“สมคิด”ชี้ชัดเศรษฐกิจไทยชะลอตัวรับผลกระทบสงครามการค้าจีน-มะกัน ผสมโรงการเมืองไทยไม่นิ่ง แต่เศรษฐกิจไทยพื้นฐานดีช่วยรับผลกระทบได้ระยะหนึ่ง ย้ำตั้งรัฐบาลเร็วแก้ปัญหาได้เร็ว พร้อมหารือทูตพาณิชย์ 30-31 พ.ค.นี้ ประเมินผลกระทบสงครามการค้า ดันแผนพยุงส่งออก จ่อเป้าส่งออกเหลือเท่าเอกชนต่ำกว่า 3% นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯรอบใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงแน่นอน บวกกับสหรัฐฯมองว่า ไทย manipulate หรือแทรกแซงค่าเงินบาท สภาวะอย่างนี้จะกระทบผู้ส่งออกหนักยิ่งขึ้น แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยดียังพอรองรับกับภาวะที่เกิดขึ้นได้สักระยะหนึ่ง และหากการเมืองไทยดีขึ้นทุกอย่างจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย จึงอยากให้การเมืองเร่งมือให้มีความชัดเจนเร็วที่สุด ซึ่งในช่วงสิ้นเดือนพ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกก็จะได้ใช้โอกาสนี้ประชุมกับทูตพาณิชย์ ขณะนี้ได้สั่งการให้เตรียมลู่ทางที่ชัดเจนว่าจะแก้เกมได้อย่างไร เพราะเชิงบวกต่อการส่งออกไทยก็มีเช่นกัน โดยที่ผ่านมาคิดโครงการช่วยลดการชะลอตัวเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอลงเร็ว แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียลจึงไม่ได้ดำเนินการ ช่วงนี้เวียดนามได้ประโยชน์สูงสุด เพราะการเมืองนิ่งไม่ใช่ไทยที่การเมืองไทยยังไม่ลงตัว การลงทุนในไทยจึงชะลอตัว เพราะนักลงทุนรอความชัดเจน แต่อย่ากลัว เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งนี้ในเดือนมิ.ย.62 รัฐบาลจีนจะนำคณะนักลงทุนจีนมาดูลู่ทางการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพิ่มเติม เพื่อสานต่อโครงการเส้นทางสายไหม ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามที่จะสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย,จีนกับญี่ปุ่น สำหรับสงครามการค้าส่งผลกระทบหนักกับประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพิงการส่งออกถึงร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยอาจหนักพอๆกับประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ เพราะสินค้าหลักส่งออกของไทยล้วนได้รับผลกระทบ ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มไอที สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆที่เป็นผลจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยแคบ “ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงคือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขณะนี้ภาพรวมผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำและผลิตภาพต่ำ ค่าจ้างแรงงานจึงไม่ได้รับการปรับขึ้น การผลิตส่วนใหญ่เน้นส่งออก เพราะในประเทศอำนาจซื้อไม่เพียงพอที่ส่งออกสินค้าได้อาศัยปัจจัยเงินบาทอ่อน ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ไม่แข็งแรง โดยมีรายใหญ่ประมาณ 20 บริษัทที่แข่งขันทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยจึงโตได้ดีสุดเพียงร้อยละ 4.8 ไม่ถึงร้อยละ 5 เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยจึงชะลอตัวลง เพราะไทยพึ่งพิงการส่งออก ขณะที่คนยากจนยังมีอยู่ เพราะถูกตัดโอกาส อย่างไรก็ตาม หากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะแก้ไขปัญหาได้“ ส่วนภาคการผลิตประเทศไทยมีการคิดพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ที่สำคัญคือ ภาคการเกษตร ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นนำ IoT และ BigData เข้ามาจะช่วยพลิกโฉมภาคการผลิตไทยให้เปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า วันที่ 30-31 พ.ค.62จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อประเมินสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯและจีนเริ่มรุนแรงมีการเรียกภาษีหลายกลุ่มสินค้าทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรมค่อนข้างสูง แม้ว่าไทยจะได้รับทั้งผลดีและผลกระทบ โดยคาดว่าจากมาตรการตอบโต้ทั้ง 2 ประเทศ น่าจะทำให้การส่งออกไทยหายไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2-3 ทำให้ทบทวนเรื่องนี้เร่งด่วน และคาดการณ์ว่าการประชุมครั้งนี้นอกจากจะมีการรับฟังการวิเคราะห์ทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลก เพื่อรับทราบแนวทางและทิศทางว่าการทำตลาดส่งออกหรือหาตลาดชดเชยหรือแผนเจาะตลาดต่าง ๆ จะสามารถชดเชยการสูญเสียจากมาตรการตอบโต้ทั้ง 2 ประเทศอย่างไร โดยเบื้องต้นจากที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ส่งออกปี 2562 จะเป็นบวกไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 แต่หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งปัญหาสงครามสหรัฐฯและจีน ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอน ทำให้เป้าหมายส่งออกปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์ไว้ และไม่เพียงไทยเท่านั้นผลกระทบนี้ถือว่ากระทบทั่วโลก ดังนั้น จากเหตุการณ์ต่างๆที่กล่าวมาถ้าส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตมากว่าร้อยละ 2-3 ถือว่าน่าพอใจแล้ว แต่จะเป็นอัตราบวกเท่าไหร่คงต้องรอความชัดเจนในการประชุมร่วมปลายเดือนนี้ เพราะจะมีความชัดเจนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าครึ่งปีหลังจะสามารถผลักดันการส่งออกให้เติบโตเป็นบวกเท่าไหร่ เบื้องต้นมีแนวโน้มที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอเป้าหมายใหม่ ใกล้เคียงภาคเอกชนที่ประเมินแล้วว่าปีนี้เทรดวอร์ส่งผลต่อการส่งออกทั่วโลก และมีโอกาสที่ไทยจะโตต่ำกว่าร้อยละ2-3 ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการทบทวนและวิเคราะห์ว่าสินค้าอุตสาหกรรมไทยชนิดใดได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสหรัฐครั้งนี้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยยังสามารถทำเรื่องให้สหรัฐเห็นว่าสามารถปรับลดภาษีบางกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยลดลงได้หรือไม่ ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกกังวลสหรัฐฯและจีนทำสงครามการค้าอาจทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการดูแล หากสินค้าใดเข้ามาทำตลาดทั้งปริมาณและราคาอย่างผิดปกติ ไทยมีมาตรการตอบโต้สินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว