"ภูมิใจไทย"ประกาศ 20 พ.ค. รู้อยู่ขั้วไหน "เสรีพิศุทธ์"ชี้รัฐบาลจากขั้วที่ 3 เกิดยาก ลั่นพร้อมยก10เสียงให้ปชป.หวังสกัดสืบทอดอำนาจ พร้อมจีบ"อนุทิน"มาร่วมกับ"เพื่อไทย"พร้อมประเคนเก้าอี้"นายกฯ-คมนาคม"ให้ เตรียมถกปชป.หลัง 15พ.ค.นี้ ด้าน"11 พรรคเล็ก"แถลงจุดยืนจับขั้ว"พลังประชารัฐ"จัดตั้งรัฐบาล หนุนหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯอีกสมัย "เทวัญ"ปัดข่าว"สุวัจน์"ย่องชวน"สุเทพ"ตั้งรัฐบาล "หนูนา"ขำกระเเสมีชื่อนั่งรมว.พม. ย้ำข่าวลือก็เป็นข่าวลือ "ภูมิธรรม"ชี้ข่าวลวงมี ส.ส.เพื่อไทยกินข้าวแกนนำ พปชร. ยันจุดยืนสกัด "บิ๊กตู่"คัมแบคนายกฯรอบสอง ขณะที่"พีระพันธุ์"'เตือนระวัง"ไส้ศึก"แทรกแซงชิงหน.ปชป. เผยหากเป็นหัวหน้าพรรคฯ จะวางบทบาทเป็นเพื่อนร่วมงาน ปัดชื่อ"ถาวร-เอกนัฏ"นั่งเลขาฯในทีม ที่รัฐสภาใหม่ ถนนเกียกกาย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เดินทางมารับหนังสือรับรองความเป็น ส.ส.จากกกต. นายอนุทิน กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยขอฟังเสียงประชาชนในการจัดรัฐบาล โดยได้สั่งให้ ส.ส.ของพรรคลงพื้นที่อย่างหนักและภายในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ที่พรรคได้ ส.ส.เขต 39 เขต เพื่อขอบคุณประชาชนและจะถือโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน แม้จะอ่านความเห็นจากหนังสือพิมพ์หรือโซเชียลมีเดียแล้วก็ตาม แต่อยากจะฟังเสียงประชาชนโดยตรง เชื่อว่ายังมีเวลาอยู่ และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จะทราบความคิดเห็นของประชาชน หลังจากนั้นจะมาประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่ง ส.ส.ของพรรคจะต้องมีส่วนในการตัดสินใจในทิศทางของพรรค เพราะเราทำงานเป็นทีม ทางด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่เข้ารายงานตัว ส.ส.ถึงกระแสการให้ขั้วที่ 3 อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาล ว่า ขั้วที่ 3 อย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ มีแค่ 2 พรรค เสียงรวมกันแค่ 100 เสียง แต่ฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจ มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 พร้อมยกมือให้ นอกจากพรรคขั้วที่ 3 รวมกับฝ่ายประชาธิปไตย โอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปได้ พรรคเพื่อไทยพร้อมสละสิทธิ์ให้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายจึงอยู่ที่การตัดสินใจของ 2 พรรคนี้ "ตอนพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อช่วงเช้าที่ กกต.ผมก็ชวนให้มาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เพราะไปอยู่กับฝ่ายสืบทอดอำนาจเขาไม่ให้ความสำคัญ นายกฯ ก็ไม่ได้ กระทรวงสำคัญอย่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ก็เอาไปหมด แต่มาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย กระทรวงคมนาคมที่อยากเป็น ก็พร้อมยกให้ ที่ผ่านมานายอนุทินก็เคยพูดในเวทีดีเบตว่า นายกฯ ต้องผ่านเวทีดีเบตไม่เช่นนั้นไม่ยอมรับ นายอนุทินก็ควรมีสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน อีกทั้งผมคงพูดแทนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพียงแต่ได้ยินว่าเขาพร้อมยกตำแหน่งนายกฯ ให้ ส่วนผมไม่เอาตำแหน่งอยู่อย่างไรก็ได้" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาก็เคยชวนพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด โดยพร้อมยก 10 เสียง ส.ส.ให้ ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น นอกจากดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม ยึดอำนาจมาเขามา โกงไปโกงมา แล้วจะสืบทอดอำนาจอีก โกงเสียงประชาชนเข้ามาก็ผิดกฎหมาย ต่างชาติก็ไม่ยอมรับคนโกงอย่าแน่นอน ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เดินเข้าไปทักทาย นายชัย ชิดชอบ พร้อมพูดคุยกับนายอนุทินตอนหนึ่งว่า "ยังไงท่านอนุทิน ท่านชัยไปอยู่ฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันนะ ไปทางโน้นเขาไม่ให้อะไรคุณหรอก แต่มาทางนี้ได้เป็นนายกฯ ได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย คุณต้องการอะไรพรรคเพื่อไทยเขาให้หมด ถ้ามาทางนี้ผมพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังพยายามถามนายอนุทินอีกว่า "โอเคไหม อยากให้ร่วมฝ่ายประชาธิปไตยไหม อยากร่วมไหม ตกลงนะ" แต่นายอนุทินพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบปฏิเสธหรือตอบตกลงใดๆ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยยอมยกตำแหน่งนายกฯให้ทั้ง 2 พรรคการเมือง ใครจะเอาก็เอาฝ่ายประชาธิปไตยเขาเสียสละมาก เพื่อไทยได้ 137 เสียง เพื่อประชาธิปไตยไม่เอาตำแหน่งนายกฯ กระทรวงสำคัญก็ยังให้ ขอแค่ให้มาอยู่ร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกับปชป. จะนัดกันหลังวันที่ 15 พ.ค.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว โดย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย พร้อมด้วย พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กอีก 10 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยรักธรรม พรรคประชานิยม ร่วมแถลงจุดยืน การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดย นายสัมพันธ์ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองอยู่ในช่วงชุลมุน ประชาชนหลายคนอาจสับสนว่าหลังเลือกตั้งจะไปยังไงต่อ หากเราไม่ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อ ผู้เสียโอกาสคือประชาชนผู้มีรายได้น้อย พวกเราทั้งหมด จึงหารือร่วมกัน ก่อนจะมาแถลงจุดยืนให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าทั้ง 11 พรรคจะสนับสนุนให้มีรัฐบาลโดยเร็ว ส.ส. ทั้ง 11 คน มั่นใจว่าจะยกมือสนับสุนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ส่วนจะตั้งรัฐบาลแบบไหน พวกเราคงไม่ก้าวก่าย และ พวกเราจะสนับสนุน พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล "เราทั้ง 11 คน ยังเป็นส.ส. หากรัฐบาลทำดี เราตั้องสนับสนุน แต่ถ้ามีรัฐมนตรีท่านใด ทำงานผิดไปจากความเป็นจริง พวกเราทั้ง 11 คน พร้อมจะคัดค้าน และพร้อมดูแลพี่น้องประชาชน เช่นเดียวกับนักการเมืองท่านอื่นๆ" นายสัมพันธ์ ระบุ ขณะเดียวกัน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา(ชพน.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวต่อสภาถึงกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 ว่า ยังอยู่ที่เดิม และยังไม่มีความชัดเจนอะไร หรือมีการพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่จากพรรคใดๆทั้งนั้น เพราะเราเป็นพรรคเล็กมีเพียง3เสียง ทำอะไรได้ไม่มาก และไม่ได้คาดหวังที่จะเป็นรัฐมนตรี รวมถึงการร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐยังไม่มีการพูดคุยอะไรกัน น่าจะได้ข้อยุติช่วงใกล้เปิดสภา เมื่อถามถึงกรณีที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ไปหารือกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) เพื่อจับมือกันในการร่วมรัฐบาล นายเทวัญ กล่าวว่า เป็นการเจอกันตามปกติ ไม่มีการพุดคุยเรื่องการเมือง ไม่มีอะไรเป็นพิเศษพบกันธรรมดา ที่พรรคชาติไทยพัฒนา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเอง ว่า เรื่องนี้ตนไม่สามารถออกความเห็นได้ เพราะไม่ได้ทราบด้วยตัวเอง ก็เป็นเพียงกระแสข่าว เมื่อถามย้ำว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้รับการติดต่อจากพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ หัวหน้าชทพ. กล่าวว่า ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด เมื่อถามว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะพิจารณาปัจจัยอะไรเป็นหลักในการพิจารณาจับกับขั้วไหนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล น.ส.กัญจนา กล่าวว่า ท่าทีของพรรคชาติไทยพัฒนานั้น เนื่องจากพรรคเราเป็นพรรคขนาดเล็ก เราก็ต้องดูพรรคใหญ่ก่อนว่าเขาจะรวมกันได้อย่างไร และให้เขาติดต่อเรามาก่อน แล้วถ้ามีการติดต่อมา ภายในพรรค เราก็ต้องมีการพูดคุยหารือกันก่อน เพื่อดูว่าอะไรเป็นไปได้ที่เราสามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนและบ้านเมืองได้แค่ไหน ในมิติใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตอนนี้ยังไม่เป็นตัวเป็นตนเลย เพราะยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเป็นที่ชัดเจน เมื่อถามต่อว่า มีบางพรรคอย่างภูมิใจไทย กำหนดวันประชุมพรรคเพื่อกำหนดท่าทีแล้ว ในส่วนของชาติไทยพัฒนากำหนดประชุมวันไหน น.ส.กัญจนา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมใดๆ เพราะเราพรรคเล็ก แต่ภูมิใจไทยเขาพรรคใหญ่ ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยะชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ไปรับประทานอาหารกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือ ซึ่งขณะนี้ข่าวลือถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากและข่าวที่ถูกปล่อยออกมาล้วนแต่เป็นประโยชน์ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายอยู่กับความเป็นจริง ตนยืนยันว่า 7 พรรคการเมืองขั้วพรรคเพื่อไทย เท่าที่คุยกับหัวหน้าและเลขาธิการพรรคทุกพรรค ยังคงจับมือกันเหนียวแน่น จุดยืนสำคัญคือการสกัดกั้นไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง วันเดียวกันที่ สนง.กกต. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังจากที่เข้ารายงานตัว ส.ส.ถึงการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การทำงานของตนจะไม่เหมือนที่ผ่านมา โดยไม่มีการรวบอำนาจให้อยู่ที่หัวหน้า เลขาธิการพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพราะตำแหน่งพวกนี้เป็นแค่หัวโขน แต่ภารกิจของเราคือต้องมาฟื้นฟูพรรค ทำพรรคให้เดินหน้าและกลับมาเป็นพรรคหลักของประเทศ ดังนั้น พวกตนไม่มีใครแย่งกันเป็นเลขาธิการพรรค เพราะทุกคนก็สามารถเป็นเลขาฯ ได้ "ผมถึงบอกว่าไม่ว่าใครจะเป็นเลขาฯ หรือตำแหน่งไหน ไม่ได้เป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือเป็นผู้มีอำนาจของพรรค ดังนั้น ผมจึงให้ทีมงานไปตกลงกันเอาเองว่าใครจะอยู่ตำแหน่งไหน เพราะมีค่าเท่ากัน ทำงานเหมือนกันหมด ไม่ใช่แปลว่า พอคนนี้เป็นเลขาฯ แล้วจะกลายเป็นหัวหน้าคนอื่น และหากผมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคผมก็จะไม่ทำบทบาทเป็นหัวหน้า แต่จะเป็นเพื่อร่วมงาน ไม่มีใครใหญ่กว่าใครโดยจะทำงานเป็นทีม หรือคณะ ไม่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในพรรค" เมื่อถามว่า การที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของตัวบุคคลอาจจะกระทบต่อสมาชิกที่เป็นโหวตเตอร์ได้ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่กระทบ เพราะเวลานี้สมาชิกเข้าใจ และคิดว่าสิ่งที่ตนเสนอเป็นแนวทางใหม่ที่ต้องการเปิดกว้างให้สมาชิกมากขึ้น ส่วนที่มีข่าวว่า นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา จะมาเป็นเลขาฯ ในทีมของตนนั้น นายถาวรบอกว่าไม่รับตำแหน่ง แม้เพื่อนพิจารณาให้ก็ไม่รับ รวมถึงที่มีชื่อ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค ที่จะมาเป็นเลขาฯ ในทีมของตนก็ไม่มีเช่นกัน ซึ่งในเบื้องต้นตนให้เป็นเสรีภาพของสมาชิกที่จะเลือกว่าใครเหมาะสม ตนไม่มีสิทธิมาชี้นำ เพราะต้องการให้เป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูพรรค ต่อข้อถามว่า หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค แล้วจะนำพาพรรคไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือจะเป็นตามกระแสข่าวการเมืองขั้วที่ 3 ที่จะดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะตนไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แม้ตนเป็นหัวหน้าพรรคก็ตอบไม่ได้ เพราะข้อบังคับพรรคให้เป็นอำนาจของที่ประชุม ส.ส.และ กก.บห.และตนบอกแล้วว่าแม้จะเป็นหัวหน้าพรรคก็ขอให้ทุกอย่างอยู่ที่ที่ประชุม และหากตนเป็นหัวหน้าพรรคแล้วมีคนติดต่อมา หากแนวทางเป็นการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ปกป้องสถาบัน จงรักภักดี ก็ไปกันได้ แต่ตนคนเดียวตัดสินใจไม่ได้ ต้องให้เพื่อนๆ พิจารณาแล้วมีมติ และหากจะมีการเชิญมาก็ต้องดูว่าใครเป็นคนเชิญ เพราะวันนี้ยังไม่รู้ใครเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไปรวมได้อย่างไร วันนี้ยังไม่ถึงเวลา ไม่มีการพูดคุย และไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนตั้งรัฐบาล เราจะไปพูดล่วงหน้าทำไม พูดไปก็เกิดปัญหาอีก ส่วนกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลถึงการเลือกหัวหน้าพรรคว่าจะมีความขัดแย้ง และปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซงนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มีความขัดแย้ง เชื่อมั่นว่าในส่วนของตนไม่มีการแทรกแซงแน่นอน รวมถึงผู้สมัครทั้ง 3 ด้วย แต่ที่ตนเป็นห่วงมากกว่าคือ การแทรกแซงจากภายในพรรค