โครงการฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินตาก เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บกักน้ำที่ไหลมาตามลำคลองสาขาให้ได้มากที่สุด และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งยังสร้างระบบนิเวศบริเวณฝายชะลอน้ำและลำคลองสาขาให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ นายวิโรจน์ บรรเจิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตาก เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ว่าในการทำงานภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินตากภารกิจหลักๆ คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างยั่งยืน และภารกิจสำคัญอีกภารกิจหนึ่ง ก็คือการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินตาก ได้ดำเนินการอยู่ใน 3 อำเภอ มีวัตถุประสงค์ของโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศบริเวณริมลำน้ำ และเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บกักน้ำไว้ให้ยาวนานที่สุด และช่วยให้เกษตรกรก็สามารถที่จะดึงน้ำหน้าฝายเข้าสู่เมืองลำเหมือง เข้าไปเลี้ยงนาข้าว แปลงผัก และบ่อปลาได้ แต่ในบางพื้นของ จ.ตาก เนื่องจากว่าลักษณะห้วยมีความลึกแล้ว ทางสถานีพัฒนาที่ดินตาก จะสร้างฝายขึ้นมาระดับหนึ่งก็จะมีการเก็บกักน้ำไว้หน้าฝาย และเกษตรกรจะใช้วิธีการสูบน้ำโดยใช้เครื่องมือที่เกษตรกรมีอยู่สูบน้ำขึ้นไปเข้าสู่ระบบน้ำของเกษตรกรเอง หรือที่เรียกว่าระบบสปริงเกอร์ เพื่อให้น้ำกับลำไยที่เกษตรกรในพื้นที่ ต.เชียงทองนิยมปลูกกันเป็นส่วนมาก เพราะเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ ซึ่งระบบสปริงเกอร์ เป็นรูปแบบการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่บริเวณ ต.เชียงทอง และนอกจากเกษตรกรจะได้ใช้น้ำโดยตรงแล้ว หน้าฝายชะลอน้ำ ก็ยังมีปลาให้เกษตรกรสามารถจับไปบริโภคได้อีกด้วย การใช้น้ำในฝายชะลอน้ำ ของเกษตรกรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่การทำเกษตรและพืชแต่ละชนิดที่เกษตรกรปลูก ดังเช่นพื้นที่ของ นายคำมูล ล่าหาญ หมอดินอาสาประจำตำบลเชียงทอง เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรในพื้นที่ ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก นิยมปลูกลำไยเป็นหลัก ซึ่งในช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรในบริเวณนี้ จะมีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อใช้รดลำไย กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินตาก ได้ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำไว้ให้เกษตรกร มีน้ำใช้รดต้นลำไยได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำในระบบสปริงเกอร์มารดต้นลำไย ทำให้ผลผลิตลำไยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้พื้นที่ของเกษตรกรสามารถปลูกพืชผสมผสานได้ เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นอกจากเกษตรกรได้ใช้น้ำจากฝายโดยตรงแล้ว บริเวณหน้าฝายชะลอน้ำ ยังมีสัตว์น้ำ ให้เกษตรกรได้จับไปบริโภค สร้างระบบนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยการปลูกพืชริมฝาย ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตไปเป็นอาหาร และนำไปขายเป็นรายได้เสริมได้ ซึ่งเป็นการพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย