มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้รับเกียรติจาก “ดร.อัง จูเลียน” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมานุษยวิทยา จากประเทศกัมพูชา มาเป็น Visiting Professor ที่มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่านโลกครู (คำว่า “อาจารย์” ในภาษาเขมรจะหมายถึง บุคคลผู้ประกอบพิธีกรรม ในทีนี้จึงใช้ “โลกครู” แปลว่า “คุณครู”) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ได้ศึกษาค้นคว้า และมีงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง “ดร.อัง จูเลียน” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมานุษยวิทยา จากประเทศกัมพูชา สัปดาห์ก่อนที่ห้องประชุมสายสัมพันธ์จันทรา อาคารสำนักงานอธิการบดี โลกครูได้พาเราย้อนเวลาเดินทางไปกัมพูชา ในสมัยยุค “องโก” หรือสมัยยุค “เมืองพระนคร” ช่วงที่กัมพูชารุ่งเรืองถึงขีดสุด อย่างที่รู้กันว่าในกัมพูชามีปราสาทมากมาย ที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็อย่างปราสาทนครวัด ในจังหวัดเสียมเรียบ การสร้างปราสาทของพระเจ้าแผ่นดินมีหลายวัตถุประสงค์ แต่ก็ล้วนแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แสดงถึงพระบารมีที่สามารถเนรมิตให้บังเกิดสิ่งก่อสร้างใหญ่โตสวยงามเกินกว่าวิทยาการในช่วงเวลานั้นจะเชื่อว่าทำได้ แต่ก็ไม่ได้มีเพียงกษัตริย์เท่านั้นที่สร้างปราสาท เพราะยังมีขุนนางที่สร้างปราสาทเอาไว้ แล้วยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แถมยังเป็นปราสาทชื่อดังที่นักท่องเที่ยวต้องไปชมให้ได้ ปราสาทแห่งนี้อยู่ในเขตจังหวัดเสียมเรียบ นั่นก็คือ “ปราสาทบ่อนเตียเสร็ย” หรือที่คนไทยคุ้นกันว่า “บันท้ายศรี” นั่นแหละ ปราสาทบ่อนเตียเสร็ย หรือบันท้ายศรี ปราสาทหลังนี้สร้างโดยขุนนางผู้หนึ่ง ที่รับราชการอยู่ในรัชกาลของ “พระเจ้าราเชนทรวรมัน” กษัตริย์ผู้ซึ่งย้ายเมืองหลวงจากเกาะเก กลับมาที่เมืองพระนครอีกครั้งในปี ค.ศ. 944 หลัง “พระเจ้าชัยวรมันที่ 4” ทรงย้ายเมืองหลวงจากยโสธร (อ่านว่ายะโสธะระ) ไปที่อยู่นั่นถึงประมาณ 20 ปี (คนเขมรไม่จำชื่อยโสธรแต่จะจำชื่อองโก) ปราสาทบ่อนเตียเสร็ย หรือบันท้ายศรีถูกสร้างที่เมืองพระนครนี่เอง แม้เป็นเพียงปราสาทหลังเล็กๆ แต่ก็สวยงามมาก เป็นปราสาทแบบศาสนาพราหมณ์ เสียดายขุนนางผู้นี้รับราชการในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันได้เพียง 1 ปี พระองค์ก็สวรรคต แต่ก็ได้รับราชการต่อมาในสมัย “พระเจ้าชัยวรมันที่ 5” ผู้เป็นพระโอรส ความแตกต่างที่ชัดเจนของปราสาทกษัตริย์ กับปราสาทขุนนาง เห็นชัดตรงที่ปราสาทกษัตริย์จะสร้างบนฐานยกสูงขึ้นไปเป็นชั้น เหมือนพิระมิด นักวิชาการเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากบุโรพุทโธ ที่อินโดนีเซีย ส่วนปราสาทขุนนางจะไม่สร้างลักษณะนี้ โลกครูบอกว่า เขาเชื่อว่าเพื่อเป็นการแสดงความเจียมตัวไม่แข่งบุญแข่งวาสนา พระเจ้าราเชนทรวรมัน พอย้ายเมืองหลวงกลับมาแล้วก็สร้างปราสาทน้อยใหญ่ หนึ่งในที่สำคัญก็คือ “ปราสาทแปรรูป” ซึ่งตั้งขึ้นไปบนฐานพิรามิดสูง ที่ปราสาทแห่งนี้ด้านในมีศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ที่ใหญ่ที่สุดและยาวที่สุดในกัมพูชาอยู่ ปราสาทแปรรูป กระนั้น ปราสาทหลังแรกที่มีการสร้างบนฐานสูงขึ้นเป็นชั้นๆ นั้น คือ “ปราสาทบาโกง” ที่สร้างตั้งแต่สมัย “พระเจ้าอินทรวรมัน” กษัตริย์ผู้ที่เริ่มทำให้องโก หรือเมืองพระนครยิ่งใหญ่ ซึ่งในศิลาจารึกบอกว่า หลังจากครองราชย์ 5 วัน ก็จะทรงขุดบาราย (สระน้ำ) ที่ใหญ่กว่าปกติ มีความกว้างถึง 800 เมตร ยาวกว่า 3 กิโลเมตร ในสมัยพันกว่าปีก่อน แล้วใช้ชื่อว่า “อินทรปตากะ” ปราสาทพระโค “ปราสาทบาโกง” นั้น สร้างขึ้นหลังจาก “ปราสาทพระโค” 2 ปี ที่ทรงสร้างปราสาทพระโค ซึ่งเป็นกลุ่มปราสาท 6 หลังก่อน ก็เพื่ออุทิศถวายให้บรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของกัมพูชาที่กษัตริย์ต้องสร้างปราสาทถวายบรรพบุรุษ ก่อนสร้างปราสาทตัวเอง เหมือนอย่าง “ปราสาทตาพรม” ซึ่งทั่วโลกรู้จักเพราะเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ทูมไรเดอร์ ซึ่ง “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 7” สร้างถวายพระราชมารดา และ "ปราสาทพระขรรค์" ที่ทรงสร้างถวายพระราชบิดา เป็นต้น ปราสาทตาพรหม เป็นปราสาทที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 7 สร้างถวายพระราชมารดา แค่เรื่องปราสาทก็ฟังโลกครูจนเพลิน เดินทางครั้งหน้า ศึกษาประวัติศาสตร์ไปบ้าง จะได้รู้ที่มาที่ไป เพราะทุกที่มีเรื่องราว เวลาไปดูไปเห็นของจริงจะได้อิน ไม่ใช่ว่าสวยงามเพราะแค่ดูใหญ่โต หรือพลาดไปเพราะมองเห็นเป็นกองหินธรรมดา บริเวณหน้าต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ถ่ายทำฉากสำคัญฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องทูมไรเดอร์ ที่นำแสดงโดยแองเจลินา โจลี เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต่อคิวถ่ายภาพกันไม่ขาดสาย