โลกแห่งการศึกษาสมัยใหม่ได้เปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงความรู้อย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะ ‘ผู้พิการ’ สามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางร่างกาย มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียมกับคนธรรมดาทั่วไป มหาวิทยาลัยธรรมธรรมศาสตร์ นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสแก่กลุ่มผู้พิการซึ่งมีศักยภาพได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยเปิดรับครั้งแรกในปีการศึกษา 2546 ครอบคลุมผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ต่อมาในปี 2548 ธรรมศาสตร์ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเปิด ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (Disables Student Services) ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่ออำนวยความสะดวกแบบครบวงจร (One-Stop Services) ทั้งการเรียน การให้คำปรึกษาและศูนย์นันทนาการ พร้อมปรับปรุงอาคารสถานที่ เช่น ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำกว่า 10 จุด ทางลาดในมหาวิทยาลัยอีก 60 จุด เครื่องช่วยอ่านสำหรับผู้พิการทางสายตา ศูนย์กายภาพบำบัด ธาราบำบัด ฯลฯ สำหรับปีนี้มีบัณฑิตทุพพลภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2560 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 7-8 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 13 คน เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่าอุปสรรคทางร่างกายไม่ทำให้พวกเขาย่อท้อและสิ้นหวังได้เลย “ริน” ธรรมธัช เปี่ยมปัจจัย บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง (International Business, Logistics and Transport) ผู้มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจาก ‘โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง’ หนึ่งในนักศึกษาโครงการนักศึกษาพิการ เล่าว่า ตอนแรกเขาอยากเรียนคณะสัตวแพทย์แต่เมื่อคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มากพอ จึงเข้าโครงการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกเรียนวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่งเพราะธุรกิจนี้กำลังมาเเรงในประเทศไทยและยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เมื่อเรียนแล้วก็รู้สึกชอบ คิดว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายความเข้าใจและต้องการเอาชนะให้ได้ โดยระหว่างที่เรียนตลอด 4 ปีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต “ริน” ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและปฏิบัติตัวเหมือนนักศึกษาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนในคลาส หลักสูตรหรือการสอบ บางวันเล่นกีฬากับเพื่อนๆ อาศัยเครื่องพยุงขาบ้าง แต่โดยรวมๆ ถือว่าไม่ลำบาก “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความพร้อมสำหรับนักศึกษาผู้พิการ ทั้งด้านสายตา การได้ยิน หรือการเคลื่อนไหว ถือว่าดีมากๆ ที่สนับสนุนทุกอย่างและยังพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง เช่น ทางเดินเท้า ลิฟต์คนพิการ ที่จอดรถ แม้แต่รถเข็นไฟฟ้าหากต้องการใช้ มหาวิทยาลัยก็มีให้ยืมใช้ตลอด 4 ปีอีกด้วย” ปริญญาบัตรที่ได้รับนั้นเป็นสิ่งที่ “ริน” ภูมิใจอย่างมากว่าสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือคนรอบข้างว่าเขาสามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้พิการก็มีความรู้ความสามารถเหมือนเช่นคนปกติเช่นกัน ปัจจุบัน “ริน” รับตำแหน่งเป็น Supply Chain Planner บริษัท ดีแคทลอน ประเทศไทย จำกัด (Decathlon) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กีฬา มีร้านจำหน่ายในประเทศไทยถึง 10 สาขา ได้นำความรู้ด้านการบริหารงานโลจิสติกส์ที่ร่ำเรียนมาใช้อย่างเต็มความสามารถ ภายใต้คติประจำใจคือ If you want to give up, Just remember that why you started. สำหรับเป้าหมายภายหลังจากทำงานไประยะหนึ่ง “ริน” จะขอก้าวข้ามอุปสรรคอีกครั้งด้วยการเดินทางไปเรียนต่อ ณ ประเทศอังกฤษ อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการนักศึกษาพิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คือ “ชมพู่” พิกุลแก้ว ชมภูประเภท บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น เนื่องจากจอประสาทตาของเธอไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่กำเนิด “ชมพู่” เลือกเรียนสาขาบริหารรัฐกิจ เพราะจะได้เรียนรู้ด้านการบริหารหรือนโยบายภาครัฐ การคลัง รัฐสวัสดิการ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ช่วยให้เธอเข้าใจในความหลากหลายประเด็นด้านการบริหาร การปกครอง และการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน แถมยังได้นำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวัน การทำงานและเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ อีกด้วย บัณฑิตสาวผู้มีคติประจำใจว่า “ถ้าคุณแพ้คุณจะเป็นถ่าน แต่ถ้าคุณผ่านคุณจะเป็นเพชร” ทำให้ไม่เคยรู้สึกท้อ เพราะคิดเสมอว่าเมื่อสอบเข้ามาได้แล้วก็ต้องเรียนให้เต็มที่ที่สุด และเชื่อว่าเมื่อคนอื่นทำได้ ตัวเธอเองก็ต้องทำได้เช่นกัน จึงมีความพยายามมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งด้านการเลคเชอร์ การอ่านหนังสือสอบ หรือการทำกิจกรรมต่างๆ “การเรียนที่สาขานี้มีหนังสือและเอกสารประกอบค่อนข้างมาก ปกติชมพู่ก็จะขอให้อาสาสมัครหรือเพื่อนจิตอาสาในกลุ่มเพจเฟซบุ๊ก “ช่วยอ่านหน่อยนะ” มาช่วยเหลือเรื่องการอ่านหนังสือ เล่าให้คนที่มองไม่เห็นได้ฟัง หรือช่วยพิมพ์ ช่วยอัดเสียง หรืออ่านสไลด์ของอาจารย์ผู้สอน” บ้านของชมพู่อยู่กรุงเทพ ดังนั้นเพื่อความสะดวกจึงเลือกอยู่หอพักภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในช่วง 3 ปีแรก แต่เมื่อขึ้นปี 4 มีชั่วโมงเรียนลดลง เธอจึงกลับมาอยู่บ้านและใช้บริการรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคเรื่องการเดินทาง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างความสะดวกให้กับผู้พิการได้ดีในหลายๆ ด้าน แม้บางจุดอาจยังต้องพัฒนาต่อไป เช่น ทางเท้าหรือจุดขึ้นรถเอ็นจีวี แต่ก็ถือว่าเอื้ออำนวยและส่งเสริมให้ผู้พิการมากในระดับหนึ่ง” หลังจบการศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชมพู่อยู่ระหว่างการสมัครงานและมองว่ากระบวนการเรียนรู้คงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะในอนาคตเธอมีแผนจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านจิตวิทยา ความสำเร็จของ 2 นักศึกษาผู้เชื่อมั่นว่าความพิการไม่ใช่อุปสรรค บวกกับความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้แก่ทุกคนในสังคมได้รับความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีโครงการนักศึกษาพิการ ณ รั้วเหลือง-แดงจำนวน 70 คน และผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว 127 คน ออกไปร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างภาคภูมิใจ