GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เฟซบุ๊ก มีสาระความรู้ถึงความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์ต่างๆ จะวิ่งเข้ามาชนโลกว่า “โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ๆจะพุ่งเข้ามาชนโลกจนสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นั้นต่ำมากเสียจนในช่วงชีวิตของเราไม่จำเป็นต้องมานั่งกังวล แต่หากคิดไปถึงอนาคตในระยะยาวหลายชั่วอายุคน ความเสี่ยงดังกล่าวย่อมเพิ่มมากขึ้น ภารกิจ AIDA จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์หนึ่งเพื่อรองรับความเสี่ยงนั้น โดยจะส่งยานอวกาศสองลำไปยังระบบดาวเคราะห์สองดวง ซึ่งประกอบด้วยดาวเคราะห์น้อย 65803 Didymos ซึ่งมีดาวเคราะห์น้อยเล็กๆ ชื่อ Didymoon โคจรเคียงข้างกัน (แม้จะบอกว่าเล็กๆ แต่ Didymoon ก็มีขนาดใหญ่ๆพอๆ กับมหาพิระมิดแห่งกีซาเลยทีเดียว ) ยานอวกาศลำแรกมีชื่อว่า DART ถูกสร้างโดยองค์การนาซา เป็นยานที่มีขนาดใหญ่ๆ พอๆ กับตู้เย็น จะโคจรไปพุ่งชนกับ Didymoon ด้วยความเร็วราว 6 กิโลเมตรต่อวินาที โดยก่อนจะชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ มันจะเก็บภาพพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยในระยะใกล้แล้วส่งกลับมายังโลก จากนั้นยานลำที่สองของภารกิจ ที่มีชื่อว่าเฮรา (Hera) ถูกสร้างโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) จะเข้ามาทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากการชนนั้นว่าส่งผลต่อวงโคจรของ Didymoon มากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นความเป็นไปได้ถึงการเบี่ยงเบนวิถีดาวเคราะห์น้อยด้วยการส่งยานไปพุ่งชน (kinetic impactor) มากขึ้น ยานอวกาศเฮราจะศึกษาพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Didymoon รวมทั้งใช้เลเซอร์วัดมวล ขนาดและรูปร่างของมันโดยละเอียด ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างแบบจำลองว่าการชนส่งผลอย่างไรกับผิวดาวเคราะห์น้อยบ้าง จากนั้นยานอวกาศเฮราจะทำการปล่อยดาวเทียมคิวบ์แซท (Cubesat) ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก (nanosatellite) สองดวงไปเก็บข้อมูลร่วมด้วย ได้แก่ 1. APEX (Asteroid Prospection Explorer) จะตรวจจับแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมาจากผิวของดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงเพื่อศึกษาองค์ประกอบของมันว่าแตกต่างกันหรือไม่ รวมทั้งตรวจจับสนามแม่เหล็กรอบๆเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างภายในของพวกมันด้วย 2. Juventas จะวัดสนามความโน้มถ่วงของดาวเคราะห์น้อย Didymoon แล้วทำการใช้เรดาร์ความถี่ต่ำศึกษาโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวร่วมกับดาวเทียม APEX และยานแม่เฮรา ขั้นตอนสุดท้ายที่วางแผนไว้คือ ดาวเทียมคิวบ์แซททั้งสองจะลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยดวงใดดวงหนึ่งหรือทั้งสอง เพื่อทำการเก็บข้อมูลต่างๆจากพื้นผิวอย่างละเอียดเป็นอันสิ้นสุดภารกิจ ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 องค์การอวกาศยุโรปแถลงถึงสถานะล่าสุดของโครงการนี้ว่าจะนำเข้าที่ประชุมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 เพื่อทำการพิจารณาขั้นสุดท้ายว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงก็นับว่าน่าตื่นเต้นเพราะมันจะเป็นก้าวสำคัญของการพยายามลดความเสี่ยงจากดาวเคราะห์น้อย ที่ในอนาคตอันไกลโพ้น หลานเหลนของพวกเราจะได้อุ่นใจว่าพวกเราได้มองไปข้างหน้าและลงมือทำเผื่อพวกเขาไว้แล้ว อ้างอิง http://www.esa.int/…/Hera_s_CubeSat_to_perform_first_radar_… http://www.esa.int/Our_Activities/Space_Safety/Hera/DART http://www.esa.int/…/CubeSats_joining_Hera_mission_to_aster… https://en.wikipedia.org/…/File:Schematic-of-the-AIDA-missi… https://planetary.s3.amazonaws.com/…/20190412_orbit-viewer-… https://www.cosmos.esa.int/…/41ff85b8-7211-4840-b9c8-d07b6e…”