สงครามทางการค้าโลกของ 2 มหาอำนาจระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดขึ้นหลังจากที่คณะบริหารของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศตัดสินใจปรับภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 25% จากเดิมที่เก็บภาษีในระดับ 10% เป็นวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยอัตราภาษีใหม่ถูกใช้กับสินค้าที่นำเข้าจากจีนกว่า 5,700 ประเภท ที่ถูกส่งออกจากท่าเรือ และสนามบินของจีนมายังสหรัฐ โดยสินค้าที่จะได้ผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเตอร์เน็ต โมเดม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ส่งข้อมูลต่างๆ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยแผงวงจรพิมพ์ หรือ พีซีบี มูลค่าอีก 12,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์แสงสว่าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องดูดฝุ่น และวัศดุก่อสร้างที่อยู่ในรายการขึ้นภาษีด้วยเช่นกัน ขณะที่ทางจีนยังใช้ไม้อ่อนหวังเจรจากับทางสหรัฐโดย “หลิว เหอ” รองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้แทนเจรจาการค้าระดับสูงของจีน กล่าวว่า การเจรจาด้านการค้ากับสหรัฐจะยังคงมีขึ้นที่กรุงปักกิ่ง โดยยืนยันว่าการเจรจาไม่ได้ล้มเหลว แต่มีอุปสรรคอยู่ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะเข้าเจรจาอีกครั้งที่กรุงปักกิ่งในอนาคตเร็วๆ นี้ และจะเดินหน้าหารือต่อไป ส่วนการเจรจาก่อนหน้านี้ นายหลิวยอมรับว่า มีความคิดเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นในหลายส่วนด้วยกัน จนทำให้หาทางออกไม่ได้ และสหรัฐก็ประกาศบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในที่สุดตามเส้นตาย และยืนยันว่า จีนจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้เช่นกัน ด้านผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น “น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่าสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มเติม 2 ครั้ง มูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านเหรียญ และจะมีเพิ่มเติมอีกในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ส่วนจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ ตอบโต้มูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญนั้น สนค.ประเมินผลกระทบเบื้องต้นการขึ้นภาษีของสหรัฐ ที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญ พบว่าอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600- 6,700 ล้านเหรียญ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆ ประมาณ 46% โดยตัวเลขคำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐ ทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ในกลุ่มสินค้า 2 แสนล้านเหรียญดังกล่าว การส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 9.2% การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มลดลง 9.7% และการส่งออกไปประเทศที่สามที่เป็นห่วงโซ่อุปทานลดลง 7.5% ทั้งหมดเป็นตัวเลขของไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งยังถือว่ารับมือได้ ในขณะเดียวกันพบว่าการส่งออกไปยังสหรัฐ อินเดีย และเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในปีนี้ จึงเป็นตลาดที่ต้องเร่งส่งออกทดแทน น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า เพื่อรับมือกับการส่งออกที่อาจจะลดลง สนค. วิเคราะห์รายการสินค้าในรายละเอียด พบว่าไทยมีสินค้าหลายตัวที่การส่งออกขยายตัวได้น่าพอใจ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มสินค้านี้แม้จะมีมูลค่าน้อย แต่มีผลในทางจิตวิทยาต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเนื่องจากมีผลต่อรายได้ของภาคเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) สำหรับสินค้ากลุ่มที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและไทยขนาดใหญ่ อาจจะต้องใช้มาตรการดึงดูดให้นักลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจีนมาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) มากขึ้น เช่นเดียวกับ “อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทั่วโลกวิตกมาตรการของจีนที่จะตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐ จนทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความปั่นป่วนได้ โดยเฉพาะคาดการณ์ว่าจีนอาจใช้นโยบายค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง 20-25% เพื่อชดเชยส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หากเป็นจริงก็จะทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกลง 20-25% และในอนาคตจะมีสินค้าจากจีนเข้าไปตีตลาดสินค้าในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอาเซียน ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันความปลอดภัย ผู้บริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหาร, ของเล่นเด็ก, เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน คาดว่าจะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวในระดับ 0.5-1% แต่หากสหรัฐมีการปรับขึ้นภาษีจากจีนเพิ่มเติมอีก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจีนใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการอ่อนค่าเงินหยวนอาจทำให้ส่งออกไทยในปีนี้ขยายตัว 0% ได้และอาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจต่ำกว่า 3% “บัณฑูร วงศ์สีลโชติ” รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนอาจหนีจากจีนมาไทยบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ที่ไปเวียดนามแล้ว มีมูลค่ามหาศาล ปีที่ผ่านมา การลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 81% จากปีก่อน มีการลงทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 215% มากกว่า 2 เท่า นอกจากนี้การส่งออกสินค้าของเวียดนามไปสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้น 28.8% สอดคล้องกับ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ภูมิภาคแรกที่จีนให้ความสนใจลงทุนมากสุดคืออาเซียน เป้าหมายหลักการลงทุนของจีนในอาเซียนคือเวียดนาม ถัดมาคือไทย เนื่องจากไทยยังคงมีปัญหาเรื่องจำนวนแรงงานรองรับ นอกจากจีนใช้เป็นฐานผลิตส่งออกได้แล้ว อีกด้านหนึ่งทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 640 ล้านคน และบริษัทจีนจะได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ในบางประเทศเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่ “จันทวรรณสุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า โดยรวมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก เนื่องจากจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน3 ด้านได้แก่1.การชะลอตัวของการค้าโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงรวมทั้งไทยทั้งด้านการค้าการลงทุนการท่องเที่ยว,2.ด้านการค้าผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรมเช่นสินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบแต่ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน และ3.ด้านการลงทุนอาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งการลงทุนอาจใช้เวลาในบางอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการย้ายกระบวนการผลิต ส่วน “ชุติมา บุณยประภัศร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ประสานทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งสำรวจตลาด รวบรวมแนวโน้มการนำเข้าและส่งออกของแต่ละประเทศ ทำข้อมูลผลกระทบว่ามีอะไรบ้าง ผลเสียและผลดีเป็นอย่างไร รวมถึงในแต่ละประเทศจัดทำแผนระยะสั้นและระยะยาวในการผลักดันการส่งออกรายประเทศไม่ให้ต่ำกว่าปีที่ผ่านๆมา รวมถึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุด โดยให้นำข้อมูลทั้งหมดหารืออีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ที่ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจะเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม(ไทยเฟ้กซ์) โดยรองนายฯจะเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ เพื่อผลักดันการส่งออกครึ่งหลังปี 2562 อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกน่าจะลดลงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม 8% ส่วนตัวเลขใหม่จะเป็นเท่าไหร่คงต้องรับฟังสถานการณ์และแนวทางการผลักดันของรายประเทศก่อน รวมถึงนำตัวเลขการประเมินของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ ว่าเทรดวอร์อาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5.6-6.7พันล้านเหรียญฯหรือกระทบต่อตัวเลขส่งออกประมาณ 2% ด้วย ส่งท้ายด้วย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าด้านภาษีระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยทั้งหมดอาจจะพัฒนาไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ ขณะที่ภาคเอกชนก็เกิดความไม่มั่นใจในการเข้ามาลงทุน เพราะการเมืองไทยยังไม่เกิดความชัดเจน ซึ่งไทยนับว่าถูกกระทบทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามประคับประคองเศรษฐกิจ ให้สามารถเดินต่อไปได้ระยะหนึ่ง จึงเชื่อได้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ยังแข็งแกร่งและอยู่ในระดับดี ซึ่งจะพยุงสภาวะเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลใดๆ เพราะเชื่อว่าหากไทยมีรัฐบาลเมื่อไร สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้นเอง