สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ภาพถ่ายจากยานสำรวจอวกาศจูโน (Juno) ระหว่างปฏิบัติภารกิจศึกษาดาวพฤหัสบดี แสดงให้เห็นสีสันและลวดลายของดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นภาพถ่ายระยะใกล้กับดาวพฤหัสบดีมาก เมื่อเทียบกับภาพส่วนใหญ่ที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก จากภาพแสดง “แถบเข็มขัด”(แถบเมฆสีเข้ม) และ “แถบโซน”(แถบเมฆสีอ่อน) แต่ละแถบที่มีอัตราเร็วและทิศทางของกระแสลมต่างกัน ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในชั้นบรรยากาศ (Turbulence) และพายุหมุนตามแนวรอยต่อระหว่างแถบเข็มขัดและแถบโซน พายุหมุนที่ปรากฏชัดเจนที่สุดบนดาวพฤหัสบดีคือ “จุดแดงใหญ่” (Great Red Spot) อยู่มุมขวาบนของภาพ ปัจจุบันยานอวกาศจูโน (Juno) ขยายเวลาของภารกิจไปจนถึง พ.ศ. 2564 เพื่อศึกษาสนามแม่เหล็ก ชั้นเมฆที่ปกคลุม และวิวัฒนาการของดาวพฤหัสบดี การทำความเข้าใจดาวพฤหัสบดีอย่างละเอียดนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถเข้าใจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายดาวพฤหัสบดีได้ด้วย เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.  อ้างอิง: https://apod.nasa.gov/apod/ap190508.html (ทั้งนี้ ยานจูโน ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของนาซา ที่ส่งตรงยานลำนี้มุ่งตรงไปที่ดาวพฤหัสบดีเพื่อไขความลับของดาวดวงนี้)