“พปชร.” เจอปัญหา ดีลตั้งรัฐบาล กุมขมับ “พรรคร่วม” กันท่า “บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก” ร่วม “รบ.ใหม่”หวั่น ตอกย้ำภาพ สืบทอดอำนาจ เป็นจุดอ่อน สังคมไม่ยอมรับ วันที่ 10 พ.ค. 62 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนาไม่พอใจการแบ่งโควต้ารัฐมนตรี เพราะไม่ยอมปล่อยกระทรวงหลักและกระทรวงเศรษฐกิจว่า ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จะลงมาเกลี่ยและจัดสรรตำแหน่งใหม่ จากเดิมที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นผู้จัดการตั้งรัฐบาล และกำหนดโควต้าเศรษฐกิจไว้ที่พปชร.ทั้งหมด แต่หลังจากเลือกตั้ง พปชร.ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจำเป็นต้องไปชวนพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ได้เสียงเกิน 251 เสียงจึงจะบริหารประเทศได้ทั้งแกนนำบางส่วนต้องเปลี่ยนวิถีคิด เพราะไม่ใช่ช่วงรัฐประหารที่รัฐบาลคสช. จะยึดทุกกระทรวงที่ต้องการเอาไว้ในมือได้ “พปชร. ต้องยอมปล่อย กระทรวงหลัก หรืออย่างน้อยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเศรษฐกิจให้กับพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง เพื่อให้การเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆเดินไปได้ และสร้างความพึงพอใจให้กับพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เป็นคะแนนเสียงเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งจะทำให้พปชร. เป็นรัฐบาลได้ เพราะหากไม่พอใจและไปตั้งรัฐบาลแข่ง หรือไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย พปชร.จะไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเพราะเราก็มีแค่115 เสียง” แหล่งข่าวระบุ แหล่งข่าวยังได้กล่าวอีกว่า ยังพบเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ตอบรับร่วมรัฐบาลกับพปชร.คือยอมรับพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้าครม.เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบบรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธที่จะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้าคสช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และบุคคลอื่นๆ ที่มาจากคสช. เข้ามานั่งในครม. เพราะเป็นการย้ำภาพสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจนโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร ถือเป็นจุดอ่อนทั้งปัญหาที่สังคมไม่ยอมรับ รวมถึงกรณีการสรรหาส.ว. จำนวน 250 คน ที่เกิดกระแสต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร แรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช้ระบบพวกพ้อง นำบุคคลในคสช. รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สมาชิกสมาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งระบบพี่ตั้งน้องมาเป็นส.ว.สรรหา สืบทอดอำนาจ 5 ปี โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง