ช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมทริปกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พาไปสัมผัสพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยววิถีคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งพร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ชาวไทยและต่างชาติ ที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ ในเส้นทางตามรอยเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 พร้อมเปิด 4 จุดเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน สัมผัสท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่ง นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ทาง อพท. ได้นำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand พัฒนาการท่องเที่ยววิถีคลอง ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้แนวความคิด วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ อพท. และชุมชนชาวดำเนินสะดวกจะใช้เส้นทางท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นนี้ต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยจะนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก และเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในราชวงศ์จักรี 3 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ถ่ายทอดผ่านการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชน ควบคู่ไปกับเรื่องราวการค้าขาย วิถีชีวิตตามลำคลองและวิถีเกษตรแบบพอเพียง ทั้งนี้ นางสาวนิลวรรณ ทุนคุ้มทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ อพท.1 กล่าวว่า ในด้านการทำงาน อพท. ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ กำหนด 4 จุดฐานกิจกรรมในเส้นทางเดินเรือ เริ่มต้นด้วย 1. จุดวัดโชติทายการาม 2. จุดบ้านมหาดเล็กเจ๊กฮวด 3. จุดสวนเกษตรผสมผสานแม่ทองหยิบ และ 4. จุดตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งได้ชูจุดเด่นของพื้นที่พัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติวิถีริมคลอง ชิมอาหารพื้นถิ่นสูตรดั้งเดิม และเรียนรู้การทำการเกษตรในวิถีเศรษฐกิจพอเพียง วัดโชติทายการาม สำหรับการพัฒนาดังกล่าว ทาง อพท. ได้คำนึงถึงเรื่องมาตรฐานการบริการและความปลอดภัย พัฒนานักสื่อความหมายท้องถิ่น ซึ่งผ่านการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น รวมถึงการวางแผนการตลาด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวด้วยเครื่องมือการสื่อสารต่างๆ สำหรับอัตราค่าบริการ ในเส้นทางดังกล่าว ได้วางแพคเกจในราคา 750 บาทต่อคน รับจำนวนขั้นต่ำ 6 คนต่อคณะทัวร์ โดยชุมชนจะเป็นผู้บริหารจัดการนำเงินที่ได้รับไปจัดสรรปันส่วน เพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป ด้านการตลาด อพท. ได้เชิญ ททท. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า มาตรวจเยี่ยมและศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอดำเนินสะดวกและของประเทศ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีคุณค่าด้านการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการขุดคลองดำเนินสะดวก ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ และเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องราวการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 และการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ 9 เพื่อตรวจเยี่ยมราษฎรบริเวณพื้นที่คลองดำเนินสะดวก และบำเพ็ญราชกุศล ที่วัดโชติทายการาม ในปี 2510 ร่วมทริปเส้นทางต้นแบบ เริ่มต้นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ตามเส้นทางวิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน ณ คลองดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นตลาดน้ำขึ้นชื่อของประเทศไทยในปัจจุบัน เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในการสร้างเส้นทางคมนาคมระหว่างพระนครกับสมุทรสาคร โดยใช้คลองภาษีเจริญ เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางน้ำ เพื่อการเดินทางไปยัง จังหวัดสมุทรสงคราม และ จังหวัดราชบุรี ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการขุดคลอง เชื่อม 2 แม่น้ำ คือแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนโดยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ดำรงตำแหน่งเป็นพระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง  4 จุดเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งการดำเนินการขุดคลองสมัยนั้นได้ใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้านและชาวจีนร่วมกันขุด โดยใช้วิธีขุดระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ระยะหนึ่งให้น้ำเซาะดินที่ไม่ได้ขุดพังไปเอง เมื่อขุดคลองสำเร็จแล้วจึงนำแผนขึ้นทูลเกล้า ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า คลองดำเนินสะดวก โดยนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมเส้นทางต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้แนวความคิด วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน จะมาเริ่มเดินทางที่ วัดโชติทายการาม ศูนย์รวมใจชุมชนคลองดำเนินสะดวก โดยมีพระอุโบสถที่ประดิษฐาน หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย – ลพบุรี เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างในจังหวัดลพบุรี เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ ส่วน ประตูลับแล เป็นถาวรวัตถุที่สำคัญอยู่คู่มากับการสร้างวัด มีรูปเสือซึ่งเป็นนามปีของหลวงพ่อช่วง ประดิษฐานอยู่ริมคลองดำเนินสะดวกศาลาการเปรียญ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พิพิธภัณฑ์วัดโชติฯ และ พลับพลาที่ประทับเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสต้นโดยทางเรือ ทรงให้นำเรือพระที่นั่งเทียบหน้าวัดตรงศาลาการเปรียญ และอีกครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงในเทศกาลออกพรรษา ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินของประชาชนชาวดำเนินสะดวกที่ ปรารถนาจะได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ จากนั้นไปชม บ้านเจ๊กฮวดมหาดเล็ก ซึ่งมีเรื่องเล่า เมื่อครั้งกว่า 100 ปีก่อน รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นแถบเมืองราชบุรี – สมุทรสงคราม พระองค์นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการาม และได้เสร็จพระราชดำเนินเพื่อตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนตามคลองลัดพลี(คลองซอย) ผ่านบ้าน นางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ เจ้าของบ้านนำ หอม กระเทียม ตากบนหลังคาเรือน เมื่อนางผึ้งเห็นเรือคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนางก็แสดงความมีน้ำใจ ร้องเชิญให้แวะที่บ้าน พระองค์จึงเสด็จขึ้นบนบ้าน พร้อมให้ชายอายุประมาณ 20 ปีเศษ ชื่อเจ๊กฮวด เตรียมสำรับใส่กับข้าว และเชิญให้พระองค์เสวย ในขณะที่ กำลังเสวย เจ๊กฮวดซึ่งมานั่งยองๆ ดูพระองค์ แล้วก็หันไปดูพระบรมฉายาลักษณ์ที่หิ้งบูชา แล้วเอ่ยขึ้นว่า คล้ายนัก คล้ายนักขอรับ พระองค์จึงตรัสถามว่า คล้ายนัก คล้ายนักคล้ายอะไร เจ๊กฮวดบอกว่า คล้ายรูปที่บูชาไว้ พูดแล้วเจ๊กฮวดก็นำผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า แน่ใจหรือ เจ๊กฮวดก็ตอบว่า แน่ใจขอรับ พระองค์จึงตรัสชมเจ๊กฮวด ว่า ฉลาดและตาแหลมดี จะตั้งให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม นายฮวดกราบทูลว่า เอาขอรับ แล้วตรัสสั่งให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ๊กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กของพระองค์ แล้วรับสั่งให้เข้าไปเยี่ยมพระองค์ท่านที่บางกอกตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวกจึงเรียกเจ๊กฮวด แซ่เล้าว่า เจ๊กฮวดมหาดเล็ก บ้านเจ๊กฮวดมหาดเล็ก หลังจากนั้นทุกคนยังมีโอกาสชม สวนเกษตรแม่ทองหยิบ ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และวิถีเศรษฐกิจพอเพียง พลิกฟื้นจากปัญหาพื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้น้ำท่วมอยู่บ่อยๆ แต่ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนขึ้นมา ทำให้ปัญหาน้ำท่วมช่วงหน้าฝนหมดไป อีกทั้งการทำเกษตรได้เปลี่ยนไป มีการปลูกส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง และมีการปลูกผลไม้ตามฤดูกาลต่างๆ มากขึ้น โดยมีกิจกรรมถ่อเรือร่องสวนเกษตรแม่ทองหยิบ ท่ามกลางพันธุ์ไม้เกษตรและผลไม้ตามฤดูกาลที่มีทั้งพืชผักสวนผสม ไม่ว่าจะเป็น มะนาว มะพร้าว ส้มโอ มะละกอ กล้วย มะขาม ละมุด และอื่นๆ อีกมากมาย และยังได้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเกษตรกรในพื้นที่กว่า30 ราย ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์มาจัดจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาชมสวนให้หาซื้อเป็นของฝากกลับไปได้ ชมตลาดดั้งเดิมราชบุรี สวนเกษตรแม่ทองหยิบ จุดสุดท้ายจะเป็น ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ตลาดดั้งเดิมแห่งแรกของราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองลัดพลี ดำเนินสะดวก ซึ่งในอดีตตลาดน้ำแห่งนี้เป็นที่เฟื่องฟูมาก แต่เมื่อมีการสร้างถนนและมีตลาดน้ำดำเนินสะดวก(ปัจจุบัน) ขึ้นมาก็ทำให้ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนและสุดท้ายก็ปิดตัวเองในที่สุด จนปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอีกครั้ง โดยมีมุมการค้าในอดีตที่ร้านค้ายังเปิดให้บริการอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำสูตรโบราณ ร้านข้าวแห้ง ร้านกาแฟฮกหลีกาเฟย ผัดไทยอาม่า ก๋วยจั๊บน้ำพะโล้สูตรโบราณ หรือของหวานอย่าง ไอศกรีมกะทิโบราณ น้ำเต้าหู้ รวมทั้งผลไม้มากมาย ที่สำคัญยังมีพิพิธภัณฑ์ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จัดแสดงความรุ่งเรืองทางการค้าในอดีต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ภายในพิพิธภัณฑ์ จะมีเรือพายสำหรับค้าขายของชาวบ้าน เครื่องรีดทอง อุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก โดย นายสนธยา คอนกำลัง ผู้ใหญ่บ้านดำเนินสะดวก กล่าวว่า การที่ อพท. มาเป็นหน่วยงานกลาง ในการเข้ามาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีคลอง ทำให้เห็นความร่วมมือของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในความสำเร็จ จากเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในจุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของเกษตรกร ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้หลักที่มีอยู่ รวมทั้งยังเป็นการฟื้นฟูร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่เป็นเรื่องราวที่สำคัญของพื้นที่ที่เป็นวิถีของการใช้ชีวิตในริมคลองก่อนที่ความเจริญในด้านการพัฒนาประเทศจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน