ช่วงที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปสัมผัสเรื่องราววิถีถิ่นกับ เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินชมรม เคทีซี พีอาร์ เพรส คลับ จัดกิจกรรมรู้จักบางรัก... หลงรักเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนสายแรกๆ ของประเทศไทย โดยมีชุมชนต่างๆ ทั้งฝรั่ง แขก และจีนต่างอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ผ่านการเรียนรู้จากศาสนสถาน และ สถานที่สำคัญต่างๆ ที่ยังคงความสวยงามมาจนถึงปัจจุบันนี้ สัมผัสความเชื่อความศรัทธา เริ่มต้นเดินทางช่วงเช้าตรู่ของวันจากเคทีซี ป๊อป มุ่งหน้าสู่เขตบางรัก สัมผัสความเชื่อความศรัทธาของชาวจีน ที่ ศาลเจ้าเจียวเองเบียว มีอายุเก่าแก่กว่า 150 ปี พร้อมฟังเรื่องราวของศาลเจ้าไหหลำแห่งนี้ โดย นาย ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ที่มาเป็นวิทยากรตลอดทั้งทริป สำหรับ ศาลเจ้าเจียวเองเบียว ดังกล่าว ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมนักเดินทางชาวจีน 108 คน ผู้ล่องเรือสำเภาจะมาค้าขายที่บางรัก แต่โดนฆาตกรรมที่เวียดนามก่อนเพราะเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาเป็นโจรสลัด โดยภายในศาลจะมีป้ายเทพเจ้า 108 พี่น้องเป็นสัญลักษณ์แทนนักเดินทางชาวจีน 108 คน และเจ้าแม่ทับทิม ไฉ่ซิงเอี้ยะ บู๊นท๋ากง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจีน พ่อค้าแม่ขายในละแวกนี้ รวมถึงเหล่านักเดินทางที่มาขอพรให้เดินทางโดยปลอดภัย ศาลเจ้าเจียวเองเบียว 	จากนั้นเดินทางต่อไปยัง วัดสวนพลู ที่อยู่ไม่ห่างกันนัก ที่นี่จะเป็นวัดชุมชน ซึ่งยังคงความเป็นเอกลักษณ์และสีสันไม่ซ้ำใคร เดินชมอุโบสถงานปูนปั้นประดับกระจกสวยงามแปลกตา รวมทั้งกุฎิของพระสงฆ์ที่มีความโดดเด่นด้วยลวดลายไม้ฉลุ ซึ่งเรียกกันว่า หมู่กุฎิขนมปังขิง ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปี 2545  วัดสวนพลู รู้เรื่องราวผ่านชุมชนเก่าแก่ ช่วงเที่ยงของวัน แวะเติมพลังมื้อกลางวันกันที่ ร้านบ้านการะเกด ย่านบางรัก ซึ่งเป็นร้านอาหารในตำนาน มีเมนูเด็ดๆ อย่าง น้ำพริกกุ้งสด ต้มยำรวมมิตรรสชาติจัดจ้านถึงเครื่องจัดเต็มทุกเมนูที่อร่อยจนต้องร้องขอชีวิต ก่อนจะเดินข้ามถนนยัง ไป พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้นานาพันธุ์ซึ่งแอบซ่อนเร้นไว้ในซอยเล็กๆ ที่นี่ถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์กว้างไกลของอาจารย์วราพร สุรวดี เจ้าของผืนดิน ผู้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดให้กรุงเทพมหานคร และอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จวบกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ด้วยวัย 82 ปี พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โดย อาจารย์วราพร สุรวดี ได้มอบบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับมรดกจากนางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) ผู้เป็นคุณแม่ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ใช้ศึกษาเรื่องราวชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2หรือช่วงปี 2480-ปี 2500) โดยของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่เคยใช้งานจริงของอาจารย์และครอบครัว ศุลกสถาน นั่งรถเพลินๆ มุ่งสู่ ศุลกสถาน เรียนรู้ประวัติด่านศุลกากรที่ถือเป็นประตูสุดแดนพระนครใต้ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้สร้างขึ้น ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก เพื่อเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าวาณิชที่เดินทางเข้าออกประเทศ เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดไปเป็นการค้าเสรี โดยเมื่อเรือสินค้าเข้ามาจากปากแม่น้ำ จะต้องผ่านจุดตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกกันว่า ภาษีร้อยชักสาม ซึ่งเวลานี้ยังมีร่องรอยให้ผู้ที่สนใจเดินทางมาเที่ยวชมกันได้ มัสยิดฮารูณ ขณะที่ไม่ไกลกันนักสามารถเดินเท้าสบายๆ ไปยัง สุสานมัสยิดฮารูณ สัมผัสสัจธรรมอันจริงแท้ที่ไม่อาจปฏิเสธ จากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในสุสาน อาทิ ท่านต่วน สุวรรณศาสตร์ อดีตจุฬาราชมนตรี และเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมที่ร่วมรบในสงครามป้องกันสยามประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีโอกาสชมมัสยิดฮารูณ ศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมย่านบางรัก ฟังเรื่องราวศาสนสถานกลางของชุมชนที่ยั่งยืนมากว่าร้อยปี เพื่อความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่บางคนอาจจะยังไม่รู้ ซึ่งการสัมผัสเรื่องราววิถีถิ่นเจริญกรุง-บางรัก ด้วยการสำรวจถิ่นแขก สาแหรกจีน ที่ผสานความเชื่อความศรัทธาของชาวจีน พุทธ มุสลิม ถือเป็นการรับรู้ถึงความรักความผูกพัน และความเป็นมาของย่านบางรักและถนนเจริญกรุงที่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวเป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในเส้นทางดังกล่าวข้างต้น หรือ เส้นทางท่องเที่ยวอื่นๆ ติดต่อได้ที่โทร. 0-2622-1810-18 ต่อ 353,354 และ www.facebook.com/siamrath.travel โต๊ะท่องเที่ยว เรื่อง/ภาพ [email protected]