หมอแนะบริโภคไข่ได้ทุกวันและทุกวัย ช่วยบำรุงสมอง และลดความเสี่ยงการเกิดอัลไซเมอร์ และการเสื่อมของเซลล์ต่างๆของร่างกาย ย้ำไม่ต้องกังวล
ไข่ไก่ อาหารที่หาซื้อได้ง่าย ทานได้ทุกวัน ไม่ว่าจะนำมาทำอาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณการบริโภคไข่ของประเทศไทย ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ที่บริโภคไข่ 300-400 ฟองต่อคน/ปี ญี่ปุ่นบริโภค 400 ฟองต่อคน/ปี จีนปริมาณการบริโภคไข่อยู่ที่ 380 ฟองต่อคน/ปี แต่สำหรับประเทศไทย ยังมีปริมาณการบริโภคไข่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ จึงมีการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคไข่ให้ได้ 300 ฟองต่อคน/ปี
น.สพ.ดร.มงคล แก้วสุทัศน์ กรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย กล่าวว่า ไข่ ถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี โดยในไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 70-80 กิโลแคลอรี่นั้น มีโปรตีนที่มีคุณค่าสูงประมาณ 7 กรัม นอกจากนี้ ในไข่ยังมีสารอาหารที่สำคัญ คือ ลูทีน ซีแซนทีน ที่มีอยู่ในไข่แดง ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนช่วยบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงการเกิดอัลไซเมอร์ ชะลอหรือลดความเสื่อมของเซลล์ต่างๆของร่างกายได้
ดังนั้น ไข่จึงเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับทุกวัย โดยปริมาณที่เหมาะสมสำหรับในช่วงวัยเด็ก ควรบริโภคอย่างน้อยวันละ 1 ฟอง ช่วงอายุ 15-40 ปี บริโภคได้วันละ 2 ฟอง ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ทานได้วันละ 1 ฟอง หรือในช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่มีปัญหาสุขภาพก็สามารถบริโภคไข่ได้วันละ 2 ฟองเช่นกัน
ปัจจุบัน ยังมีผู้บริโภคที่มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคไข่มีผลต่อคอเลสเตอรอล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคอเลสเตอรอลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คอเลสเตอรอลที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ จากพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายต้องการ เช่น การโดยรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป โดยคอเลสเตอรอลส่วนนี้มีมากถึง 75% ของร่างกาย อีกส่วนคือ สารคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากการรับประทานอาหารโดยตรง ซึ่งมีเพียง 25% เท่านั้น ดังนั้นการลดการกินไข่ ก็ไม่ได้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลต่ำลงแต่อย่างใด
ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture : USDA) ได้ถอดคอเลสเตอรอลออกจากสารอาหารที่คนอเมริกันต้องควบคุม ในปี 2558 หลังจากค้นพบว่าคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหารไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ขณะเดียวกันยังได้วิจัยเกี่ยวกับไข่ไก่ ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ทั้งกรดไขมัน DHA (Docosahexaenoic acid) และ EPA (Eicosapentaenic acid) ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของสมอง สายตา หัวใจและระบบหลอดเลือด รวมถึงช่วยป้องกันโรคสมาธิสั้นในเด็ก โดยสมองตอบสนองได้ไวขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้บริโภคไข่ไก่ และช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และโรคหัวใจ
นอกจากนี้ ยังมีผลการทดลองระหว่างคนที่ไม่รับประทานไข่ กลุ่มที่รับประทานไข่ต้ม กลุ่มที่รับประทานไข่ดาว วันละ 1 ฟอง โดยรับประทานติดต่อกันประมาณ 2 เดือน พบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ระดับของคอเลสเตอรอล ไม่ว่าจะเป็น HDL LDL ไตรกรีเซอไรด์ ไม่แตกต่างกัน การทดลองนี้่จึงพิสูจน์ให้เห็นว่าการรับประทานไข่ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอลในเลือดแต่อย่างใด
จากข้อมูลเปรียบเทียบพลังงานที่ได้จากไข่แต่ละประเภท พบว่าไข่ต้ม 1 ฟอง ให้พลังงาน 75 กิโลแคลลอรี่ ไข่ดาว ให้พลังงาน 150 กิโลแคลลอรี่ ไข่เจียวให้พลังงาน 250 กิโลแคลลอรี่ ดังนั้น ไข่ต้มจึงเป็นไข่ที่ให้พลังงานต่ำที่สุด และมีสัดส่วนระหว่างโอเมก้า 6 ต่อโอเมก้า 3 ต่ำที่สุด ซึ่งถือว่าดีต่อสุขภาพ