รายงานข่าวแจ้งว่า กรมชลประทานได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำห้วยหลัว ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ โดยการศึกษาได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบ่งหัวข้อที่ศึกษาไว้ 4 ด้านประกอบด้วย ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยการศึกษาได้ด้าเนินการรวบรวมข้อมูล สำรวจ และเก็บข้อมูลในภาคสนาม โดยโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว สามารถกักเก็บน้ำได้ 8.27 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก สามารถจัดสรรน้ำส่งให้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 4,695 ไร่ และฤดูแล้ง 1,403 ไร่ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 2 เทศบาลตำบล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย เทศบาลตำบลผาเสวย 8 หมู่บ้าน และเทศบาลตำบลลำห้วยหลัว นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่รับน้ำ 3,300 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)เก็บได้ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.เฉพาะที่เขื่อนลำปาว 1,980 ล้าน ลบ.ม. โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพิ่มจะช่วยสนับสนุนการทำการเกษตร ทั้งนี้ใน จ.กาฬสินธุ์ ฤดูฝนจะมีบางพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม แต่พอฤดูแล้งก็แล้ง การมีอ่างเพิ่มขึ้นจะให้ประโยชน์แบ่งเป็นตัดยอดน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะการทำอ่างเก็บน้ำดังกล่าวจะทำให้เก็บน้ำเพิ่มได้อีกราว 8 ล้าน ลบ.ม. อย่างที่สองคือจะสามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ ทั้งนี้การจัดทำต้องศึกษาให้รอบด้าน เพราะงบประมาณในการจัดทำนั้นเพียงในส่วนการเวนคืนที่ดินเป็นเงินถึง 90 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ยิ่งไปกว่านั้นโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัวนี้ เป็นโครงการที่ประชาชนในพื้นที่ได้ร้องขอต่อรัฐบาลตั้งแต่ปี 2519 และต่อมาปี 2525 สำนักชลประทาน 5 จังหวัดอุบลราชธานี กรมชลประทาน ได้จัดทำรายงานเบื้องต้น และพบว่าสามารถจัดทำได้ จึงจัดทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2551ได้ผลสรุปว่าบริเวณที่เหมาะสมอยู่ที่บ้านแก้งกะอาม หมู่ที่6 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้านนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวว่า การร้องขอของประชาชนต่อรัฐบาลในปี 2519 นั้น เนื่องมาจากฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ ซึ่งเมื่อกรมชลประทานพิจารณาพื้นที่แล้วพบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถจัดทำเป็นอ่างเก็บน้ำได้ โดยจะจัดทำในลักษณะทำนบดิน สูง 23.5 เมตร ความยาวสัน 225 เมตร และจะสามารถเก็บกักน้ำได้ราว 8.27 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวจะมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเฉลี่ยปีละประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. โดยการออกแบบเบื้องต้นจะเป็นระบบคลองและท่อส่งน้ำแยกเป็นฝั่งซ้ายและขวา โดยฝั่งขวาเป็นระบบท่อ 5.4 กม.เป็นระบบคลองเปิด 5.3 กม. เป็นพื้นที่รับประโยชน์กว่า 3,744 ไร่ ส่วนฝั่งซ้ายเป็นระบบท่อ 1.9 กม. เป็นคลองเปิด 2.9 กม. มีพื้นที่รับประโยชน์ ประมาณ 1,746 ไร่ สำหรับพื้นที่ในการจัดทำอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีความทับซ้อนกับบริเวณชายขอบของอุทยานแห่งชาติภูพาน และเมื่อจัดทำอ่างเก็บน้ำจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบราว 839 ไร่ ทว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทางการเกษตรไปแล้ว 400 ไร่ เป็นเกษตรกร 50 ราย เนื่องจากการขีดเส้นเขตอุทยานในอดีตทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำการเกษตรของประชาชน ส่วนที่เหลือเป็นป่าเต็งรัง ไม่พบพืชพรรณหายาก หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ด้านสัตว์ป่าพบเป็นสัตว์จำพวกนก อีกทั้งเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกงูและกิ้งก่า รวมถึงสัตว์ขนาดเล็กเช่น หนูพุกใหญ่ กระแต เป็นต้น ไม่พบสัตว์ป่าสงวน โดยหากเริ่มก่อสร้างแล้วจะมีการอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ก่อน ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาติให้คณะรัฐมนตรีทำเรื่องเพิกถอนสถานะพื้นที่ดังกล่าวจากความเป็นอุทยาน โดยจำเป็นต้องใช้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ปัจจุบันอยู่ในช่วงสุดท้ายของการศึกษา มีการประชุมที่ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในการปัจฉิมนิเทศโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยจากการพูดคุยกับภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำนั้นล้วนมีความยินดีจะให้เกิดการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น หากได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประชาชนอีกประมาณ149 รายที่อาศัยและทำการเกษตรอยู่ตามแนวท่อส่งน้ำทั้งฝั่างซ้ายและขวาของโครงการ โดยในส่วนงบประมาณในการจัดทำโครงการแบ่งได้เป็นค่าก่อสร้าง 625 ล้านบาท ค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดินทางเกษตรอยู่ที่ 94.6 ล้านบาท อีกทั้งเป็นมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP) งบประมาณ 46 ล้านบาท รวมทั้งหมดเป็นเงินลงทุน 766 ล้านบาท