“ค่ายมือถือ”ประสานเสียงวอนกสทช.ทบทวนราคาคลื่น 700 Mhz.ใหม่ เมื่อวันที่ (22 พ.ค.2562)สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศกสทช.เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกกะเฮิรตช์โดยมีสรุปสาระสำคัญของร่างประกาศแห่งนี้ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกกะเฮิรตซ์ ระยะเวลาอนุญาต15 ปี วิธีการจัดสรร ผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการ กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตมีความต้องการตรงกันใช้วิธีจับสลาก ราคาของชุดคลื่นความถี่ชุดละ 17,584 ล้านบาท วงเงินประกัน 880 ล้านบาท นายฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการกสทช กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยกร่างประกาศให้ทีความสมบูรณ์ โดยให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบว่าร่างประกาศอย่างเต็มที่กสทช.ขอรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงร่างฯให้สมบูรณ์ โดยสิ่งใดที่สามารถนำไปแก้ไขได้จะนำไปดำเนินการ สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติคงปรับปรุงแก้ไขให้ไม่ได้  นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค  กล่าวว่า ดีแทคเป็นโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งที่ยื่นขอให้รัฐบาลช่วยขยายระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะเข้าซื้อคลื่นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เมื่ออุตสาหกรรมมีปัญหาเป็นเรื่องดีที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ควรมีเงือนไขให้เข้าร่วมการจัดสรรคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์  เมื่อดูคำสั่งคสช. ไม่ได้บอกว่ากสทช ต้องมัดมือชกบังคับโอเปอเรเตอร์ต้องซื้อคลื่น700 เมกกะเฮิรตซ์ โดยเมื่อดูราคาเฉลี่ยการจัดสรรในทวีปยุโรปราคาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ในเอเชียอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาของประเทศไทยอยู่ที่ 17,584 ล้านบาท ดีแทคจึงขอให้กสทช.ทบทวนราคาและระยะเวลาจัดสรรให้เหมาะสมกว่านี้  นายสุเทพ เตมานุวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)กล่าวว่า การกำหนดราคาคลื่น 700 เมกกะเฮิรตช์ อยากให้กสทช. ช่วยนำตัวแปรในส่วนของโมเดลธุรกิจในการรับรู้รายได้จากบริการ 5G เข้ามาคำนวณในการกำหนดราคาด้วย เนื่องจาก 5G เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เกิด การทำ5G จะต้องใช้คลื่นหลายย่าน ทั่วโลกต่างรู้ว่า 5G จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมมากกว่าคนทั่วไป ถ้าโอเปอเรเตอร์ได้คลื่นไปแต่ยังไม่มีความชัดเจนในการหารายได้ประกอบยังไม่สามารถนำไปใช้กับ 5G ได้ทันที การได้คลื่นไปจะไม่เกิดประโยชน์ ข้อมูลมูลglobal mobile association เมื่อเดือนธ.ค. มีการทดสอบ 5G บนคลื่น 3500 เมกกะเฮิรตซ์ ร้อยละ39 คลื่น 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ร้อยละ 31 คลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ มีแค่ ร้อยละ  2 จากข้อมูลนี้เท่ากับคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ ยังไม่ได้รับการพิจารณาให้เอามาใช้ 5G หรือคลื่น700 เมกกะเฮิรตซ์ อาจจะเหมาะกับการใช้ให้บริการเติมเต็มในบางธุรกิจ เรากำลังซื้ออนาคตแต่ยังไม่รู้ว่าธุรกิจจะเกิดอะไรบ้าง  นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ขอให้กสทช. ทบทวนเรื่องการตั้งราคา เรามองว่าการตั้งราคาที่ 17,584 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงเกินไป การตั้งราคาคลื่นความถี่ควรตั้งราคาจากต้นทุนเพราะหากได้คลื่นไปแล้วยังไม่สามารถใช้คลื่นได้ทันที หรือใช้งานไม่เต็มร้อยก็จะดูไม่เป็นธรรม กสทช.กำหนดราคาคลื่นจากต้นทุนเต็มร้อย แต่การนำไปใช้งานยังไม่เต็มร้อยการกำหนดราคาควรให้ความเป็นธรรมจากคนใช้งานเพราะถ้าราคาสูงเกินไปคนที่รับผิดชอบคือผู้ใช้งานได้แก่ประชาชน ดังนั้นกสทช. จึงควรกำหนดราคาโดยคิดถึงกำลังของผู้ใช้งาน เป็นไปได้ไหมที่กสทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ย่านอื่นคู่ขนานกันไป โดยเฉพาะคลื่นที่สำคัญสำหรับประเทศเช่นคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์  ด้าน น.ส.สุภัทตรา กฤตยาบาล ผู้อำนวยการสำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า  สำนักงานฯห่วงเรื่องราคา การคำนวณได้ทำตามหลักสากล โดยมีการพิจารณาทบทวนเปรียบเทียบกับปัจจัยรอบด้าน รวมทั้งการสัมภาษณ์ความเห็นเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจ 5G จากนักวิจัยบริษัทเอกชน โดยมีผลเห็นว่า 5G จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้จริง และได้เปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราคาดการณ์เงินเฟ้อ เทียบอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต กสทช.ยืนยันว่าได้กำหนดราคาโดยสมเหตุสมผล