กรมชลฯ นำร่องเปิด ศูนย์น้ำอัจฉริยะแห่งแรกในภาคตะวันออก มั่นใจเพิ่มศักยภาพบริหารน้ำต้นทุนทุกมิติ โชว์แผนผังลุ่มน้ำทั้ง 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.62 นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก (Eastern Water Operation Centre) เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นศูนย์น้ำอัจฉริยะแห่งแรกในส่วนภูมิภาค สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำในระบบชลประทานภาคตะวันออกภาพรวมทั้งหมด ซึ่งจะทำให้การบริการจัดการน้ำในภาคตะวันออกมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ที่สำคัญข้อมูลที่ได้จากห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น สถาบันน้ำสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ทำงานรับใช้ประชาชนต่อไป ล่าสุดสำนักงานชลประทานที่ 9 ยังสร้างสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อสูบน้ำเติมเข้าท่อส่งน้ำของคลองพระองค์ไชยานุชิต และผันมาอ่างเก็บน้ำบางพระ ความยาวรวม 60 กิโลเมตรแล้วเสร็จ จำเป็นต้องใช้ระบบติดตามในห้องปฏิบัติการดังกล่าวติดตามสภาพน้ำระยะทางยาวและไกล ไม่ว่าเป็นการสูบ ระบายน้ำ ปริมาณน้ำเข้า (In-Flow) ปริมาณน้ำออก (Out-Flow) แบบ Real Time เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำต้นทุน ที่มาเติมให้อ่างเก็บน้ำบางพระ อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด “ระบบติดตามระยะไกลดังกล่าว จะใช้ควบคุมการสูบน้ำจากคลองพานทอง มายังท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต และควบคุมการสูบจากสถานีสูบน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิตมายังอ่างฯ บางพระ จ.ชลบุรี โดยจะสูบน้ำส่วนเกินช่วงฤดูฝนผันมาให้อ่างฯบางพระ ได้ปีละกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)” ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าว สำหรับงบประมาณสร้างศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกนั้นใช้ทั้งหมด 31.5 ล้านบาท คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 70 เหลือเฉพาะติดตั้ง Software ที่โรงสูบน้ำพานทอง ซึ่งจะเร่งรัดงานโรงสูบน้ำให้เสร็จระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน เพื่อรองรับฤดูฝน เมื่อระบบสมบูรณ์จะแสดงภาพและค่าตัวเลขน้ำจากสถานีสูบน้ำทั้งสองแห่งพร้อมโปรแกรมช่วยตัดสินใจสูบน้ำ โดยสั่งเดินระบบสูบน้ำจากห้องปฏิบัติการแห่งนี้ได้ทันที ศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกยังจะแสดงข้อมูลน้ำในระบบชลประทานทุกมิติ อาทิ แผนผังลุ่มน้ำทั้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออก ระบบติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายต่างๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี คลองใหญ่และแม่น้ำประแสร์ คลองวังโตนดและแม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำเวฬุ แม่น้ำตราด ระดับน้ำในลำน้ำ อัตราการไหล ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเวลาปัจจุบัน การสูบผันน้ำ โดยปรับข้อมูลทุกวัน แต่ถ้าอยู่ช่วงวิกฤติจะปรับข้อมูลทุก 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามอัตราการไหลของน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก ประกอบการตัดสินใจระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ หรือแม้แต่ปล่อยน้ำชะลอความเค็มช่วงฤดูแล้ง รวมถึงสถิติข้อมูลย้อนหลัง ที่ศูนย์ฯรวบรวมไว้จะช่วยอนุมานสถานการณ์น้ำได้ว่าจะท่วมหรือไม่ เกิดภาวะแล้งหรือไม่ อย่างไร เพื่อเตรียมตัวรับมือได้ทัน ทั้งนี้ ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลน้ำร่วมตรวจสอบสภาพน้ำเหล่านี้ได้ที่ www.rid9.com ซึ่งอนาคต สชป.9จะพัฒนาการนำเสนอข้อมูลให้เป็นภาพเคลื่อนไหว (Animation) ใช้กราฟเปรียบเทียบสภาพน้ำของปีต่างๆ เพื่อให้การอ่านสถานการณ์น้ำเข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงพัฒนา/ส่งเสริมบุคลากรชลประทานให้ใช้งานระบบได้เป็นอย่างดีและดูแลรักษาระบบให้มีความยั่งยืน คุ้มค่ากับการลงทุน