“สยามรัฐ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียน และในฐานะประธานสภาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ถึงสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเวทีใหญ่ ระดับโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อ “ประเทศไทย” นับจากนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าทั้งการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จะเดินหน้าไปด้วยความเข้มข้น
ดังนั้นในฐานะที่ ดร.สุรินทร์ ผู้มากประสบการณ์ มากความสามารถ อีกทั้งได้ผ่านการทำงานระดับเวทีโลก มาแล้ว ได้สะท้อนมุมมอง และนำเสนอในสิ่งที่ “ชวนคิด”ให้กับทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาครัฐ และ “รัฐบาล” เอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
- ย้อนกลับไปยังผลกระทบของความเป็นไปทั่วโลกในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ที่กระทบต่อประเทศไทย
ผมคิดว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปี 2559 นั้นไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว แต่กระทบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะการที่หลายต่อหลายประเทศนั้นหันไปสนใจในเรื่องของผลประโยชน์ของตัวเอง สนใจเรื่องความอยู่รอดของตัวเองมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เกิดขึ้นบนสมมติฐานในเรื่องการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก รวมไปถึงปัญหาความยากจนต่างๆ ซึ่งจากกรณีนี้จึงได้เกิดระบบพหุภาคีขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดสหภาพยุโรป ทำให้เกิดอาเซียน ทำให้เกิดองค์การนาโตเป็นต้น และระบบดังกล่าวนี้ก็ได้อยู่มากว่า 70 กว่าปี
แต่พอมาถึงปีที่ผ่านมา หลายประเทศก็เริ่มมาสนใจในปัญหาด้านเศรษฐกิจของตัวเอง สนใจในเรื่องอธิปไตยของตัวเอง ส่วนการแบ่งปันระหว่างกันนั้นน้อยลง ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุหนึ่งทำให้เกิด Brexit ที่สหราชอาณาจักร ทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป เพราะความรู้สึกว่าคนอังกฤษนั้นสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษ เพราะต้องเข้าไปร่วมกับสหภาพยุโรป และต้องเสียตำแหน่งงานให้กับคนต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับกรณีเดียวกันกับที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่กระทบต่อระบบพหุพาคีที่คงอยู่ตลอด 7 ทศวรรษ และต่อไปนี้นโยบายของสหรัฐฯก็คงจะเป็น “ America First” หรืออเมริกาต้องมาก่อน ต่อมาก็คงเป็น อังกฤษ เฟิร์ส ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็จะกลายเป็นการเจรจากันตัวต่อตัวกันมากขึ้น การเจรจากันแบบตัวต่อตัวก็จะทำให้กดดันกันได้ เพราะว่าไม่มีคนอื่นมาช่วยพยุงในข้อตกลง ซึ่งนี่ก็คือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องรับมือ
- ประเทศไทยควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
ประเทศไทยควรจะต้องออกมาจากประวัติศาสตร์ของตัวเอง ที่เรามักจะเคยใช้เป็นข้ออ้างและแก้ตัว ว่าเราไม่จำเป็นจะต้องปรับ ต้องเปลี่ยน ต้องเตรียมตัว เพราะเราอยู่รอดมาตลอด เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนภาษาของประเทศอื่นๆ ถึงอย่างไรเราก็อยู่รอดเพราะเราอุดมสมบูรณ์ ต่อไปนี้สิ่งเหล่านั้นไม่จะไม่แน่นอนอีกแล้ว
เพราะว่าการแข่งขันจะเข้มข้นยิ่งขึ้น ความภูมิใจที่เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครนั้นจะไม่สามารถใช้อธิบายในการเตรียมตัวเพื่อที่จะแข่งขันกับผู้อื่นในอนาคตไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าประเทศที่เขาเคยเป็นเมืองขึ้นของคนอื่น เขาอาจจะมาพิสูจน์ตัวเอง และปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าที่ประเทศไทยได้เคยทำ ดังนั้นผมคิดว่าประเทศไทยเราจะจะอยู่แบบคิดว่าไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองไม่ได้อีกแล้ว เต่ราควรจะต้องฟิตตัวเองเพื่อรับมือกับการแข่งขันเพื่อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- จุดยืนของประเทศไทยจะต้องเป็นอย่างไร ต่อการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สิ่งแรกที่ประเทศไทยต้องคิดก่อนก็คือเราจะต้องหวังพึ่งตนเอง อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ถ้าหากเราพึ่งตัวเองได้ เขาก็จะนับถือเรา ประเทศไทยก็มีผลประโยชน์ของเรา สหรัฐฯก็มีผลประโยชน์ของเขา ตรงไหนที่มีความคล้องจอง กัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ แต่ตรงไหนที่ขัดแย้งก็สามารถอธิบายให้ชัดเจนได้ว่าเราเห็นไม่ตรงกัน ขอเลือกเดินไปในแนวทางของเรา เพราะนี่คือแนวทางAmerica First ที่เน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นที่ตั้งที่จะมุ่งเน้นไปที่การเจรจากัน 2 ฝ่าย
ดังนั้นประเทศไทยต้องสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งการสร้างความเป็นตัวของตัวเองก็คือการสร้างกำลังต่อรองให้เกิดขึ้น ทั้งด้านการพัฒนาคน การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย และลดความระแวงในเรื่องคอร์รัปชั่น ทำให้เขารู้สึกว่าเมื่อเข้ามาติดต่อกับประเทศไทยแล้วไม่ได้เข้าไปในหลุมดำต้องเสียเงินตามรายทางเยอะ
เช่นเดียวกันกับระบบการเมืองที่เหมาะสม จะเลือกเดินในระบบไหน ประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับคนไทยจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขปัญหาการทุจริตได้หรือไม่ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้หรือไม่ ตรงนี้ถ้าหากประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ประเทศไทยก็จะสามารถยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีได้บนเวทีโลก แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนนั้นก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งต้องถามว่าเราพร้อมและเตรียมตัวที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนนั้นแค่ไหน จะสร้างการร่วมกันพัฒนาระหว่างกันในประเทศในอาเซียนได้แค่ไหน
- แต่ขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังมีการปฏิรูป รัฐบาลมีแนวทางชัดเจนว่า เราจะเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 เราจะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ผมคิดว่ามันเป็นจุดสะท้อนของความตระหนักว่าจำเป็นจะต้องมีการวางแผนอย่างจริงจัง และหาทิศทางอย่างเร่งด่วนและเร่งรีบ แต่ปัญหาที่ผมมีก็คือว่าทิศทางเหล่านั้น เราสามารถที่จะขับเคลื่อนได้โดยคน 68 ล้านคนหรือไม่ หรือว่าเป็นแนวคิดหรือว่าเป็นวิสัยทัศน์และทิศทางของ “คนบางกลุ่ม” ที่ไม่สามารถจะดึงเอา “คนส่วนใหญ่” ของทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความตื่นตัว
ซึ่งตรงนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะเป็นการชี้นำจากข้างบนลงมา โดยปราศจากการที่ผู้คนจะมีความรู้สึกเป็นส่วนร่วม มีความรู้สึกตื่นต้นด้วย ในอดีตนั้นระบบราชการเคยชี้นำได้ แต่ต่อไปนี้ระบบราชการอาจจะมีข้อจำกัด เพราะว่าระบบราชการก็มีสิ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขเช่นกัน โดยเฉพาะระบบราชการที่รวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็จะมีประเด็นว่ารู้และเข้าใจปัญหาของประชาชนในชายขอบ ชายแดนที่ห่างออกไปมากน้อยแค่ไหน
หรือระบบราชการมองปัญหาต่างๆจากแง่มุมแค่จากของกรุงเทพมหานคร จะคิดจะกำหนดอะไรก็คิดแค่ว่านี่คือผลประโยชน์ของส่วนกลาง นี่คือวาระและจุดมุ่งหมายของส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งก็คือการรวมศูนย์ระบบราชการ ในขณะนี้กำลังจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีกฎหมายใหม่ๆออกมา จะมีการเลือกตั้ง ต้องตามว่าเขาตอบคำถามเรื่องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่ และตอบให้ได้ว่าการมีส่วนร่วมนั้นต้องเป็นการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย มีส่วนร่วมอย่างมีนัยยะสำคัญ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายหรือไม่ หรือว่าเป็นแค่การกำหนดเอาไว้แล้ว 20 ปี รัฐบาลที่เข้ามาก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องเดินไปตามนี้ หรือว่าจะมีช่องทางที่สามารถปรับปรุงแก้ไขต่อไปได้ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ถ้าทุกอย่างถูกกำหนดจากข้างบนลงไป การขับเคลื่อนก็กลายเป็นการขับเคลื่อนของภาคราชการ ในอดีตอาจจะเหมาะสมเพราะว่าเขารู้ปัญหาของชาวบ้าน แต่ว่าในตอนนี้นั้นชาวบ้านอาจจะรู้ปัญหาของตัวเองมากกว่าที่ส่วนราชการรู้ก็ได้
- แต่รัฐบาลทหาร ก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
เขาต้องพิจารณาว่าจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานั้นต้องมาจากการมีส่วนร่วม ในช่วงระยะเวลาจำกัดนี้ เขาต้องระงับปัญหาความแตกแยก ปัญหาความรุนแรง ดังนั้นเขาก็ต้องจำกัดขอบเขตในแง่ของการมีส่วนร่วมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่ว่ามันจะยืดยาวไปแค่ไหนในอนาคต ถ้าหากประชาชนไม่มีส่วนร่วมแล้วจะแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศชาติได้ไหม อาทิ ปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาความล่าช้าของระบบราชการ ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก ปัญหาการกระจุกของรายได้ ปัญหาเรื่องการศึกษา ปัญหาด้านความยุติธรรมและการเข้าถึง
ต้องถามว่าสิ่งเหล่านี้เขาจะแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าเขาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้และทำให้ทุกคนอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย บ้านเมืองก็จะไปได้และประชาชนก็จะสมยอมกับตรงนี้ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่ปัญหาเหล่านี้ดูจะแก้ไม่ได้และทำท่าจะวนกลับไปหาจุดเดิม ทำท่าจะหนักกว่าเดิม ต้องถามว่าแล้วหลังจากนี้จะเอาอย่างไรต่อไป
- จุดแข็งของประเทศไทยคืออะไรบ้าง
ผมว่าประเทศไทยนั้นมีจุดแข็งอยู่มากมาย แต่คำถามคือจะรักษาจุดแข็งเหล่านั้นไว้ได้หรือไม่ เศรษฐกิจไทยก็ดีกว่าคนอื่น การเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรถยนต์ การแพทย์ การผลิตอาหารแปรรูปก็ดีกว่าคนอื่น รักษาไว้ได้ไหม เราเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศในภูมิภาค แล้วเราจะรักษาตรงนี้ไว้ได้หรือไม่ เพราะขณะนี้สิงคโปร์เขาก็กำลังจะสร้างเทอร์มินอล 5 แล้ว ขณะนี้เรากำลังคิดถึงแค่เทอร์มินอล 2 เอง สิ่งเหล่านี้ก็คือการรักษาความเป็นเลิศซึ่งใอยุ่หลายอย่างจากผู้นำในอดีต จากรัฐบาลในอดีต ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้
เช่นเดียวกัน มีหลายสิ่งที่ต้องปฏิรูป อาทิด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ต้องมีการลงทุนมากกว่านี้ มีการพัฒนามากกว่านี้ ที่ผ่านมามีการจัดอันดับประเทศ ไม่ว่าจะวัดแง่มุมไหน ทั้งความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ เรื่องภาษาอังกฤษ เรื่องทุจริต ทำไมประเทศไทยถึงได้อันดับที่ 8 ที่ 9 ในอาเซียน ยังไม่ติดที่ 10 เท่านั้นเอง ต้องถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ดังนั้นผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้เราถ้าไม่สามารถหันหน้าเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่มีมาตรการอย่างจริงจัง เราก็ไม่สามารถไปให้ถึง 4.0 ได้ ก็จะเป็นเพียงแค่ภาพแต่ไม่สามารถทำให้คนทั้ง 68ล้านคนมีความรู้สึกตื่นเต้นและร่วมกันเป็นเจ้าของด้วยได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดต่อไปในอนาคต
- ในแง่ของการปฏิรูปประเทศ คิดว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงวางแนวทางที่เผื่อไปถึงอนาคต ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์
ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรจะต้องทำก็คือไปกลั่นเอาแนวทาง ไปดึงและพยายามค้นหาเพชรอัญมณีหลายๆเม็ดที่พระองค์ท่านทรงค้นพบ สั่งสอน แนะนำ ในรูปของพระราชดำรัส ในรูปของโครงการต่างๆที่ทรงปฏิบัติให้เราเห็นตลอด 70 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการแก้ไขหาต่างๆนั้นไม่สามารถจะทำโดยองค์กรเดียว หรือทำคนเดียวไม่ได้
พระองค์ทรงห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหาของประเทศ และทำให้เห็นเลยว่าแค่ราชการหน่วยเดียวนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เวลาพระองค์เสด็จไปไหน ก็ต้องตามกันไปหมด ทั้งเรื่องดิน เรื่องป่าไม้ เรื่องเกษตร เรื่องไฟฟ้า ไปกันเป็นองคาพยพ ถ้าไม่มีพระองค์ระบบราชการจะทำกันเองได้หรือไม่ ถ้าไม่มีพระองค์แล้วจะบทเรียนต่างๆมาสังเคราะห์มาถอดรหัสได้หรือไม่
การเกิดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่แยกออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มาจากพระราชดำริของพระองค์ท่านที่ทรงตระหนักว่าการพัฒนาประเทศนั้นต้องการมืออาชีพ ต้องการความรู้หลากหลายสาขา และต้องมีความร่วมมือระหว่างกัน
เท่าที่ผ่านมาผมก็ไม่เห็นว่ารัฐหรือองค์กรต่างๆของรัฐจะสามารถหันหน้าเข้าหากันและคุยกันเองได้เลย เท่าที่ผ่านมาก็มีแต่ความขัดแย้ง กระทรวงนั้นไม่ยอมให้กระทรวงนี้ทำ หน่วยงานนั้นไม่ยอมให้ท้องถิ่นเข้าไปดูแล เพราะกระทรวงนั้นต้องการที่จะของบประมาณมาใช้ในปีหน้า ถ้าสภาบริหารส่วนจังหวัดหรือสภาตำบลแก้ไขปัญหาเสียแล้ว ปีหน้าก็ของบประมาณไม่ได้ ประชาชนก็กลายเป็นเหยื่อที่จะต้องมารับความขัดแย้งของหน่วยราชการต่างๆเหล่านี้
แต่พระองค์ท่านนั้นทรงทำให้เห็นว่าทุกองค์กรนั้นจะต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ดังนั้นถ้าหากเราสามารถกลั่นนำเอาเรื่องการทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการ การเปิดอกพูดคุยกันออกมาใช้ได้ ผมก็ว่านี่จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับอนาคตต่อไป เรื่องนวัตกรรมต่างๆนั้นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้เห็นเช่นกัน อาทิเรื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา เรื่องฝนหลวงเป็นต้น
ดังนั้นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว และพวกเราควรถอดบทเรียนและนำมาใช้อย่างจริงจังทั้งชีวิตส่วนตัวและในชีวิตการงาน
เรื่อง : กิตติกร แสงทอง