“ถนอม ยังเจริญ” เกษตรกรดีเด่น ผู้นำบัญชีวางแผนการลดต้นทุนการผลิตข้าว ส่งเสริมการมีรายได้สู่เกษตรกรในชุมชน
นายถนอม ยังเจริญ เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี 2558-2560 จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเกษตรกรผู้ทำนาข้าวในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีหลักแนวคิดในเรื่องการพัฒนาลดต้นทุน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะกระแสทุนนิยมในสังคม ด้วยการจดบันทึกบัญชีและใช้ข้อมูลทางบัญชีมาคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ จนทำให้สามารถหาปัจจัยในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตได้ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดและเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตแบบพอเพียงให้แก่ชุมชน
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่นายถนอมยึดอาชีพทำนา ในระยะแรกนั้นขาดการบริหารจัดการงานที่ดี จึงทำให้มีต้นทุนในการผลิตข้าวที่สูง จึงได้คิดค้นทดลองทำนาหาแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงมีคุณภาพดี และมีค่าใช้จ่ายเพียงพอในครัวเรือน จนพบว่าการทำนาโยนมีต้นทุนต่ำกว่าการทำนาหว่าน แต่มีข้อเสีย คือ นาโยนใช้เวลาการปลูกข้าวหลายวัน ทำให้ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน ปัจจุบันจึงเลือกทำนาหว่านปีละ 2 ครั้ง คือ นาปี นาปรัง แบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้มีระบบนิเวศน์ดีขึ้น และช่วยให้ต้นทุนการทำนาลดลง โดยใช้ข้อมูลทางบัญชีที่จดบันทึกมาคำนวณต้นทุนอาชีพการทำนาในแต่ละแบบ
จากการจดบันทึกบัญชีมาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเป็นปัจจุบัน จนทำให้สามารถแยกค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและต้นทุนประกอบอาชีพได้อย่างเป็นระบบ นายถนอมได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชีมากขึ้น จึงได้สมัครเป็นครูบัญชีอาสาเพื่อสร้างเครือข่ายแนะนำการทำบัญชีร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนแนะการจัดทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือนสู่ต้นทุนอาชีพ ให้กับเกษตรกร นักเรียน และชุมชน อีกทั้งยังเสียสละที่อยู่อาศัยของตนเองมาเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
ปัจจุบัน นายถนอมเป็นเกษตรกรต้นแบบเจ้าของแปลงเรียนรู้ และเป็นประธานกรรมการของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบางบ่อ อีกทั้งยังได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นแปลงใหญ่ต้นแบบแปลงแรกของจังหวัดสมุทรปราการ และทำหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 48 คน
“เราจะดูแลสมาชิกในกลุ่มว่ามีความเข้าใจในการผลิตสินค้าของตัวเองมากน้อยเพียงใด ถ้ายังขาดตรงไหน เราก็ให้คำปรึกษาแต่ละรายไป แล้วก็พยายามให้แต่ละรายจดบันทึกบัญชีต้นทุนการผลิตหรือบัญชีฟาร์มของตนเก็บไว้เป็นประวัติ เพื่อเอามาดูย้อนหลัง ว่าของเราทำไปแล้วขาดทุนหรือได้กำไร และมีผลผลิตสูงเท่าไหร่ นี่ก็เป็นเรื่องของการทำบัญชีในภาคการเกษตร เพื่อเป็นตัวนำในการให้รู้ว่าผลผลิตของเราออกมาแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละครัวเรือน มีพื้นที่ทำการเกษตรมากน้อยต่างกัน ก็ทำให้ความเป็นอยู่แตกต่างกันไป” นายถนอม กล่าว
นายถนอมยังเจริญ จึงถือเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ในการนำบัญชี มาใช้เป็นแนวทางเตรียมความพร้อมในการวางแผนค่าใช้จ่าย รู้จักการพึ่งพาตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน ทั้งในเรื่องของการลดการพึ่งพาสารเคมี เน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ และเป็นการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการสินค้าข้าวของรัฐบาล อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร นำไปสู่การพัฒนาให้เกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer อย่างยั่งยืน
สร้างรายได้ อยู่ได้อย่างพอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการพึ่งพาสารเคมี รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมโดยใช้ผลลัพธ์ของตนเองเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกร ทำให้มีเกษตรกรหลายๆ คนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรจากเดิมที่ทำนาปลูกข้าวอย่างเดียวเป็นทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ทั้งด้านเทคโนโลยีการปลูกข้าว วิธีการลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแปลงสาธิต การใช้น้ำหมักและปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง และช่วยลดต้นทุนในการผลิตข้าวลง และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ควบคู่ไปกับการใช้บัญชี เป็นเครื่องมือในการวางแผนการประกอบอาชีพ จนนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรให้ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และได้ใช้ข้อมูลทางบัญชีของตนเองช่วยผลักดันให้เกษตรกรในชุมชนสนใจที่จะจดบันทึกบัญชี
ในสภาวะที่สังคมไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมจึงได้เข้ามามีบทบาทมากมายในปัจจุบัน จนทำให้หลายครัวเรือนละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมและหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน แต่ยังมีเกษตรกรกลุ่มอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ยังคงประกอบอาชีพการเกษตรทำนาปลูกข้าวอย่างเหนียวแน่น โดยนำหลักการทางบัญชีมาใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพจนทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน