สร้างความตื่นตระหนกให้แก่บรรดาสาวก คือ เหล่าผู้ใช้ สมาร์ทโฟน ตลอดจนอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของยี่ห้อ “หัวเว่ย” กันไปทั่วโลก สำหรับ การออกมาประกาศ “ระงับความร่วมมือทางธุรกิจ” กับ “หัวเว่ย” ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมสัญชาติจีน โดย “กูเกิล” ซึ่งก็เป็นยักษ์ใหญ่เช่นกันในด้านเสิร์ชเอนจิน สัญชาติสหรัฐอเมริกา ที่ทั่วโลกรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี ก็สร้างความหวั่นวิตกแก่เหล่าสาวกหัวเว่ยกันว่า นับแต่นี้ต่อไป จะใช้บริการหลักๆ ของ “อาจารย์กู” คือ นิกเนมของ “กูเกิล” ซึ่งมีหลากหลาย ได้แก่ กูเกิลโครม (Google Chrome) กูเกิลเพลย์สโตร์ (Google Play Store) และจีเมล์ (Gmail) เป็นอาทิ ซึ่งคุ้นนิ้ว ทัชสกรีน กันมาเป็นอย่างดีได้อีกต่อไปหรือไม่? เพราะถ้อยประกาศของการระงับความร่วมมือข้างต้น ก็คือ การหยุดทำธุรกิจด้วย นั่นเอง โดยตามรายงานข่าวที่เปิดเผยตามสำนักสื่อทั้งหลาย ก็ระบุว่า เพราะถูก “ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” บีบ หรือกดดัน ต่อทาง “กูเกิล” มานั่นเอง ผ่านการ “ประกาศฉุกเฉิน” ของ “กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ” เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การประกาศฉุกเฉินของ “กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ” ที่ว่านั้น ก็เป็นการขึ้น “บัญชีดำการซื้อขาย” หรือ “เอนติตีลิสต์ (Entity List)” แก่ “หัวเว่ย” และบริษัทในเครือข่าย หรือบริษัทลูก อีก 68 แห่งของหัวเว่ย ให้อยู่ในบัญชีดำการซื้อขายนั้นด้วย ก็ส่งผลให้ทางกูเกิล จำต้องมีประกาศระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย แม้ว่าในใจส่วนลึกของกูเกิลแล้ว ยังคงต้องการทำธุรกิจกับยักษ์ใหญ่รายนี้มากเพียงใดก็ตาม รายงานข่าวยังได้ระบุว่า นอกจาก “กูเกิล” แล้ว ก็ยังมีบริษัทห้างร้านอื่นๆ ระดับ “พี่เบิ้ม” สัญชาติลุงแซม นิกเนมของสหรัฐฯ พากัน “ตบเท้า” เข้าร่วมขบวน “ระงับความร่วมมือการทำธุรกิจ” กับ “หัวเว่ย” และบริษัทลูกในเครือข่ายอีกต่างหากด้วยเช่นกัน ได้แก่ “อินเทล (Intel)” บริษัทผู้ผลิติชิพสารกึ่งตัวนำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ “ควอลคอมม์ (Qualcomm)” ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตชิพสารกึ่งตัวนำอีกเช่นกัน รวมถึง “บรอดคอม (Broadcom)” บริษัทผู้ผลิตชิพที่ในอุปกรณ์สื่อสาร ออกมาประกาศว่า จะระงับการส่ง “ชิพสารกึ่งตัวนำ” ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของพวกตน ป้อนให้แก่ “หัวเว่ย” ซึ่งก็เป็นผลพวงจากการกดดันจากทางการสหรัฐฯ ถึงได้เกิดปรากฏการณ์สะท้านโลกเช่นนี้ ชิพสารกึ่งตัวนำของอินเทลและควอลคอมม์ ที่ใช้ในสมาร์ทโฟน บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ปรากฏการณ์ที่บังเกิด ก็ไม่ผิดอะไรกับการ “ยกระดับสงครามการค้าขึ้นมาอีกขั้น” จากการที่สหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังโรมรันพันตูกันอย่างฝุ่นตลบกับจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อยู่ ณ ชั่วโมงนี้ ภายหลังจากสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยก่อไฟสงคราม จนให้ลุกลามสู่ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงอันล้ำสมัย อย่างสื่อสารโทรคมนาคม ที่มีขึ้นกันก่อนหน้า โดยได้ระเบิดศึกจากกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่ “แซตทีอี (ZTE)” ถูกเล่นงานกันไปก่อน ตามมาด้วย “หัวเว่ย” ที่ถึงขั้นทางการวอชิงตัน “ชี้นิ้ว” ให้แคนาดา รวบตัว “เมิ่ง หว่านโจว” ซีเอฟโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของหัวเว่ย และเป็นบุตรสาวหัวแก้ว หัวแหวน ของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย มาคุมขังไว้ เพื่อที่จะส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ต่อไป ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน นางเมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอของหัวเว่ย ขณะเดินทางไปศาลที่แคนาดา อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ปฏิบัติการยกระดับโหมไฟสงครามการค้าโดยสหรัฐฯ หนนี้ อย่างมากน่าจะมีผลเพียงระยะสั้นต่อหัวเว่ยเท่านั้น โดยอาจทำให้ผู้ใช้ตื่นตระหนกตกใจในเบื้องต้นกันไปบ้าง แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว คำสั่งจาก “แบน” ของกูเกิลดูจะไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไรนัก เพราะซอฟต์แวร์ที่กูเกิลใช้ ก็เป็นแบบ “โอเพน ซอร์ซ (Open Source)” ที่บุคคลภายนอกสามารถใช้งานได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งแม้ว่าเบื้องต้นอาจกระทบต่อการพัฒนาระบบแอนดรอยด์ผ่านกูเกิล ทว่า ในระยะยาว เชื่อมั่นว่า ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมรายนี้ อาจพัฒนาระบบการพัฒนาแอนดรอยต์ของตนเองในอนาคต ที่ดีไม่ดีอาจจะเจ๋ง และแจ๋วกว่า กูเกิลก็เป็นได้ จนใครๆ ถวิลหา เหมือนอย่าง “5จี” ซึ่งหลายๆ ชาติก็อยากจะพึ่งพาให้ยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรแห่งนี้ มาช่วยวางระบบ ระบบ “5 จี” ที่ “หัวเว่ย” เป็นผู้นำเครือข่าย