หากมองจากหมากตัวสำคัญล่าสุด ที่ปรากฎออกมาบนกระดานการเมือง คือ 250 ส.ว.แล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการหวนคืนสู่อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป ขณะที่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล กำลังเดินไปตามไทม์ไลน์ที่วางเอาไว้ จากนี้จะมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา วันที่ 22 พ.ค. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาในวันถัดไป และจะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญคือ ประธานสภาฯเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ ดังนั้นในเดือนมิ.ย.ที่จะมาถึงก็จะมีการฟอร์มคณะรัฐมนตรี และมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ถึงกระนั้น แรงกระเพื่อมไหวจากกลุ่มพลังต่างๆ ทั้งจากภายในพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐเอง และพรรคพันธมิตร ก็ขยับต่อรองกันชนิด “ฝุ่นตลบ” !! ข่าวลือ ข่าวปล่อย ที่ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าไม่หยุดหย่อน กระทั่งพี่ใหญ่ผู้มากบารมี ทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังถูกปล่อยข่าวเขย่า เพื่อหวังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ในขณะที่พรรคตัวแปรสำคัญ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ในช่วงถ่ายเลือด ไม่ว่าเลือกทางใดจะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือย้ายมาฝั่งของพรรคเพื่อไทย ก็จะเต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ จากเงื่อนไขที่ผูกเอาไว้มัดตัวเองก่อนหน้านี้ กระทั่งมีข่าวว่า แม้จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจจะไม่ไปหมดทั้งพรรค ความชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ จะเกิดขึ้นหลังจากได้ตัวหน้าพรรคคนใหม่ และคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งน่าสนใจว่า ทั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคนั้น ได้คนในขั้วอำนาจ ของ ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นคือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค โดยรองหัวหน้าพรรคทั้ง 4 ภาค ภาคเหนือ นราพัฒน์ แก้วทอง ภาคกลาง สาธิต ปิตุเตชะ ภาคอีสาน ชัยยศ จิรเมธากร ภาคใต้ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และภาคกทม. องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าตามภารกิจ ได้นิพนธ์ บุญญามณี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สามารถ ราชพลสิทธิ์ อลงกรณ์ พลบุตร อัศวิน วิภูศิริ กนก วงษ์ตระหง่าน สรรเสริญ สมะลาภา และปริญญ์ พานิชภักดิ์ ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคจุรินทร์คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่กระนั้น แหล่งข่าวจากแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ยังมั่นใจว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะมาร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งพรรค โดยเฉพาะแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยถึงการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่แกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ จะกล้าเปิดสูตรจัดสรรโค้วต้ารัฐมนตรีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลที่ว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้รับการจัดสรรหา 15 เก้าอี้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ จะได้รับการจัดสรรหา 7 เก้าอี้เท่ากับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่เก้าอี้รัฐมนตรีที่เหลือจะจัดสรรให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก ส่วนพรรคที่มีเพียงเสียงเดียวจะได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทำงานในสภาฯแทน อีกทั้งการออกมาแถลงของพรรคการเมือง 11 พรรคที่มีส.ส.เพียงพรรคละ 1 เสียงว่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็สะท้อนการฝีมือการบริหารจัดการของ “ผู้จัดการรัฐบาล” ได้ดี ส่วนสถานการณ์ที่ยังดูเหมือนยืนอยู่บนความไม่แน่นอนนั้น ก็เพื่อหา “จุดยืน”ที่สามารถสร้างราคาทางการเมืองได้อย่างสวยงาม และอยู่ในกระบวนการล้างบางภายในพรรค ประชาธิปัตย์เอง ทั้งนี้ หากนับตัวเลขในมือตอนนี้ จาก 20 พรรค ถือเป็นการรวบรวมพันธมิตรทางการเมืองที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากขั้วการเมืองที่มีการ “ดีล” กันในฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำนั้น จะต้องจับมือกับพรรคการเมืองอีก 19 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคการเมืองที่มีพรรคละ 1 เสียงอีก 11 พรรค โดยเสียงสนับสนุนที่เกินกึ่งของสภาฯคือ 250 เสียงมาแบบปริ่มน้ำเพียง 253 เสียง โหวตเลือกนากยรัฐมนตรี ยังต้อง “เปิดสวิทซ์” ให้ส.ว.ทำงาน ไม่ต้องนึกสภาพถึงการทำงานในอนาคต ที่บรรดานักการเมืองเขี้ยวลากดิน จะต้องประลองกำลัง ทั้ง ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และการนับองค์ประชุม ที่รัฐบาลจะต้องตั้งรับชนิดที่ต้องวางกฎเหล็ก ห้ามสมาชิกขาด หรือลา มาสายกันเลยทีเดียว และแน่นอนสิ่งที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ จะต้องเผชิญ นั่นก็คือจุดอ่อนของรัฐบาลผสมหลายพรรค คือ ความไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลักดันการแก้ไขปัญหาและผลงานต่างๆของรัฐบาลในอนาคต ในขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะทำงานยากขึ้น และอาจจะต้องหงุดหงิดบ่อยครั้ง หากต้องรับมือกับลีลาของนักการเมืองอาชีพ และโดยเฉพาะตอนนี้ ไม่มี “ดาบอาญาสิทธิ์” หรือ มาตรา 44 อยู่ในมือแล้ว แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. และพรรคพลังประชารัฐ ก็วางหมากกลเอาไว้อย่างแยบยล และหาทาง “แก้สนุ๊ก” ทางการเมืองเอาไว้แล้ว เพียงให้ผ่านการเลือกโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปเท่านั้น ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยโรงเรียนบิ๊กตู่ ดังมีรายงานจากพรรคพลังประชารัฐว่า ได้รวบรวมเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งไปแล้ว 10 กว่าเสียง โดยไม่ใช่“งูเห่า” จากพรรคการเมืองอีกฟากหนึ่ง หากตีความจากนัยดังกล่าว นั่นหมายความว่า จะมีสมาชิกจากขั้วที่อยู่ฟากของพรรคเพื่อไทย ย้ายมาสนับสนุนรัฐบาล โดยเป็นไปตามมติพรรค ไม่ไช่การหอบผ้าหนีตาม... ในขณะที่มีข่าวว่า ในพรรคเพื่อไทยเองก็มี “งูเห่า” เตรียมย้ายขั้วมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ อาจทิ้งให้ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เพียงคนเดียวที่ต้องรักษาสัจจะกับพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เอง ก็ถูกเขย่าขวัญด้วยข่าวยุบพรรค ที่สร้างความหวั่นไหวให้ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ หากเพียงยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐก็พร้อมจะเปิดประตูต้อนรับ และนับจากนี้ กระบวนการ “สอย ส.ส.” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ยังรอขับเคลื่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบรรดาส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อ ขณะที่ยังมีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในกกต. ทั้งหมด 415 เรื่อง ยกคำร้องไปแล้ว 200 กว่าเรื่อง มีเขตเลือกตั้ง 70 เขตที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งในกลุ่มนี้ จะเป็นปัญหาที่ไม่รุนแรง อาทิ เรื่องป้ายหาเสียงในกลุ่มนี้ 70 เขตกกต.กำลังดำเนินการสอบสวนและอาจจะประกาศรับรองไปก่อน ส่วนกลุ่มที่มีปัญหามาก รุนแรง มีทั้งหมด17 เขต ซึ่งมีโอกาสที่ขั้วตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์ จะร่อยหรอลงเป็นใบไม้ร่วงจึงมีสูง ฉะนั้น ในแง่ของเสถียรภาพของรัฐบาล จึงต้องมองเกมกันยาวๆ และถึงวันนี้ อาการยึกยักของพรรคการเมืองต่างๆ จึงเป็นแค่เพียงอาการดิ้นรนเพื่อต่อรอง เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้จะไม่มีมาตรา 44 อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีอำนาจในการยุบสภาฯ และขอเชื่อเถอะว่าไม่มีนักการเมืองคนใด อยากเลือกตั้งใหม่ ที่สำคัญ คือ ใช้เงินหมดไปแล้ว