“มาร์ค”หัวเราะลั่นข่าวไขก๊อก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ชี้แค่ข่าวโคมลอย “บิ๊กตู่”ปัดฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล ย้อนถามสื่อใครเป็นนายกฯล่ะ “ประวิตร”หงุดหงิดสื่อปัดไม่ได้ไปแอบถก“ปชป.-ภท.”ปมตั้งรัฐบาล “วิษณุ”ชี้“ครม.ประยุทธ์”ยังประชุมต่อ จนกว่ารัฐบาลใหม่มา เผยยังไม่รู้อนาคตการเมือง บอกยังไม่มีใครทาบทามร่วมครม.ในรัฐบาลใหม่ ด้าน“บิ๊กป๊อก”ยังไม่ชัดนั่งตำแหน่งเดิม รอคนเป็นนายกฯชัดก่อน แนะพรรคร่วมฯทำงานก็ต้องรับฟังกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดความวุ่นวาย “ดอน”แจงไม่ขอรับตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ บอกอยากพักเรื่องทำงาน ส่วน“ศรีสุวรรณ”ยื่น กกต.สอบ“ระวี รุ่งเรือง-สมเดช นิลพันธ์”ขาดคุณสมบัติ ส.ว. เหตุเคยถูกให้ออกจากราชการเพราะทุจริตในหน้าที่ คนแรกเรียกรับเงินแลกกับการเป็นอส.สมัยเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง อ.ท่ายาง เพชรบุรี ขณะที่อีกคนทุจริตซื้อที่ดินเทศบาลธรรมศาลา นครปฐม เตรียมร้องป.ป.ช.เอาผิด "บิ๊กตู่” พร้อม คกก.สรรหา รับผิดชอบ ฐานแตั้งตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.62 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม ส.ส. กรณีที่ตลอดสัปดาห์มีกระแสข่าวระบุว่าจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยหัวเราะและระบุเพียงสั้นๆ ว่า "เป็นเพียงข่าวโคมลอย และผมไม่ทราบว่าใครปล่อยข่าว" ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการประชุม ส.ส.ของพรรค ทั้ง 52 คน ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค นัดประชุม ส.ส. ครั้งแรก เพื่อปฐมนิเทศ ส.ส. โดยบรรยากาศก่อนการประชุมมี ส.ส.ทยอยเดินทางมายังพรรค และมีบางคนนัดพูดคุยที่ร้านกาแฟของพรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์, นายพนิต วิกิตเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายเจริญ คันธวงศ์ อดีต ส.ส.ของพรรค ฐานะผู้อาวุโส โดยเนื้อหาการพูดคุยเป็นสถานการณ์การเมืองยุคอดีตของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom กล่าวถึงกรณี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่กรรมการนโยบายพรรค “ผมได้รับการประสานจากท่านจุรินทร์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่กรรมการนโยบายพรรค ผมได้พิจารณาแล้วว่า ผมได้ทำหน้าที่กรรมการและรองประธานกรรมการต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเกินกว่า 5 ปี คิดว่าควรจะเปิดโอกาสให้เพื่อนๆท่านอื่นได้มาทำหน้าที่แทนบ้าง จึงได้ทำหนังสือขอไม่รับตำแหน่งส่งไปแล้วครับ” ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนการประชุม ผู้สื่อข่าวถามถึงการฟอร์มทีมรัฐบาลเสร็จแล้วหรือไม่ โดยนายกฯตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉยทันทีว่า “ใครเป็นนายกฯล่ะ เขากำลังทำกันอยู่” ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลเพื่อร่วมประชุม ครม. นายทหารใกล้ชิดได้แจ้งว่า สื่อมวลชนรอสัมภาษณ์ถึงการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยสีหน้าหงุดหงิด น้ำเสียงดัง และเข้มว่า “ไม่ตอบ” จากนั้นสื่อมวลชน ได้ถามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ ไม่รู้เรื่อง” เมื่อถามว่า มีข่าวว่ามีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ไปคุยกับท่านเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่รู้ ๆ ไม่ได้ไป” ก่อนจะเดินผ่านวงสัมภาษณ์สื่อมวลชนขึ้นตึกบัญชาการ 1 เพื่อร่วมประชุม ครม.ทันที ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุม ครม. ว่า การประชุม ครม.วันนี้ ไม่ใช่การประชุมครั้งสุดท้ายของ ครม.ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจะประชุมครั้งสุดท้ายก็ต่อเมื่อ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฎิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งโดยปกติเมื่อตั้ง ครม.ใหม่แล้ว ครม.เดิมก็ไม่จำเป็นต้องประชุมกันอีก เว้นแต่มีเรื่องจำเป็น ที่จะต้องประชุมเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ เมื่อถามว่า จะต้องมีการยุบสภาฯก่อนวันที่ 24 พ.ค.ที่จะมีการรัฐพิธีเปิดสภาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้องยุบ รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ซึ่งแตกต่างจากอดีต นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อติดโผ ครม.ในรัฐบาลใหม่ ว่า ส่วนตัวไม่ได้รับการเทียบเชิญแต่อย่างใด ส่วนหากได้รับการเทียบเชิญจะตอบรับหรือไม่นั้น ก็ยังไม่ทราบ และยังไม่ขอตอบในตอนนี้ เพราะตนไม่มีการตัดสินใจใดๆ เรื่องนี้ไม่เคยคิดอยู่ในหัว แม้แต่นิดเดียว “โผพวกคุณเองนะสิ ใครจะเป็นคนส่งเทียบเชิญผม วันนี้ก็เปิดหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับดูกันให้ว่อนอยู่” เมื่อถามว่า ถ้าได้รับการเทียบเชิญ พร้อมจะตอบรับหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวติดตลกว่า “ต้องดูก่อนว่าขั้วไหน ขั้วที่สามหรือขั้วใด” ทางด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะทาบทามให้กลับมารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทยเหมือนเดิม ว่า อันดับแรกต้องดูว่าใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอน ตนเข้าใจว่าเรื่องแรก คือ พรรคการเมืองที่จะมาร่วมกันทำงาน เมื่อทราบว่าใครเป็นนายกฯ แล้วต้องให้เกียรติ และจะพูดคุยกันกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดว่าควรจะจัดลงไปทำงานอย่างไร เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในระยะต่อไปคือดูแลประชาชนที่มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการจัดคนลงไปทำงาน เพื่อตอบสนองประชาชนให้ได้เป็นหลัก โดยในความคิดตนไม่ใช่เรื่องของการจะมาแบ่งเป็นโควต้า “อยู่ที่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ มีการพูดคุยกันอย่างไร ให้เกิดความลงตัว ระหว่างพูดคุยจะมีคนที่ตั้งคนในตำแหน่งต่างๆ ตามที่ข่าวลือออกมา ก็จะต้องให้เกียรติคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว เมื่อถามย้ำว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็นนายกฯ และขอให้พล.อ.อนุพงษ์ มาช่วยงาน พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า ขอให้เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อน ที่สำคัญต้องทำให้ประเทศชาติที่มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามต้องดูความเหมาะสมว่าตัวเราเองมีความสามารถแค่ไหนอย่างไร และต้องให้เกียรตินายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลด้วย จะได้ไม่มีปัญหา ว่าจะเลือกใคร อย่างไร มีปัจจัยที่จะต้องพูดคุยด้วย ความเหมาะสมที่อยากได้ แล้วที่พรรคต้องการจะดูแล อยากมาทำงานก็ต้องรับฟังกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดความวุ่นวาย ทั้งนี้การทำงานจะต้องร่วมกับพรรคร่วม เป็นรัฐบาลแบบผสม เพราะไม่มีใครได้รับเสียงเด็ดขาดที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องฟังกันว่านโยบายแต่ละพรรคมีอย่างไร อยากทำเรื่องอะไรอย่างไรบ้าง ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวยืนยันว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศต่อไป เนื่องจากขณะนี้ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการ เรื่องการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมปฏิเสธถึงกระแสข่าวที่มีรายชื่อให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศต่อในรัฐบาลชุดใหม่ เพราะรู้สึกอยากพักเรื่องการทำงาน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นายระวี รุ่งเรือง ส.ว.ลำดับที่ 146 อดีตเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และนายสมเดช นิลพันธ์ ส.ว. ลำดับที่ 197 เนื่องจากพบว่ามีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 111 (4) ประกอบมาตรา108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) มาตรา 98 (8) (10) ของรัฐธรรมนูญและ มาตรา 14 (10) (12) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และข้อ 3 ข้อ 52 (10) (12) ของ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. 2561 นายศรีสุวรณณ กล่าวว่า นายระวีเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ประพฤติมิชอบในวงราชการ กรณีเรียกรับเงินจากสมัครเป็นสมาชิก อส.จำนวน 6-8 ราย เพื่อพยายามจะช่วยให้ได้รับการคัดเลือกเป็น อส. แต่ไม่สามารถดำเนินการได้และถูกผู้ปกครองร้องเรียน จนมีเรื่องฟ้องร้อง และได้ยอมรับสารภาพในชั้นศาลว่ากระทำผิดจริง ขณะที่นายสมเดชเคยต้องคำพิพากษา คดีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ดินเทศบาลตำบลธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม ซึ่งทั้งสองคนถูกไล่ออกจากราชการ และถูกดำเนินคดี มีคำพิพากษาเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจน นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวอีกว่า การที่มี ส.ว.คนหนึ่งอ้างว่า มี พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 นั้น เข้าใจว่าทาง กกต.ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และมีคำวินิจฉัยมาว่า ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครส.ว. ดังนั้นทั้งสองคน จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติชัดเจน ทั้งนี้หาก กกต.วินิจฉัยแล้วพบว่ามีความผิดก็ขอให้ กกต.ดำเนินการลงโทษเอาผิดตามมาตรา 74 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก ไม่ว่าเพราะเหตุใด ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และมาตรา 75 ผู้รับรอง หรือพยาน ที่ลงรายมือชื่อรับรองเอกสารที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี นอกจากนี้ ตนก็จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลปกครอง และยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา และคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เนื่องจากต้องรับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.ตั้งขึ้นจะต้องแสดงความรับผิดชอบจะทำเป็นไม่รู้เรื่องและโบ้ยเรื่องไปให้คนอื่นไม่ได้ รวมทั้งจะตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว.คนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เมื่อถามว่า จะตรวจสอบเรื่องกรรมการสรรหา เสนอชื่อตัวเองเป็น ส.ว.ด้วยหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พร้อมที่จะยื่นเอกสารให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเช่นกัน โดยจะยื่นให้ตรวจสอบพร้อมกับกรณีคุณสมบัติของนายระวีและนายสมเดช รวมทั้งยังขอให้ กกต.ตรวจสอบนายชยุต สืบสกุล ส.ว.ลำดับที่ 36 อดีตเลขานุการผู้ว่า กทม. ที่ถูกดำเนินคดีอาญาซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาที่ถือว่าคดียังไม่สิ้นสุดอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม จึงขอให้ กกต.ติดตามเรื่องดังกล่าวด้วย