วันนี้ ( 21 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง (สปท.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุคส่วนตัวในหัวข้อเรื่อง “การกู้ยืมเงิน” ของพรรคการเมือง กับการถูกยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่า "ตอนที่เสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง ของ สปท. ได้เสนอแนวการให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยไม่ต้องการให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองใช้เงินมากเกินไปในการเลือกตั้ง เพราะการลงทุนหรือการใช้เงินมากๆ ต่อไปก็จะมีถอนทุน อันเป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตคอรัปชั่นตามมา ดังนั้น การใช้เงินของพรรคการเมืองหรือของผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องมีกรอบของการใช้เงิน และมีที่มีของเงิน โดยไม่ให้มีการใช้เงินมากเกินไป รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและ พรป.การเลือกตั้ง ส.ส. จึงได้บัญญัติแนวทางของการได้เงินมาของพรรคการเมือง และวางวงเงินที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครไว้ เพื่อป้องกันการลงทุนในพรรคการเมือง ดังนั้น ที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองจึงได้บัญญัติไว้ ใน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 “รายได้ของพรรคการเมือง” ที่ได้มาจากการ “การกู้ยืมเงิน”จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่นำไปใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะเป็น”รายได้”ของพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมมาใช้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่” จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา ซึ่งรายได้ของพรรคการเมืองดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งหากคิดได้เพียงว่า การได้เงินมาจากการกู้ยืมเงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือถือว่าเป็นชอบด้วยกฎหมายและคิดว่าสามารถทำได้นั้น เป็นการคิดผิด เนื่องจากพรรคการเมืองไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน และไม่อยู่ในแนวทางที่พรรคการเมืองจะหารายได้จากการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ เพราะการได้รายได้ของพรรคการเมือง พรป.พรรคการเมืองได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า พรรคการเมืองจะมีรายได้โดยวิธีการอย่างใด ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 และแม้ว่าการกู้ยืมเงินจะกู้เงินดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หากเป็นการได้เงินมาของพรรคการเมืองแล้ว จะต้องเป็นไปตาม พรป. พรรคการเมือง มาตรา 62 ดังกล่าว ซึ่งต้องเข้าใจคำว่า “เงินบริจาค” ตาม พรป.พรรคการเมือง นั้น ก็คงมีความหมายว่า การสละ การให้ การแจก นักการเมืองเหล่านี้ ไปตีความเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ว่าการกู้ยืมเงินสามารถทำได้ เพื่อให้พรรคมีเงินมาใช้จ่ายจำนวนมาก แล้วตีความเองว่า “การกู้เงิน” ไม่ใช่การบริจาคเงิน จึงเป็นการเข้าใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้าใจว่า “การกู้ยืม”นั้น ก็เป็นการได้เงินมารูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าผู้ได้รับเงินไปที่เรียกว่า”ผู้กู้”นั้น จะต้องคืนเงินในเวลาที่ตกลงกันในภายหลังหรือในอนาคต (ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับคืนหรือเปล่า) การคืนเงินหรือไม่จึงไม่ใช่สาระสำคัญของรายได้ของพรรคการเมือง แต่การรับเงินดังกล่าว ถือเป็นรายได้ของพรรคการเมือง ที่จะต้องอยู่ในเกณฑ์ของ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 ดังนั้น ปัญหาที่เป็นสาระสำคัญจึงอยู่ที่”การได้รับเงิน” หรือ "รายได้"ของพรรคการเมือง ว่า พรรคการเมืองนั้นได้รับเงินนับร้อยล้านบาทที่ไม่เป็นไปตามที่ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 บัญญัติไว้ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าว ได้รับเงินมาเป็นรายได้ ไม่ว่าจะมาในรูปของการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด หรือได้รับจากการจากกู้ยืมเงินซึ่งก็ถือว่าเป็นรายได้ เมื่อพรรคการเมืองนั้น โดยรู้หรือควรรูว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่เป็นไป ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 และมิได้เป็นไปตาม หมวด 5 ในเรื่องของรายได้ของพรรคการเมือง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 72 และมาตรา 74 คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตาม พรป. มาตรา 92(3) ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นได้ ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 90