สำคัญมากสำหรับเด็กวัยเรียน ขณะผลสำรวจเด็กไทยกินมื้อเช้าไม่ถึง 70% ยิ่งโตยิ่งลด รวมทั้งวัยอื่นๆ ก็จำเป็น นอกจากเสี่ยงโรคอ้วนแล้ว ยังเป็นต้นตอก่อโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจได้อีก พร้อมเปิด 7 เมนูถูกหลักโภชนาการทำง่าย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเปิดเทอมหลายๆ ครอบครัวพ่อแม่อาจจะรีบออกจากบ้าน จนไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าสำหรับลูก ซึ่งผลการสำรวจพฤติกรรมของเด็กวัยเรียนของกรมอนามัย ปี 60 พบว่า เด็กอายุ 10 ปี กินอาหารเช้าทุกวัน ร้อยละ 66.9 ส่วนเด็กอายุ 12 ปี เพียงร้อยละ 54.7 โดยกินอาหารครบทั้ง 3 มื้อ ในเด็กอายุ 10 ปี และ 12 ปี ร้อยละ 47.4 และ 33.2 ตามลำดับ ซึ่งการกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการคือ ควรกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะช่วงระยะเวลาระหว่างอาหารเย็นถึงเช้า แม้จะเป็นช่วงที่นอนหลับ แต่ร่างกายก็ยังเผาผลาญสารอาหารตามปกติ ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง หากเด็ก ไม่กินอาหารเช้าเพิ่มเข้าไป ร่างกายจะไปดึงสารอาหารสะสมสำรองในยามจำเป็นมาใช้แทน ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่มีสมาธิเรียน อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้ เนื่องจากสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และการงดกินอาหารมื้อเช้าอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ “โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนมีความต้องการพลังงานและสารอาหารมากกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องสร้างนิสัยการกินอาหารเช้าของเด็ก โดยกินร่วมกับเด็ก ไม่ควรเร่งรีบ หรือกดดันลูกเวลากินข้าวเช้าหรืออาจเตรียมเป็นเมนูที่กินระหว่างเดินทางได้ และควรให้กินอาหารเช้าเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำทุกเช้า อาหารเช้าที่เหมาะสมควรให้พลังงานประมาณ 400-450 กิโลแคลอรี ครบ 5 หมู่ หลากหลาย ถูกหลักโภชนาการ และเตรียมได้ง่ายหรืออาจปรุงอาหารพร้อมมื้อค่ำ โดยเก็บในตู้เย็นพร้อมอุ่นกินในมื้อเช้า สำหรับกลุ่มวัยอื่น ๆ การกินอาหารเช้าจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้เพราะหลังจากกินมื้อเย็นจนถึงเช้าวันใหม่ ร่างกายอดอาหารมานานเกือบ 12 ชั่วโมง หากไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ระบบเผาผลาญเริ่มต้นช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ร่างกายรู้สึกหิวตลอดวันทำให้บริโภคในมื้อถัดไปมากเกินความต้องการจนส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนนำไปสู่การเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจได้” ด้าน ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กล่าวว่า กรมอนามัยแนะนำเมนูอาหารเช้าที่เหมาะสม ทำง่าย ถูกหลักโภชนาการ 7 ชุดเมนู ได้แก่ ชุดที่ 1 ข้าวสวย ฟักทองผัดไข่ แตงโม ในฟักทองมีแคโรทีนสูงและการผัดยังมีน้ำมันที่ช่วยในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเปลี่ยนเป็นวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตาได้ดี ในไข่แดงอุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทีนที่ช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา ชุดที่ 2 ข้าวสวย ต้มเลือดหมู ใส่หมูสับ ตับหมู ใบตำลึง และส้มเมนูนี้อุดมด้วยธาตุเหล็กจากเลือดและตับหมู ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เมื่อกินคู่กับผลไม้สดที่มีวิตามินซีจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น ชุดที่ 3 ข้าวไรซ์เบอรี่ ตับไก่ผัดหน่อไม้ฝรั่ง มะละกอสุก จุดเด่นของเมนูนี้คือมีโฟเลทสูง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียน ชุดที่ 4 แซนวิชโฮลวีท อกไก่ ไข่ดาว สลัดผัก กล้วย เป็นเมนูทำง่ายและสะดวกในการกินระหว่างเดินทาง ซึ่งอุดมด้วยวิตามินบี ซึ่งหากเด็กวัยเรียนได้รับอาหารกลุ่มนี้อย่างเพียงพอและกินอาหารครบ 5 หมู่ จะส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตดี ชุดที่ 5 ข้าวสวย ผัดคะน้าใส่หมู นม เพราะแคลเซียมจากนมและผักใบเขียว เช่น คะน้า บร็อคโคลี ตำลึง จะช่วยในการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ชุดที่ 6 ข้าวผัดทะเล น้ำซุปหัวไชเท้า แอปเปิ้ล อาหารทะเลและเครื่องปรุงรสที่เป็นแหล่งของไอโอดีนในเมนูนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อระดับสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยเรียน ชุดที่ 7 ข้าวต้มปลาทู สับปะรด นม อุดมด้วยกรดไขมันที่จำเป็นสำหรับร่างกาย นอกจากปลาทูที่หาได้ง่ายแล้ว อาจใช้ปลาทะเลอื่น ๆ เช่น ปลาเก๋า ปลาสำลี หรือปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลานิล ที่มีโอเมก้า 3 สูงมีประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประสาทและสมอง ลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญควรเตรียมนมรสจืด 1 กล่อง และผลไม้ประมาณ 1 ผล เช่น กล้วยน้ำว้า ส้ม แอปเปิ้ล ชมพู่ เพื่อให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน