ไทย เป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศไนจีเรีย มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 9 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านตันต่อปีคิดเป็นร้อยละ 9 ของผลผลิตทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท ดังนั้นอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ก็เป็นอีกธุรกิจเกษตรที่สำคัญ ที่ผ่านมา เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง มักประสบปัญหาราคาหัวมันสดปรับตัวขึ้น-ลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากราคามันสำปะหลังปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากกลไกทางการตลาดของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย หนึ่งในมาตรการสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มั่นใจว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการผลิตมันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดคือการผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงงานและเกษตรกรเข้าสู่ระบบ “เกษตรพันธสัญญา” เนื่องจากการตกลงซื้อ-ขายภายใต้ระบบดังกล่าว จะมีการจ้างผลิตผลิตผลโดยเกษตรกรตกลงที่จะรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดอย่างชัดเจน และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรหรือโรงงานตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าว โดยจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงในสัญญา พร้อมทั้งเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต เช่น กำหนดวิธีการผลิต จัดหาพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิต ให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจร ดังนั้น นอกจากเกษตรกรที่ทำสัญญาจะได้รู้ราคาซื้อ-ขายล่วงหน้าเป็นที่พอใจแล้ว ระบบดังกล่าวยังช่วยให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย เพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการอีกด้วย จึงเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับสินค้าเกษตรไทยทั้งระบบให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในตลาดภายในและตลาดโลกมากยิ่งขึ้น บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด บริษัทในเครือโรงงานน้ำตาลมิตรผลเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังชั้นนำของไทย มีโรงงานตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้แจ้งจดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตหัวมันสำปะหลังสด 1,200 ตัน /วัน ผลิตแป้งดิบ 350 ตัน โดยบริษัทฯ จะเข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยให้เกษตรกรผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ ด้าน นายเกษม อินทรมาส ชาวไร่มันสำปะหลังที่ยึดอาชีพมากว่า 20 ปี ในพื้นที่หมู่บ้านโนนสะอาด ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันได้ตกลงทำสัญญาซื้อ-ขายภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัท ราชสีมา กรีนฯ หลังจากก่อนหน้านี้จะนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายตามลานมัน ซึ่งมักจะถูกกดราคาและเสียดอกเบี้ยแพง เนื่องจากต้องไปรับเงินจากลานมันมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า “ตกเขียว” แต่ภายหลังมีโครงการเกษตรพันธสัญญา ก็ได้สมัครเข้าโครงการกับ บริษัทฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2561 ซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต เช่น การระเบิดดินดาน แนะนำการใส่ปุ๋ยรองพื้นที่ดิน การเตรียมดิน ช่วยหาแหล่งน้ำ และพาไปศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันมีผลผลิตสูงขึ้นจากเดิมเคยผลิตได้ 2-3 ตันต่อไร่ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4-5 ตันต่อไร่ และจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาตันละ 3,400 บาท จึงมั่นใจว่าระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการหรือนายทุน และช่วยยกระดับราคาที่มั่นคง เช่นเดียวกับ นายถนอม มอบขุนทด เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง หมู่บ้านปราสาทใต้ หมู่ 14 ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่ 100 กว่าไร่ เดิมปลูกแบบตามมีตามเกิดขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศ ทำให้ได้ผลผลิตไม่แน่นอนและขายได้ราคาไม่แน่นอนเช่นกัน แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการเกษตรพันธสัญญากับบริษัทฯเมื่อปี 2561 ทางบริษัทฯได้จัดประชุมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตทุกขั้นตอน เช่น การเตรียมดิน การทำระบบน้ำหยด เพื่อให้ได้นำมาประยุกต์ใช้ในไร่ของตนเอง ส่งผลให้ในปัจจุบันสามารถผลิตมันสำปะหลังได้ไร่ละ 7 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยผลิตได้ 2.5 ตัน และยังได้รับการจัดสรรโควตาไม่จำกัดจำนวน ในราคารับซื้อตามเชื้อแป้ง คือ 25% ขึ้นไป ซึ่งทางบริษัทฯ จะบวกเพิ่มจากราคารับซื้อทั่วไปอีก 10 สตางค์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีกำลังใจในการปลูกมันสำปะหลัง จึงมั่นใจว่าระบบเกษตรพันธสัญญาจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และสามารถอยู่ร่วมกันกับบริษัทคู่สัญญาโดยไม่ทอดทิ้งกันได้ เสียงสะท้อนของชาวไร่มันสำปะหลัง น่าจะตอบโจทย์อนาคตของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาได้เป็นอย่างดี ถือเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมเกษตรไทย มุ่งสร้างความเป็นธรรม รายได้มั่งคง ยั่งยืนให้เกษตรกร