การเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่ากำลังร้อนแรง เพราะต่างฝ่ายต่างตั้งหน้าตั้งตาหาพันธมิตรเพื่อรวบรวมเสียงให้ได้ 250 เสียงขึ้นไป ซึ่งตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 149 คน ปรากฏว่ามีพรรคขนาดเล็กจำนวน 14 พรรค ได้ส.ส.ไปพรรคละ 1 ที่นั่ง ซึ่งแบ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนเฉลี่ยได้ 3 พรรค และพรรคเล็กที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจำนวน 11 พรรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชีลำดับที่ 1
ล่าสุดทั้ง 11 พรรคได้แถลงจุดยืนทางการเมือง โดยร่วมลงสัตยาบันจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และจะยกมือสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคระรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ด้วย โดยวันนี้ “สยามรัฐ” จะพาไปเปิดประวัติ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 11 คน จาก 11 พรรค
คนแรกคือ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ จากพรรคพลังชาติไทย อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อายุ 63 ปี จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ และปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยรับราชการนายทหารพระธรรมนูญ พล.ร.9 เคยเป็นหัวหน้าเตรียมการโรงเรียนนายทหารพระธรรมนูญ
พล.ต.ทรงกลด เคยเป็นนายทหารคนสนิทรองปลัดกระทรวงกลาโหม และนายทหารฝายเสนาธิการ ผอ.กอ.รมน. เป็นอดีตฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหม และนายทหารประจำสำนักงานปลัดกลาโหม อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้พรรคนี้ถูกจับตามองตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มจดจัดตั้งพรรคว่าเป็นพรรคที่คสช.จะใช้สืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ทางพรรคก็ออกมาระบุว่าพรรคพลังชาติไทยเป็นพรรคสายกลาง ไม่ใช่กองหนุนใคร และพร้อมทำงานได้กับทุกพรรค
ต่อมาคือ “สมเกียรติ ศรลัมพ์” จากพรรคประชาภิวัฒน์ โดยได้คะแนน 69,417 คะแนน เคยเป็นอดีต ส.ว.และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อายุ 63 ปี จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นอดีตส.ส.แบบสัดส่วน สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน อดีตส.ว. จังหวัดนครสวรรค์ และเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ถัดมาคือ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” จากพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้คะแนน 60,421 คะแนน นายมงคลกิตติ์ อายุ 38 ปี เคยเป็นอดีตเลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ และเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ เคยเป็นผู้สมัครส.ส. เขตบางซื่อ (เขตเลือกตั้งที่ 11) สังกัดพรรคประชาราช แต่สอบตก ได้เพียง 1,357 คะแนน
มงคลกิตติ์ เป็นคนจ.พิษณุโลก จบการศึกษาปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภาควิชา วิศวกรรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปริญญาโทจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขา การเมืองการปกครอง สำหรับนักบริหารระดับสูง
ขณะที่ คทาเทพ เตชะเดชเรืองกุล จากพรรคพลังไทยรักไทย ได้ 60,588 คะแนน โดยพรรคนี้มี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง
ถัดมาคือ ปรีดา บุญเพลิง จากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ได้คะแนนทั้งสิ้น 56,339 คะแนน เป็นอดีตผู้นำครูประชาบาล จ.ขอนแก่น เคยร่วมกับเพื่อนครูต่อสู้ปลดแอกครูประชาบาลออกจากกระทรวงมหาดไทย รวมถึงเป็นอดีตเลขาธิการคุรุสภา โดยพรรคนี้จดทะเบียนตั้งพรรคเมื่อปี 2554 และเคยลงสนามเลือกตั้งด้วย แต่เมื่อการเมืองติดกับดัก การเคลื่อนไหวของพรรคจึงหายไป
ส.ส.บัญชีรายชื่อคนต่อมาคือ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ จากพรรคประชานิยม ได้คะแนนทั้งหมด 56,617 คะแนน เคยเป็นอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอุดมการณ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ยึดมั่นความรักชาติ สร้างพรรคของประชาชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ยงยุทธ เคยย้ำจุดขายของพรรคว่า ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเมืองมาก่อน ถือว่าเป็นคนใหม่ สด สะอาด ไม่มีมลทินทางการเมือง และก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ยงยุทธ เคยระบุว่าพรรคประชานิยม พร้อมเสนอชื่อและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้ง นโยบายของรัฐบาล คสช. ก็ตรงตามนโยบายของพรรคประชานิยมเกือบทั้งหมดด้วย
ขณะที่ พรรคประชาธรรมไทย ที่มีส.ส.คือ พิเชษฐ สถิรชวาล ได้คะแนน 47,848 คะแนน เคยเป็นอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย อายุ 76 ปี จบการศึกษาในระดับหลักสูตรอาชีวศึกษาโรงเรียนพณิชยการตั้งตรงจิต จากนั้นจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่แคลิฟอร์เนีย คอลเลจ ออฟ คอมเมอร์ซ สหรัฐอเมริกา และในระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยปาล์มบีช ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
ในอดีต พิเชษฐ ถือว่ามีความสนิทสนมกับ ทักษิณ ทั้งยังเป็นอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลนายทักษิณ อดีตผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นอกจากนี้ยังเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย
สำหรับพรรคพลเมืองไทย ส.ส.คือ ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ได้ 44,766 คะแนน เป็นอดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย และยังเป็นลูกสาวของ “เสี่ยติ่ง” สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร รวมถึงเป็นภรรยาของอดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย อย่างสืบศักดิ์ ผันสืบ และยังเคยเป็น ส.ส. เขตคลองสานมาก่อน และเนื่องจาก เอกพร รักความสุข ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค ศิลัมพา จึงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน
ถัดมาคือพรรคประชาธิปไตยใหม่ ส.ส.คือ สุรทิน พิจารณ์ ได้ 39,792 คะแนน เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคเสรีธรรมเคยเป็นหัวหน้าพรรครักษ์แผ่นดินไทย
สำหรับพรรคพลังธรรมใหม่ ส.ส.คือ ระวี มาศฉมาดล โดยได้คะแนนไปทั้งสิ้น 35,533 คะแนน เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม จบการศึกษามัธยม จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมต่อสู้ทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญ อาทิ เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 เหตุการณ์ 6 ต.ค.19 เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ที่ช่องช้าง อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎรธานี พ.ศ.2520-2525 เข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมก่อตั้งกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และร่วมก่อตั้ง กองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย เป็นต้น
และ พรรคไทรักธรรม ส.ส.คือ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค และได้คะแนน 33,748 คะแนน
รายงานพิเศษ
เรื่อง :พัชรพรรณ โอภาสพินิจ


