"11พรรคเล็ก" ไม่แคร์เก้าอี้รัฐมนตรี "พิเชษฐ" ยัน 11 พรรคร่วมฯ โหวตหนุน "บิ๊กตู่" หวังให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ลั่นไม่ยอมให้เกิดขั้วที่ 3 "อนุทิน"ยังกั๊กร่วมรัฐบาลฝ่ายไหน แย้มให้ส.ส.ฟรีโหวตร่วมรัฐบาลพปชร. "กัญจนา"แย้มหลังเปิดประชุมสภาฯ ถกส.ส.ประกาศขั้วรัฐบาล 24พ.ค.นี้ "จุรินทร์" ชี้ยังมีเวลาร่วมไม่ร่วมตั้งรัฐบาล ปัดข่าว"มาร์ค"ไขก๊อกปชป. ขณะที่"ไอติม"พร้อมเดินตามรอย"มาร์ค"ไขก๊อกปชป. "พิเชษฐ"โพสต์ขอ "อภิสิทธิ์"โปรดอย่าลาออก ระบุ"ชีวิตอภิสิทธิ์เกิดมาเพื่อเป็นส.ส." ด้าน"พีระพันธุ์"โพสต์แฉผู้ใหญ่บางคนเคารพนับถือมาเกือบ 30 ปี เป็นเพียงภาพลวงตา ชี้ใครไม่ยอมอยู่ในอาณัติ-อยู่ฝ่ายตรงข้ามต้องกลายเป็นคนที่ต้องถูกพิฆาตขณะที่ศาล รธน.จ่อพิจารณาคำร้องกกต.ปม "ธนาธร" ขาดคุณสมบัติส.ส. 23 พ.ค.นี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.62 นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย และแกนนำกลุ่ม 11 แถลงถึงท่าทีและสถานการณ์ทางการเมืองหลังประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เหตุผลที่ตัดสินใจเพราะมองว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าวันนี้ทุกคนมองว่าพรรคเล็กโดยเฉพาะ 11 พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญ เพราะสนับสนุนใครก็มีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาล และมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีสูง การตัดสินใจของ 11 พรรคเล็กครั้งนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่า โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ นั้นค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ต้องเป็น แต่ถ้าการตัดสินใจครั้งนี้ สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ "วันนี้ประชาชนมองออกตั้งแต่ต้นแล้วว่าการเมืองประเทศมีเพียงแค่ 2 ขั้ว คือ ขั้วรัฐบาลกับขั้วฝ่ายค้านเท่านั้น การที่บอกว่ามีขั้วที่ 3 นั้น เชื่อว่าเป็นขั้วที่ล้มรัฐบาล ซึ่งผมไม่ยอมให้มีขั้นที่ 3 เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคนที่ต่อว่าพวกผมก็คือคนที่ต้องการให้พวกผมไปสนับสนุน ทั้งๆ ที่ตอนเลือกตั้งพวกเขาเองก็ไม่เคยเลือกพวกผม เป็นเรื่องแปลกที่แต่ละพรรคพยายามชักชวน 11 พพรรคเล็กให้ไปอยู่ด้วย และที่ผ่านมาพยายามยื่นร้องต่างๆ เพื่อไม่ให้พวกผมได้เป็นผู้แทนฯ อ้างว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ ทั้งที่กติกามันก็มีอยู่แล้ว กลายเป็นว่าพวกผมเป็นคนเลว แต่ถ้าลองว่าพวกผมไปอยู่ขั้วตรงข้ามก็จะกลายเป็นคนดีทันที แบบนี้มันไม่ถูกต้อง"หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า 11 พรรคเล็กควรจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ไม่เอามาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรอง แต่ต้องการให้นำนโยบายของแต่ละพรรคไปขับเคลื่อน ส่วนรัฐบาลควรให้โควต้ารัฐมนตรีกับพรรคไหนใน 11 พรรคเล็กนั้น ก็แล้วแต่จะพิจารณา นายพิเชษฐ ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ว่า ถ้าหากกระทบกับ 11 พรรคเล็ก ก็คงต้องมีการตักเตือนกัน และสุดท้ายก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เคยพูดเอาไว้ด้วยตัวเอง วันนี้เขายังอายุน้อย ก็คงต้องให้เขาได้เรียนรู้ ส่วน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า ในเวลา 18.00 น. วันที่ 24 พ.ค.นี้ หลังเสร็จรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา พรรคจะมีการประชุม เพื่อสรุปความชัดเจนในการทำงานการเมือง เนื่องจากในวันที่ 25 พ.ค.จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้งนี้ น.ส.กัญจนา ยังไม่ขอแสดงความเห็นต่อกระแสข่าวร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และได้โคว ต้าในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 1 ตำแหน่ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 1 ตำแหน่ง โดยย้ำว่า เป็นพรรคขนาดเล็ก ก็ต้องรอดูท่าทีและความชัดเจนของพรรคขนาดใหญ่และขนาดกลางก่อน เมื่อถามถึง การได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) น.ส.กัญจนา กล่าวว่า พรรคไม่มีความชำนาญ หรือถนัดงานที่กระทรวงนี้ ที่โรงแรมโมเดน่า บาย เฟร์เซอร์ จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เป็นประ ธานเปิดการปฐมนิเทศส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกในวันที่ 24 พ.ค. และจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)เพื่อเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการในวันที่ 25 พ.ค. ทั้งนี้ นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้อย่าลืมว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคลำดับที่ 5 ถามว่าพรรคลำดับที่ 1 จัดรัฐ บาลหรือยัง จัดได้หรือไม่ ถ้าจัดไม่ได้ พรรคลำดับ2 จัดหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ตนดูจากข่าว ก็มีการบอกว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นขั้วที่ 3 กับพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แต่ตนยืนยันว่ายังไม่ได้คุยอะไรกันกับพรรคประชาธิปัตย์ "ตอนนี้ต้องนิ่ง เพราะการนิ่งคือสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งต้องดูว่าความคิดเห็นของชาวบ้านเป็นอย่างไร เพราะผมจะต้องรับฟังจากส.ส.ทุกคนหรือผมอาจจะให้ส.ส.ทุกคนโหวตลับก็ได้ ว่าอยากไปในทิศทางไหน เพราะนี่เป็นประชาธิปไตย เราต้องรับฟังทุกมิติ ไม่ต้องสนใจแรงกดดันใดๆ เพราะพรรคจะไม่มีการชี้นำและโน้มน้าว วันนี้ขอให้ทุกคนปล่อยอารมณ์มาเต็มที่ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งผลการโหวตผมจะอ่านคนเดียวแล้วก็จะไปนั่งบริกรรมของผม" เมื่อถามว่า สื่อบางสำนักได้จัดทำโผคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้นายอนุทินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน(ยิ้ม) และกล่าวว่า ก็ดีเหมือนกัน เพราะตนเคยอยู่มา2 สมัยแล้ว แต่ตอนนี้เรายังไม่ไปไกลถึงตรงนั้น สำหรับกระทรวงสาธารณสุขคนอาจมองว่าคุณพ่อของตนเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการฯ มาก่อน อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ไม่มีปัญหาหากได้เป็นจริงก็ถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากนโยบายกัญชาจะได้ถูกผลักดันเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าจะได้เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เพราะเรายังไม่ได้คุยอะไรกับใครเลย อย่างไรก็ตาม วันนี้คงจะได้รับฉันทานุมัติ ซึ่งตนก็ต้องนำไปคิดให้มาก เพราะเป็นเรื่องของบ้านเมือง จะมาทำอะไรตามอารมณ์และความรู้สึกไม่ได้ ต้องปล่อยวางต้องเป็นกลาง เมื่อถามว่า นอกจากรอฟังความเห็นของประชาชนแล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่นอีกหรือไม่ที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มี เพราะเงื่อนไขเรามี 4 ข้อ ที่ประกาศตลอดเวลา คือ1.เรื่องความจงรักภักดี 2.เรื่องความตั้งใจทำงาน ซึ่งต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีความขัดแย้ง ต้องรักประชาชน และต้องรับทุกนโยบายของพรรคภูมิใจไทยไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม ดังนั้นหากจะไปคุยกับใครหรือฝ่ายไหนเราก็ต้องฟังเงื่อนไขของเขา และดูว่าเรารับได้หรือไม่ ใครจะมาบอกให้เราเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องฟังว่าเพราะอะไรและคนอื่นคิดว่าอย่างไรหรือถ้าเป็นฝ่ายค้านจะทำอย่างไร เงื่อนไขของเรา ท่านรับได้หรือไม่โดยเฉพาะเรื่องกัญชาหากไม่มีใครเอาด้วยเราก็จะเป็นฝ่ายค้าน ณ วินาทีนั้น ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกรณี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เคยระบุว่า มีคำตอบในใจแล้วว่า จะร่วม หรือไม่ร่วม จัดตั้งรัฐบาล กับพรรคพลังประชารัฐ ว่า ยังไม่ได้หารือกับนายเฉลิมชัย หรือพูดว่าจะไปเป็นอะไรทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน และยังมีเวลา ซึ่งขอเวลาให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทัพภายในพรรคให้จบก่อน ส่วนปัจจัยที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้น ต้องรอที่ประชุมพูดคุยกันว่าจะมีปัจจัยใดบ้าง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ ว่าต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อะไรที่เคยพูดกับประชาชนไว้ก็จะต้องนำมาพิจารณา เมื่อถามว่า มีกระแสข่าว นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค หรือนายบัญญัติล้วนมีประสบการณ์ ทำหน้าที่หลายหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งหมดยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือหารืออะไรทั้งสิ้น เมื่อถามถึงกระแสข่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค อาจจะลาออกจากการเป็นส.ส. หากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเองยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ พรรคจะมีการกำหนดหรือไม่ว่าจะให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือเปิดให้ส.ส.โหวตอิสระหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาพรรคจะมีมติ และทุกคนต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติของพรรค ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่หัวหน้าพรรค ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่ากรณีการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริง โดยส่วนตัวรู้สึกเสียดายความรู้ ความสามารถของนายอภิสิทธิ์ที่เคยร่วมทำงาน และบริหารพรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นจริง อยากให้นายอภิสิทธิ์ทบทวนให้ดี เพราะตนยังสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคจะตัดสินใจจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อร่วมเป็นรัฐบาล ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรค แต่ตามความเห็นส่วนตัวไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจจับมือร่วมกับพรรคใดหนีไม่พ้นทางตัน เพราะเสียงของแต่ละพรรคการเมืองที่ชิงจัดตั้งรัฐบาลเสียงไม่ทิ้งห่างกัน "ผมในฐานะที่เคยเป็นผู้ประสานงานของรัฐบาล หรือวิป เห็นชัดว่าหากฝ่ายบริหารและฝ่ายค้านเสียงห่างกันกัน 30 เสียง จะทำงานลำบากมาก โดยขณะนี้เสียงของทั้ง2ฝั่ง ทิ้งห่างกันไม่เกิน 10 เสียง เชื่อว่าทางของการทำงานยังอยู่ในภาวะลำบาก" นอกจากนี้ นายพิเชษฐ ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า " ชีวิตอภิสิทธิ์เกิดมาเพื่อเป็น ส.ส. และเพื่อประชาชน "โปรดอย่าลาออก" ก่อนหน้านั้นนายพิเชษฐ ยังได้โพสต์ข้อความระบุในทำนองเดียวกันว่า "ประชาธิปัตย์ รักจุรินทร์ แต่ไม่ต้องการเสียอภิสิทธิ์" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระแสข่าวที่นายอภิสิทธิ์จะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งส.ส. นั้น แหล่งข่าวจากคนใกล้ชิดของนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หรือออกจากพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน เพราะสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน นายอภิสิทธิ์ถือเป็นบุคคลที่มีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ยอมรับการคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ล่าสุด นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai live ผ่านทางเพจ Suthichai Yoon โดยระบุในตอนหนึ่งว่า ถ้าทิศทางที่พรรคประชาธิปัตย์เดินไป เป็นทิศทางที่ตนไม่เห็นด้วย และมีความรู้สึกเป็นความแตกต่างในความคิดที่ลึกซึ้งถึงขั้นอุดมการณ์ ก็พร้อมพิจารณาตัวเองว่าจะยังอยู่ในสถานะไหนของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคอะไร ควรจะเป็นศูนย์ที่รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "พลังเล็กๆจากหัวใจที่ยิ่งใหญ่"ตอนหนึ่ง ว่า " ผมขอขอบคุณที่เป็นกำลังใจและแสดงออกถึงการสนับสนุนผมให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกหัวหน้าพรรค มีผู้ใหญ่หลายท่านกรุณาโพสต์ข้อความสนับสนุนผม เช่น ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาที่รู้จักผมมากว่า 30 ปี คุณชัย ราชวัตร ที่ผมไม่เคยรู้จักพูดคุยเป็นการส่วนตัวมาก่อน เพียงแค่ชื่นชมในผลงานและจุดยืนของท่านผ่านสื่อเท่านั้น หลังสุดคือ "ท่านใหม่" ม.จ.จุลเจิม ยุคล ที่ผมไม่เคยรู้จักกับท่านมาก่อน แต่คงเป็นเพราะท่านเห็นด้วยกับแนวทางที่ผมเสนอว่าประโยชน์ของชาติต้องมาก่อนหกวันของการหาคะแนนเสียงนั้น ผมได้เห็นได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรเพิ่มขึ้นมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผมได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของคนหลายๆคนผมเพิ่งจะประจักษ์ ด้วยตัวผมเองว่าผู้ใหญ่บางคนที่ผมเคยเคารพนับถือมาเกือบ 30 ปี ที่ผมเคยเชื่อว่าดี แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงภาพลวงตา ใครไม่ยอมอยู่ในอาณัติหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกันเมื่อใดก็กลายเป็นคนที่ต้องถูกพิฆาต" รายงานข่าวเปิดเผยว่า ยิ่งใกล้วันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส.และส.ว.ลงมติ โหวตนายกฯ ทำให้กระแสการเคลื่อนไหวในโลกสื่อโซเชียลอย่างคึกคัก เกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมของ ส.ว. 250 คน โดยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหา ส.ว.ที่ปกปิดรายชื่อกรรมการสรรหา รวมไปถึงประเด็นการตั้งพรรคพวกคนใกล้ชิด พี่น้องของคสช.และกรรมการสรรหาและญาตินักการเมืองพรรคพลังประชารัฐ แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงยังไม่นำคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งคำร้องเป็นของคณะราษฎรไทยแห่งชาติ ที่ได้ส่งถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 มี.ค.เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปัญหาความเป็นกลาง ของกรรการสรรหา ส.ว.ว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) แต่เรื่องถูกเก็บไว้ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินนาน 2 เดือน เพิ่งส่งต่อให้ศาลรธน.เมื่อต้นเดือนพ.ค. จนถึงวันนี้ก็ไม่มีคำชี้แจงจากศาลรัฐธรรมนูญจะพิ จารณาคำร้องนี้เมื่อใด ทั้งๆ ที่ ส.ว.กำลังจะเข้าประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ การสรรหาส.ว.เป็นโมฆะอาจจะเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองกระทบต่อการโหวตเลือกนายกฯ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของ กกต. ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นสื่ออันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 )ประกอบมาตรา 98 (3) ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก หลังจากนั้นราวต้นเดือนมิ.ย. ผู้ถูกร้องจะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง โดยภายในเดือนมิ.ย. ศาลพิจารณาคดีครั้งแรก กำหนดประเด็น ลำดับขั้นตอนการพิจารณา นัดไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัย สำหรับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน โดยคณะผู้พิจารณาคดี ต้องมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า 7 คนขึ้นไป ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีเงินที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ให้พรรคอนค.กู้ยืมว่า ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าตัวเลขที่ออกมามันไม่ตรงกันนั้น ทั้ง 250 ล้านบาท 90 ล้านบาท และ110 ล้านบาท ตนขออธิบายว่าจำนวนเงินที่เป็นวงเงินสูงสุดที่นายธนาธรกำหนดให้พพรคกู้นั้น อยู่ที่เพดาน 250 ล้านบาท แต่การดำเนินกิจกรรมจนถึงวันเลือกตั้งพรรคกู้ไป 90 ล้านบาท และจนถึงวันนี้ ก็มีการกู้เพิ่มไปอีกนิดหน่อย เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ตัวเลขจึงอยู่ที่ 110 ล้านบาท นี่คือสาเหตุที่ตัวเลขไม่ตรงกัน แต่เป็นความคืบหน้าของการกู้เงิน ซึ่งนายธนาธรคิดดอกเบี้ยแบบเงินกู้ระยะยาว เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร และนายธนาธร ก็ไม่คิดแสวงหาผลกำไรจากการให้กู้ครั้งนี้ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ทั้งนี้จากสถานการณ์ ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่ากฎหมายลูกต่างๆจะออกมาเมื่อไหร่ เราจึงไม่รู้ว่าการระดมทุนนั้นอะไรจะทำได้ หรือไม่ได้ ยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้การระดมทุนของเราไม่เป็นไปตามแผนหลายอย่าง เพราะติดเรื่องกฎหมาย ทำให้หารายได้ไม่ทันกับร่ายจ่ายที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง รายจ่าย และเจ้าหนี้ของเรามีหลายรายเช่น การไปเช่าสำนักงานใน 77 จังหวัด การซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นของพรรค เราเลยคิดว่าแทนที่จะมีเจ้านี้มากมายหลายเจ้า จึงขมวดเจ้าหนี้มาเป็นรายเดียว คือนายธนาธร และนำเงินไปจ่ายเจ้าหนี้รายอื่นๆ เพื่อบริหารจัดการได้ง่าย อย่างไรก็ตามการกู้เงินครั้งนี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว และพรรคจะเป็นผู้จ่ายเงินทั้งหมดคืนนายธนาธร โดยขณะนี้เรากำลังวางแผนการเงินอยู่ว่าจะคืนเงินทั้งหมดให้เร็วที่สุดได้เมื่อใด ซึ่งเบื้องต้นมีข้อเสนอว่าอาจมีการเพิ่มอัตรค่าสมาชิกของพรรค จากคนละ 100 บาท เป็น 200 บาท เพื่อให้พรรคเราเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยาเลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะไปยื่นเรื่องนี้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)นั้น เราไม่มีปัญหา เพราะพร้อมจะชี้แจงได้ทั้งหมด "ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ขัดกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ยืนยันว่าพ.ร.ป.ดังกล่าวระบุเฉพาะที่มารายได้ของพรรคการเมือง ไม่ได้ระบุรายจ่าย และนี่คือการกู้เงิน ซึ่งในการเป็นหนี้ของพรรค เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ ส่วนที่บอกกันว่าคุณธนาธรเป็นหัวหน้าพรรค จะเข้าข่ายครอบงำพรรคหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะเป็นการให้กู้เงิน ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย ส่วนที่พรรคการเมืองบางพรรคไปบิดเบือนว่า เรื่องนี้ผิดกฎหมาย คุณธนาธรบริจาคเงินให้พรรคเกินกำหนด นี่ไม่ใช่เงินบริจาค แต่เป็นเงินกู้ ซึ่งคุณธนาธรก็บริจาคให้พรรค10ล้านตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องนี้เลย นี่เป็นเงินคนละก้อนกัน คุณธนาธรให้พรรคกู้และต้องจ่ายคืน ในระยะยาว และดอกเบี้ยต่ำ แต่มีดอกเบี้ยและต้องจ่ายคืนทุกบาท ทุกสตางค์"น.ส.พรรณิการ์ กล่าว และว่า ส่วนจะดำเนินการอย่างไรกับนายศรีสุววรณ หรือไม่นั้น ที่ผ่านมาทางพรรคได้มีการฟ้องนายศรีสุวรรณกลับในเรื่องอื่นๆแล้ว ส่วนกรณีนี้คงต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรกับนายศรีสุวรรณ ตนยืนยันว่าทุกข้อสงสัย เราพร้อมจะชี้แจง ไม่มีปัญหาอะไร นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ออกระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ 2 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 25 พ.ค. เวลา 09.30 น. ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน จะมีการเลือกประธานวุฒิสภา ในวันที่ 24 พ.ค.เวลา 18.00 น. ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ หลังรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา /////////////////////////