กรมการข้าว จ่อขึ้นทะเบียน GI ข้าว 4 สายพันธุ์เฉพาะถิ่น ชี้กระแสตลาดตอบรับดี เทียบข้าวสังข์หยด พัทลุง พร้อมลุยขยายพันธุ์ข้าวชัยนาท 62 เกือบ 2หมื่นไร่ ป้อนตลาดต่างประเทศต้องการกว่า 1 ล้านตัน ยันไม่ส่งเสริมปลูกข้าวหอมพวง เสี่ยงโรคระบาดได้ง่าย
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้รับรองข้าว 5 สายพันธุ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งจะมีพันธุ์ข้าว กข 79 ได้ตั้งชื่อเป็น ข้าวพันธุ์ชัยนาท 62 ส่วนอีก 4 สายพันธุ์เป็นข้าวเฉพาะถิ่น จึงไม่ได้เปลี่ยนชื่อ คือ ข้าวมะลิดำหนองคาย 62 เหมาะปลูกพื้นที่ภาคอีสาน ข้าวขะสอ 62 เหมาะปลูกบนพื้นที่สูง ข้าวเจ้าเม็ดฝ้าย 62 เหมาะปลูกภาคใต้ พื้นที่สภาพไร่ สวนปาล์ม สวนยาง และข้าวหอมใบเตย ปลูกพื้นที่ภาคกลาง ขยายเชิงเศรษฐกิจส่งออกได้
“4 สายพันธุ์เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น กรมการข้าว จะเร่งดำเนินการส่งขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ในลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กับ กระทรวงพาณิชย์ คล้ายกับ ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง เมื่อผลักดันเป็นสินค้าจีไอ ทำให้เปิดตัวออกสู่ตลาดได้ดียิ่งขึ้น”อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
สำหรับข้าวพันธุ์ชัยนาท 62 หรือ กข 79 เป็นการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าให้มีลักษณะพื้นนุ่ม ต้านทานโรคได้ดี และมีผลผลิตสูง 800กก.-1.2 พันกก.ต่อไร่ ซึ่งตลาดต่างประเทศกำลังต้องการมากประมาณ1ล้านตัน ในปีนี้จะกระจายเมล็ดพันธุ์ลงแปลงฤดูนาปี 9 พันไร่ จ.สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และบางจังหวัดในภาคใต้ ขณะนี้เริ่มปลูกแล้ว และปลูกอีก1หมื่นไร่ ฤดูนาปรัง
ทั้งนี้ ชาวนา จ.สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ เริ่มปลูกแล้ว ข้าวพันธุ์ชัยนาท 62 หรือ กข.79 ข้าวพื้นนุ่ม กรมฯ จึงรับรองพันธุ์มาขยายการส่งเสริม และจะต้องหาตลาดรองรับด้วย โดยร่วมมือกับผู้ส่งออก โรงสี และชาวนา จากแผนเดิมใช้เวลา1ปีเพื่อขยายเมล็ดพันธุ์ โดยนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้บูรณาการทุกฝ่าย ปรับแผนใหม่ปลูกได้ภายในปีนี้ เพราะตลาดต่างประเทศต้องการจำนวนมาก
นายประสงค์ ยังกล่าวถึงกระแสข้าวหอมพวงว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจน แต่มีชาวนานิยมปลูกในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งกรมการข้าว ได้ออกคำเตือนมาตลอด เรื่องข้าวปลอมปน เมื่อปลูกแล้วจะขายไม่ได้ราคาตามที่โรงสี หรือท่าข้าว ให้ราคารับซื้อสูงไว้ ทั้งนี้ได้นำตัวอย่างเมล็ดข้าวหอมพวง ไปทดสอบยีนส์ พบว่าไม่เป็นข้าวจัสมิน85 และข้าวหอมมะลิ อีกทั้งยีนส์ไม่ตรงกันกับข้าวหอมพวง ในอดีตที่มีอยู่ในยีนส์แบงค์
“จึงสั่งทีมงานนักวิจัย นำข้าวหอมพวงไปทดลองปลูกในสถานีทดลอง เพื่อดูลักษณะเด่น นำมาปรับปรุงพันธุ์ แต่กรมการข้าว ไม่ได้ส่งเสริมให้ปลูก เพราะแหล่งที่มาไม่ชัดเจน และในพื้นที่ยังมีประเด็นไปพูดต่อๆกันให้ชาวนากลัวว่าถ้าปลูกจะโดนจับ ขอยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯไม่มีมาตราการใดๆกับชาวนา แต่กรมการข้าว จะไปดำเนินคดีกับผู้จำหน่าย ขายเมล็ดข้าวปลอมปน เกิดพันธุ์อ่อนแอ มีโรคแมลงระบาดได้ง่ายยิ่งเมื่อเมล็ดพันธุ์อ่อนแอลงขยายในแปลงนา เพราะไม่ใช่เมล็ดพันธุ์จริง จึงไม่ต้านทานโรค ส่วนเป็นข้าวจากประเทศเวียดนาม หรือไม่ ผมไม่ยืนยันขอระบุว่าไม่ทราบแหล่งที่มา” นายประสงค์ กล่าว
การบังคับใช้กฏหมายยังทำไม่ได้ กับผู้จำหน่าย เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ ร้านจำหน่าย พบใส่ในถุงขาว บอกว่าเป็นอาหารนก ไม่ได้เป็นเมล็ดข้าวทำพันธุ์ จึงยังดำเนินคดีไม่ได้ ขอเตือนชาวนา อย่าเชื่อราคาคุย ว่ารับซื้อสูง ดังนั้นขอให้ชาวนา หันมาปลูกข้าวที่ผ่านการรับรองแล้ว เรามีข้าวกข 79 มีอนาคตดีกว่า จะใช้วิธีการอะลุ่มอะลวย บอกแนะแนำ ไม่มีการปรับจำ ในมาตรการของกระทรวงเกษตรฯเราอยู่กับพี่น้องเกษตรกร เอาของที่ดีที่ถูกต้องไปทดแทน
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องห่วงว่า เกิดปัญหานำข้าวหอมพวง ไปปนกับข้าวหอมมะลิ เพราะข้าวหอมพวงเมล็ดสั้นกว่าข้าวทั่วไปด้วย ดูด้วยตาได้ แต่ที่กังวลในเรื่องข้าวหอมพวง ชาวนานำไปปลูกไม่ใช่เมล็ดพันธุ์จริง การทำพันธุ์ไม่ถูกหลักวิชาการ เกิดโรคระบาด เป็นปัญหาวงกว้างอีก ในส่วนข้าวหอมพวง ที่ว่ามีลักษณะเด่น ได้ผลผลิตดก ซึ่งได้ไปนำมาทดลองปลูก ดูความเด่น เพื่อปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ แต่ขณะนี้ยังสู้ไม่ได้กับข้าวพันธุ์ กข 79 เป็นพันธุ์ที่ดีกว่าแน่นอน