คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น เคยมีความเคลื่อนไหวของชาวพุทธ (ไทย) ส่วนหนึ่ง จะให้มีการบัญญัติ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ และอยากให้มีกฎหมายคุ้มครอง (พุทธ) ศาสนา แต่ก็ดูแผ่วๆ ไป และดูเหมือนฝ่ายการเมืองก็ไม่ขานรับ ซ้ำมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ และ นักกฎหมายเป็นอันมาก โดยเกรงว่าจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติ ระหว่างปลายปี 2559 และต้นปี 2560 มีความพยายามของรัฐบาล คสช. จะล้มวัดพระธรรมกาย (โดยเฉพาะพระธัมมชโย) ให้ได้ แต่ก็ยังไม่สำเร็จจนทุกวันนี้ ทำให้ผมเกิดความคิด “ตกผลึก” ว่า การที่จะให้ (บัญญัติ) ให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ คงไม่ง่าย และคงจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่ความคิดที่จะให้มี “กฎหมายคุ้มครองศาสนา” เป็นเรื่องน่าคิด และน่าจะทำได้ มานึกถึงวัดพระธรรมกายและท่านพระธัมมชโย ที่เป็นปัญหาใหญ่ของชาติอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นปํญหาใหญ่ของชาติอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นปัญหาของพุทธศาสนานั่นเอง มานึกว่า ประเทศไทยนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท เช่นเดียวกับศรีลังกาและเมียนม่า(พม่า) แต่ก็มีหลายอย่างที่ปฎิบัติต่างกันในหมู่พระสงฆ์ เช่นการห่มจีวร การบิณฑบาต การจับต้องสตรี ฯลฯ ทั้งๆ ที่พุทธเถรวาท ถือพระไตรปิฎกบาลีชุดเดียวกัน พระสงฆ์เขมรและลาว ไม่ต่างกับพระสงฆ์ไทย เพราะเคยอยู่กับไทยมาก่อน อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่า พุทธเถรวาท (ตามพระไตรปิฎกบาลี) ยึดถือคำสอนเรื่อง “อนัตตา” ของพระพุทธเจ้าแต่คำสอนของแนวธรรมกาย (ซึ่งอ้างว่าเป็นพุทธเถรวาท) กลับสอนว่า มี “อัตตา” และยืนยังทั้งโดยคำสอนและการปฏิบัติ (สมาธิ) ยืนยันว่ามีอัตตา ปฏิเสธอนัตตา “อัตตา” คือ ภาวะอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่เป็นนิรันดร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นภาวะแห่งความสุข ไม่มีการดับสูญ เทียบได้กับ “พระผู้เป็นเจ้า” หรือ “พรหมัน” (พระพรหม) ในสมัยพุทธกาลเป็นปรมาตนัน (อัตตาใหญ่) ส่วน “อนัตตา” คือภาวะว่างเปล่าเป็นสุญตา ไม่มีตัวตน เป็นนิพพาน (ดับสนิท) ไม่มีการเกิดอีกไม่มีต่อไปอีก ไม่เป็นทั้งทุกข์และสุข ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก เพราะความไม่มีของอนัตตา แนวการปฏิบัติเพื่อสมาธิของธรรมกายและของพุทธเถรวาท (ในพระไตรปิฏกบาลี) ต่างกัน ของธรรมกายเมื่อเห็นดวงแก้วใส (ในสมาธิ) ให้ยึดว่าเป็นการบรรลุธรรม ส่วนสมาธิในพระไตรปิฎกบาลี เมื่อเห็นนิมิตหรือมโนภาพใดๆ (ในสมาธิ) ให้เพ่ง (พินิจ) จนนิมิตนั้นหายไป เพราะถือว่าพินิตที่เห็นในสมาธิ เป็นเพียงภาพลวงตาลวงใจ แสดงว่า คำสอนแนวธรรมกายต่างจากคำสอนในพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท แต่พระสงฆ์ของวัด (และสำนักต่างๆ ของธรรมกาย) ก็นุ่งห่มจีวรแบบพระสงฆ์ของเถรวาท โดยเฉพาะพระสงฆ์ไทย เมื่อกล่าวอ้าง ก็กล่าวว่าเป็นพุทธศาสนา อ่านพระไตรปิฎกบาลีอย่างไร ก็เห็นแต่เรื่อง “อนัตตา” ไม่พบคำสอนใดๆ ที่ให้ยึดให้ “อัตตา” และไม่พบคำสอนเรื่อง “ดวงแก้วใส่” ที่ศูนย์กลางกาย อย่างที่ธรรมกายสอนเลย ก็เลยมานึกว่า ธรรมกายที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมไม่ใช่พุทธเถรวาท และพระสงฆ์ของธรรมกาย ก็ไม่ใช่พระสงฆ์ไทย ทั้งไม่ใช่พระสงฆ์ที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎกบาลี แต่พระสงฆ์ของธรรมกายก็นุ่งห่มจีวรสีเดียวกับพระสงฆ์ทั่วไป กรณีอย่างนี้ ถ้ามีคำบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” จะทำอย่างไร? ในเมื่อพุทธศาสนา มีทั้งนิกายมหายานและนิกายเถราวาท เฉพาะนิกายเถรวาทก็มีทั้งแบบศรีลังกา และพม่า มีทั้งแบบไทย เขมร และลาว? เห็นช่องทางหนึ่ง ที่จะช่วยได้ คือให้มี “กฎหมายคุ้มครองศาสนา” แต่ก็ต้องเป็นกฎหมายคุ้มครองทุกศาสนา ให้ทุกศาสนาและทุกนิกายในศาสนา ปฏิบัติในแนวทางของตนตามพระคัมภีร์ที่สอนเป็นหลักฐาน โดยเฉพาะไม่ให้แต่งกาย (นุ่มห่ม) เลียนแบบกัน นึกได้ว่า เมื่อปี 2541 มีการตัดสินในชั้น (ศาล) ฎีกา เรื่องสำนักสันติอโศกของท่าน (สมณะ) โพธิรักษ์ มีผลให้สำนักสันติอโศกเป็นฝ่ายแพ้คดี ยอมเปลี่ยนสีจีวรและการนุ่งห่มให้เป็นของตัวเอง ไม่ให้เป็นอย่างพระสงฆ์ทั่วไป จำได้ว่า ครั้งนั้นคดีของสำนักสันติอโศก เป็นคดีเรื่องบวชพระเอง ไม่เป็นไปตามกฎหมายของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่บัญญัติให้พระอุปัชฌาย์ ต้องได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมจากมหาเถรสมาคมก่อน กฎหมายเรื่องนี้ ออกโดยฝ่ายบ้านเมืองสมัยปี 2505 เพื่อให้พุทธศาสนา (พระธรรมวินัย) ดำรงอยู่ได้ เป็นการออกโดยชอบให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เรื่องนี้อยู่ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ข้อ (มาตรา) ที่ 23 คือ ตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ เป็นตำแหน่งแต่งตั้งโดยกฎหมาย พระสงฆ์ แม้จะมีอายุพรรษาครบ 10 ปี ก็เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ (ตามหลักพระวินัย) แต่ในทางกฎหมาย (พ.ร.บ. คณะสงฆ์) เป็นไม่ได้ อันที่จริง ความผิดของสันติอโศกที่ลึกยิ่งกว่านั้น คือการอวดอ้าง “อุตตริมนุสสธรรม” ของท่านพระโพธิ์รักษ์ที่ว่าตนได้เป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้ แต่ในแง่กฎหมาย การอวดอ้างอุตตริมมุสสธรรม ทำได้ยากกฎหมายจึงยกกรณีเป็นพระอุปัชฌาย์เองขึ้นศาล เพราะใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์มีบัญญัติในเรื่องนี้ชัดเจน แต่ แม้จะแพ้คดี พระสงฆ์สันติอโศกก็ไม่ถูกจับสึกและขังคุกทั้งๆ ที่เป็นคดีอาญา เพราะไม่เคยต้องโทษมาก่อน กฎหมายลงโทษแค่ให้รอลงอาญา (ติดคุก) เป็นเวลา 2 ปี เพียงแต่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือไม่ให้ “แต่งกายเลียนแบบ” เคยนุ่งห่มจีวร ก็ให้เปลี่ยนสีผ้าและวิธีนุ่งห่ม ไม่ให่เหมือนพระสงฆ์ไทยทั่วไป ตั้งแต่นั้นมา “ขบวนการ” สันติอโศก ก็ค่อยๆ เงียบสงบ ไม่เจริญเติบโตได้ง่าย คิดว่า กรณีวัดพระธรรมกาย ก็จะพยายามให้จบอย่างนั้น แต่ไปสื่อสารวิธีจบตามกฎหมาย คือท่านพระธัมมชโยและพรสงฆ์ของวัดพระธรรมกายไม่ถูกจับสึกและขังคุก แต่รอลงอาญา 2 ปี เพราะไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อน คดีวัดพระธรรมกาย คล้ายกับคดีสันติอโศกในแง่รูปคดี คือเอาแต่กฎหมายเป็นหลัก สันติอโศกเอาแง่ “ตั้งพระอุปัชฌาย์” ตามกฎหมายส่วนธรรมกายเอาแง่ “รับของโจร” (มีการฟอกเงินรับบริจาค) แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ทั้งสันติอโศกและธรรมกายละเมิดพระวินัยข้อ “อวดอุตตริมนุสสธรรม” คือไม่เป็นพุทธเถรวาทตามพระไตรปิฎกบาลี เรื่องการบัญญัติ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”จึงไม่ง่าย เชื่อว่า ถ้าจบธรรมกายอย่างจบสันติอโศก จะเป็นการจบได้ดี และอยากให้จบในรัฐบาลประชาธิปไตยปกติ (ไม่มีการเล่นแร่แปรธาตุ จนเป็นที่หวาดระแวง)