักงานจึงได้เตรียมบัตรใส่ในซองเอกสารเพื่อให้สมาชิกได้เลือกบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ หากมีการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใด ต้องได้เสียง ส.ส.รับรองเกิน 20 คน หากตำแหน่งใดมีการเสนอชื่อเพียงบุคคลเดียว ให้ถือว่าได้รับเลือกในตำแหน่งดังกล่าว แต่หากมีชื่อที่เสนอเกินกว่า 1 คน ให้ใช้การลงคะแนนลับ ยืนยันว่าบัตรออกเสียงมีตราประทับของสำนักงานไม่สามารถที่จะทำการปลอมบัตรออกเสียงได้ อีกทั้งมีขั้นตอนในการตรวจสอบได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนของการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง จะใช้กระบวนการออกเสียงเช่นเดียวกับการเลือกประธานและรองประธานเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะขณะนี้บุคคลที่คาดว่าจะถูกเสนอชื่อมีเพียงตำแหน่งละ 1 คน เท่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าการเปิดประชุมวุฒิสภาในวันที่ 24 พ.ค. เพื่อเลือกตัวประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาอีก 2คน ที่ก่อนหน้านี้มีการวางตัวค่อนข้างจะลงล็อกแล้ว คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประ ธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เป็นประธานวุฒิสภา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีตสนช.เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และนายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 นั้น ปรากฎว่า ล่าสุดเกิดแรงกระเพื่อมภายในกลุ่มส.ว.กว่า 50 คน ที่ไม่พอใจการวางตัวตำแหน่งประธาน ส.ว.และรองประธานส.ว.อีก 2คน ในลักษณะพยายามไม่ให้มีการโหวตแข่งขันในทุกตำแหน่ง โดยส.ว.กลุ่มที่ไม่พอใจได้จับกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะควรเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งประธานส.ว. ที่ส.ว.หลายคนเห็นว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้อง จะต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้กลุ่มส.ว.หลายคนยังได้จับกลุ่มวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการวางตัวนายพรเพชรให้ดำรงตำแหน่งประธานส.ว.อย่างหนักว่า ช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสนช.5ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมาหารือกับสมาชิกสนช.เท่าที่ควร ทำให้การออกกฎหมายหลายฉบับมีปัญหา ถูกโซเชียลมีเดียรุมถล่มจนกระทบต่อภาพลักษณ์คสช.และวิจารณ์ว่าขณะนี้มีบางคนทำตัวเป็นประธานตั้งเเต่ยังไม่ได้รับการเเต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งด้วยซ้ำ อีกทั้งการจัดสรรตำแหน่งประธานกมธ.ชุดต่างๆ ในวุฒิสภา ยังไม่มีการปรึกษาหารือสมาชิก ทำให้ขณะนี้ส.ว.กลุ่มดังกล่าวกำลังหารือกันอยู่ว่า หากมีคำสั่งของผู้ใหญ่วางตัวให้นายพรเพชรมาเป็นประธานส.ว.จริง ก็ควรมาทำความเข้าใจกับส.ว.ทุกคนให้เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงถึงที่มาที่ไป ไม่ใช่ยึดสภาแล้วมาสั่งซ้ายหันขวาหัน ตั้งเเต่ยังไม่เริ่มเปิดประชุมอยู่เพียงผู้เดียว ถ้านายพรเพชรยังไม่ประสานงานมาทำความเข้าใจกับส.ว. อาจจะมีการเสนอให้โหวตแข่งขันในตำแหน่งประธานส.ว. แม้จะรู้ว่า ถ้าโหวตกันจริงๆแล้ว มีโอกาสสูงที่จะพ่ายแพ้ต่อนายพรเพชรก็ตาม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ว่า ต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แต่ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นก่อนจะดีกว่า ทั้งนี้ ตนคิดว่าจะต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว เพื่อจะได้สร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างชาติ ยืนยันว่า ไม่ทราบว่าการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ใกล้จะลงตัวแล้วหรือไม่ เมื่อถามว่า มีข่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพล.อ.ประวิตร จะมาเป็นรมว.มหาดไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่มีหรอก ไม่มี ไม่มี ไม่มี พัชรวาทเลิกแล้ว ไม่เล่น" เมื่อถามว่า ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกกังวลต่อกรณีที่ถูกโจมตีค่อนข้างมากในช่วงนี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "สื่อก็คิดไปเองหละสิ กระแสที่พุ่งก็คือจากสื่อ" เมื่อถามกรณีที่พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ประชุมกันแล้ว เพื่อเตรียมร่วมจัดตั้งรัฐบาล เป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตกล่าวถึงกรณีการทำงานของคสช.ครบ 5 ปีว่า "อย่าไปให้ความสำ คัญกับวันไหน" และปฎิเสธตอบคำถามว่ารู้สึกอย่างไร หลังมีภาพพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จับมือกันออกมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวว่า ภาพนายอนุทินจับมือกับนายเฉลิมชัยและนายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์นั้น "คนในวงการเมืองรู้จักกันทุกคน ยิ่งเป็นมิตรกันเท่าไหร่ก็ยิ่งดี" เมื่อถามว่า มีใครมาพูดคุยด้วยหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า จะมาพูดคุยกับตนได้อย่างไร ตนอยู่ฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ส่วนที่มีชื่อตนเข้าไปเกี่ยวข้อง สื่อฯก็ชอบไปเขียนเอง ตนไปเกี่ยวที่ไหน ผู้สื่อข่าวถามว่า มีใครมาทาบทามท่านล่วงหน้าหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า "จะมาทาบทามผมได้อย่างไร ที่ผ่านมาแต่ละคนก็อายุพอสมควรแล้ว" เมื่อถามว่า จำเป็นต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็วหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ทุกคนต้องการตั้งรัฐบาลให้เร็วอยู่แล้วขึ้นอยู่กับความร่วมมือกัน พูดจากันให้เข้าใจ เมื่อถามว่า รองนายกฯและคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะเป็นชุดเดิมหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ ที่พูดกันก็ไปพูดกันเอง ตั้งกันเองทั้งนั้น ส่วนที่มีชื่อตนอยู่ด้วย จะมีชื่อใครขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่รู้เลยใครจะมาเป็นนายกฯ ทุกอย่างมีขั้นตอนและ4-5 ปีที่ผ่านมาถือว่าเรามาไกลมากแล้ว อย่าให้ทุกอย่างที่สร้างมาถดถอยลงไปน่าเสียดาย อยากให้มองข้างหน้าร่วมมือกันประชาชนจะได้ไม่เบื่อ เมื่อถามย้ำว่า หากนายกฯเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ยังจะช่วยสนับสนุนทำงานต่อไปหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดภายหลัง เพราะถึงอย่างไรต้องให้ชัดเจนก่อนว่าครม.จะมีใครบ้าง และใครเป็นนายกฯ ตัวบุคคลมาทีหลังทั้งนั้น ในความต่อเนื่องของบุคคลจะทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ตนมองว่าความสำคัญอยู่ที่ความต่อเนื่องของระบบและนโยบาย ตัวบุคคลคงไม่ใช่ แต่ตัวบุคคลบางคนก็เป็นที่น่าเชื่อถือกับต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง มันอยู่ที่รัฐบาลอยู่ที่นโยบาย เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคและเลขาฯพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่เคยมาขอคำปรึกษาอยู่เรื่อยๆ ขณะนี้ได้เข้ามาขอคำปรึกษาอะไรหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ช่วงหลังมานี้ ตนไม่ค่อยได้เจอกับหัวหน้าและเลขาฯ พรรค เพราะงานเขาเยอะ เขาคงเจรจาพูดคุยกัน ในส่วนของตนที่รับผิดชอบหลายกระทรวงก็ไม่รู้จะหมุนอย่างไร ส่วนการเจรจาของพรรคพปชร. ก็ต้องไปถามจากพรรคพปชร. รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ทำงานกันอยู่ไม่ได้มากินกันเฉยๆ ตามที่ได้พูดไว้ทุกอย่าง พร้อมปรากฎภาพ นายอนุทินกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส ประจวบคีรีขันธุ์ พรรคประชาธิปัตย์ รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านทีเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ทั้ง2 ฝ่าย หารือคือพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอขั้วที่ 3 หากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย จำนวน 51 เสียง รวมกันจะได้ส.ส. 103 เสียง ที่สามารถไปเชื้อเชิญพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมรัฐบาล เพื่อเป็นทางออกของประเทศในเวลานี้ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ขั้วที่ 1 และขั้วที่ 2 ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ โดยเฉพาะคนในพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นไปหลายทิศทาง อาทิ ไม่สามารถไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยได้ บางกลุ่มก็ไม่สามารถสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมทั้ง บางคนยังสนับสนุนให้เป็นฝ่ายค้านอิสระ ขณะที่ทางฝั่งพรรคภูมิใจไทย ก็พบปัญหาหลากหลายไม่ต่างกัน หลังจากการการรับฟังความคิดเห็นของส.ส. ระหว่างการประชุมที่จังหวัดบุรีรัมย์เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่า ส.ส.บางคนเกรงว่าไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีปัญหาในพื้นที่เพราะมีกระแสต่อต้านทหาร หรือ บางคนก็บอกว่าไปร่วมรัฐบาลกับฝ่ายไหนก็ได้แต่ขอให้สามารถผลักดันนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง และทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบได้ก็พอ รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ทั้งนี้การหาเรื่องขั้วที่ 3 ดังกล่าวนี้ นายอนุทินและนายเฉลิมชัยจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับพรรคของตัวเองว่าเห็นด้วยกันแนวทางนี้หรือไม่ พร้อมทั้งรับฟังกระแสสังคมควบคู่กันไปในช่วงนี้ ว่าจะขาน รับแนวทางขั้วที่ 3 ด้วยหรือไม่ หากประชาชนเห็นด้วยและสนับสนุนไปให้ตลอดรอดฝั่ง ก็เชื่อว่าโอกาสของขั้วที่ 3 ด้วยจำนวนตั้งต้น 103 เสียง จะมีโอกาสเดินหน้าไปได้ที่จะชักชวนพรรคการเมืองต่างๆมาจัดตั้งรัฐบาล แต่หากสังคมไม่เห็นด้วย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ก็แยกย้ายไปตามแนวทางของตัวเองหรือเงื่อนไขที่เปิดรับในการร่วมรัฐบาลหรือสุดท้ายต้องเป็นฝ่ายค้าน ล่าสุด นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบฯ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการนัดหารือระหว่างนายอนุทิน และนายเฉลิมชัย ว่า เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันครั้งที่สอง โดยก่อนหน้านี้ ก่อนเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ครั้งนั้นเป็นการแสดงความยินดีระหว่างกันในฐานะพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ชอบพอกัน ส่วนการพบปะครั้งล่าสุด เป็นการพูดคุยตามที่นายอนุทิน ระบุในเฟซบุ๊กคือ ไปทำงาน พูดคุยกันว่า เราต้องการทำงานอะไรด้านไหน "แกนนำทั้งสองพรรคต่างยืนยันที่จะจับมือเดินไปด้วยกัน ไม่มีแตกแยกหรือปล่อยมือทิ้งกัน ถ้าข้อเสนอที่บอกไปได้รับการตอบรับจาก โดยพรรคภูมิใจไทย สื่อก็ทราบมาแล้วว่า ต้องการบริหารงานต่อยอดจากนโยบายที่หาเสียงไว้คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลดล็อคกัญชาเป็นยารักษาโรค และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อต่อยอด ทั้งงานด้านกีฬา และบูมจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ขอกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และกระทรวงพลังงาน แต่ถ้าไม่ได้ตามนี้ เราก็ยืนยันว่าจะจับมือกัน ส่วนจะพิจารณาเป็นขั้วที่สามหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือดังกล่าว ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐเสนอโควต้าตำแหน่งมาให้ทั้งสองพรรค พรรคละ7 ตำแหน่ง อยู่ที่สูตร 3 กระทรวงหลักเกรดเอ 4 รมช. หรืออาจเป็น3 กระทรวงหลักบวก1รองนายกฯ และ 3 รมช. นอกจากกระทรวงหลักที่ทั้งสองพรรคระบุไปแล้ว ไม่มีการระบุขอตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการแต่อย่างใด แต่หากข้อเสนอร่วมดังกล่าวของทั้งสองพรรคไม่ได้รับการตอบสนอง ทั้งสองพรรคอาจพิจารณาเป็นขั้วที่ 3 โดยมีการประสานกับพรรคขนาดเล็กอีก2พรรคคือชาติไทยพัฒนา ที่มี10 ส.ส.และพรรคชาติพัฒนาอีก3 ส.ส.รวมเป็น 116ส.ส. เพราะเห็นว่า พรรคหลักทั้งสองขั้วมีจุดยืนที่ต่างกันมากไม่ว่าขั้วใดตั้งรัฐบาลได้ก็จะเป็นเสียงปริ่มน้ำ. หรืออาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่จะมีปัญหาในการบริหารราชการที่สุดตะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลและอาจเป็นรัฐบาลที่อายุสั้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตจากสังคมว่า กกต.มีการพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่งที่มีคำร้องเกี่ยวกับการถือหุ้นของนักการเมืองอีกหลายสิบเรื่องนั้นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เสร็จอย่างรวดเร็ว แต่การทำงานต้องเป็นไปตามกรอบเวลา ซึ่งมีการยื่นร้องมาก่อนหน้านั้น เราไม่ได้ทำเพราะว่าเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ส่วนเรื่องให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงิน 110 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา ก็ยื่นเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำนักงานจะคงต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยจะมีการคุยกับผู้ร้อง และพิจารณาคำร้องมีมูลหรือไม่ ถ้าไม่มีมูลก็ยุติเรื่อง แต่ถ้ามีมูลก็จะมีการเสนอ กกต.พิจารณา เมื่อถามว่า โดยหลักการแล้วพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เท่าที่ดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องดูมาตรา 62 เป็นหลักเกี่ยวกับรายได้พรรคการ เมือง ซึ่งดูแล้วไม่มีเรื่องกู้ยืม ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จะพูดอะไรตอนนี้คงไม่เหมาะ ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ได้พาดพิงถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ในครั้งก่อนว่า ถูกแทรกแซงจากภายนอกว่า "รู้สึกเสียใจ!!!!!! ผมเข้าใจว่า การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สมัยผม นั้นจบไปแล้ว และผมได้ขอโทษท่านในที่ประชุมใหญ่พรรคไปแล้วว่า ผมต้องขอโทษท่านด้วยที่ผมต้องสู้กับท่าน เพราะต้องการเห็นพรรคดีขึ้น แต่หลังจากทราบข่าวว่าท่านพูดพาดพิง การเลือกหัวหน้าพรรคที่ผ่านมาว่าการแทรกแซงจากภายนอก มีมาตั้งแต่สมัยเลือกหัวหน้าพรรคครั้งที่แล้ว ผมรู้สึกเสียใจมาก ที่คิดว่าคนอย่างผม จะถูกแทรกแซงได้ อย่างที่ท่านเข้าใจ ท่านคิดหรือว่า คนที่ต่อสู้กับรัฐบาลหุ่นเชิดทุนสามานย์ ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึง 6 ปี จนในที่สุดศาลตัดสินจำคุก อดีตนายกฯต้องหนีออกนอกประเทศ จะถูกแทรกแซงได้ ผมยืนยันว่า การที่ผมและเพื่อนๆ สู้ในการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคครั้งที่แล้ว เป้าหมายของผมต้องการให้พรรคของเรามีประสิทธิภาพ สามารถสู้กับคู่แข่งขันได้ ถ้าอดีตหัวหน้าพรรค บริหารพรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกผมไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องไปสู้หรอกครับพวกผมขอยืนยันว่า ที่อาสาเข้ามาทำงานการเมือง เพราะต้องการเข้ามาดูแลประโยชน์ชาติอย่างแท้จริง จุดยืนของพวกผม จึงยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต้องเหนือสิ่งอื่นใด ต้องเหนือประโยชน์พรรค และเชื่อว่าสิ่งนี้มีในพรรค และยืนยันว่าไม่มีใครที่จะมาครอบงำหรือแทรกแซงพวกผมถ้าพวกผมเชื่อว่านี่คือประโยชน์ประเทศ ไม่มีใครสั่งพวกผมได้ อย่าว่าแต่คนนอกเลยครับ แม้แต่คนในก็สั่งไม่ได้" ////////////////////