ชูนโยบาย5ข้อขับเคลื่อน ใช้ไอซีที, เน้นผู้เรียนศูนย์กลาง, ครูต่างชาติสำเนียงเป๊ะ, ตั้งเป้าเด็กป.1อ่านออกทุกคน และมีทักษะชีวิต-อาชีพ พร้อมเตรียมประชุมสัญจรผู้บริหารสถานศึกษาใน 6 กลุ่มเขต เริ่มเปิดเทอมใหม่นี้
นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานเปิดประชุม “ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ” ซึ่งจัดโดยสำนักการศึกษา กทม.จัดขึ้น โดยรองผู้ว่าฯได้มอบนโยบายด้านการศึกษาของกทม.ว่า กทม.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกทม.อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงแนวทางจัดตั้งโรงเรียนกีฬากทม. รวมถึงการนำหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกทม.เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกทม.ด้วย
สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของกทม. ปีการศึกษา 2562 มุ่งเน้นใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.SMART Education ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ ICTและสนับสนุนการจัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีคุณภาพเพื่ออำนวยความสะดวกในห้องเรียน 2.จัดการเรียนรู้แบบActive Learningจัดการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นนำไปใช้ในชีวิตจริง ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลายและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกกิจกรรม 3.ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร สนับสนุนให้มีครูชาวต่างชาติที่มีสำเนียงถูกต้องมาสอนนักเรียนสังกัดกทม.ให้สามารถสื่อสารได้
4.อ่านออก 100% เน้นพัฒนาการอ่าน ตั้งเป้าให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อ่านออกทุกคน โดยมีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านระดับชาติ (Reading test : RT) อยู่ในระดับปรับปรุงไม่เกินร้อยละ 5 เนื่องจากทักษะด้านการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ 5.ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ส่งเสริมปลูกฝังทักษะชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงให้เด็กมีทักษะการคิด รู้จักแก้ปัญหา สามารถจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเอง มีทักษะสื่อสาร ตัดสินใจถูกต้องเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ทีคุณภาพ อีกทั้งส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพต่างๆ ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเปิดสอนในรายวิชาเพิ่มเติมตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
รองผู้ว่าฯกล่าวว่า ในส่วนของการประชุมแนวดิ่งด้านการศึกษานั้น เดิมเป็นการประชุมเฉพาะสำนักการศึกษาและหัวหน้าฝ่ายการศึกษา ขณะนี้ได้ปรับให้มีการประชุมทั้งผู้บริหารกทม. สำนักการศึกษา ผู้อำนวยเขต และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานซึ่งกันและกัน รวมถึงรับทราบปัญหา อุปสรรคต่างๆ และเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดมากขึ้น จึงจะได้กำหนดประชุมแบบสัญจรใน 6 กลุ่มเขต โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งจะเริ่มหลังเปิดภาคเรียนใหม่