ลานบ้านกลางเมือง “ความจริงในสายธารประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มักถูกถ่ายทอดด้วยมุมมองที่หลากหลาย กลายเป็นทั้งข้อเท็จและข้อจริง” ชำระศักราช ความลักลั่นพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ เรื่องความลักลั่นของศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐนั้น ผู้สนใจประวัติศาสตร์ชาติไทยมักพูดถึงอยู่บ่อย อย่างที่เมื่อเร็วๆ นี้ (12 มี.ค. 62) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมเล่าสู่กันฟัง โดยหยิบหนังสือ “การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบาย พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ” ของ ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์มานุษยวิทยาฯ ผู้หลงใหลด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และโบราณคดี เขียนหนังสือเล่มนี้ ด้วยเห็นว่าพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกสารบันทึกข้อมูลที่เก่าที่สุดในบรรดาพงศาวดารอยุธยาที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่กลับพบว่ามีความลักลั่นของการใช้ศักราชของสองปฏิทิน คือปฏิทินจูเลียน (ใช้กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นปฏิทินที่ไม่ตรงกับปัจจุบัน) กับ ปฏิทินเกรกอเรียน (วัน เดือน ปี ตรงกับปัจจุบัน) ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้ผู้สนใจประเด็นทางประวัติศาสตร์คิดต่อไปว่า เมื่อเราใช้ปฏิทินปัจจุบันแล้วทำไมเราไม่แก้วัน เดือน ปี ที่ผิดของปฏิทินจูเลียนให้เป็นวัน เดือน ปี ปัจจุบัน เมื่อเกิดคำถามเกี่ยวกับศักราชที่ไม่ตรงกันในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยพระนารายณ์และคัดลอกต่อกันมา กับพระราชพงศาวดารที่เรียบเรียงขึ้นสมัยปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ พบว่ามีเนื้อหาสลับไปมาไม่ตรงกับฉบับหลวงประเสริฐที่เก่ากว่า ทำให้ ดร.ตรงใจ สืบค้นข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์แหล่งอื่นที่มีเหตุการณ์ร่วมสมัยกันในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารล้านนา เช่น พื้นเมืองเชียงใหม่ หรือ พื้นเมืองน่าน เอกสารจีน เช่น พงศาวดารหมิง เอกสารดัชท์ เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พบว่าลำดับเหตุการณ์หรือเนื้อความฉบับหลวงประเสริฐบางแห่งไม่เรียงลำดับกัน โดยเฉพาะกับเอกสารพื้นเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีการลำดับเรื่องราวต่อเนื่องมากกว่า ทว่าเนื้อหาของฉบับหลวงประเสริฐเป็นการรวบรวมมาจากเอกสารหลายชิ้น แต่นำมาเรียบเรียงใหม่ จึงมีโอกาสสลับกันได้ ด้วยเหตุนี้ ดร.ตรงใจ จึงได้เพิ่มกระบวนการชำระลำดับศักราชที่ตั้งชื่อว่า “การปรับแก้เทียบศักราช” (year calibration) เพื่อให้การอธิบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันในระบบศักราชที่เรียกว่า “พุทธศักราชไทยสากล” ที่ประเทศไทยใช้อย่างเป็นทางการนั่นเอง อันจะทำให้เกิดประโยชน์ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเอกสารฝ่ายอยุธยากับเอกสารอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ตรงตามลำดับเวลามากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ด้วยว่า ศักราชในฉบับหลวงประเสริฐนั้นมิใช่จะแม่นยำทุกศักราช แต่ความแม่นยำหรือไม่นั้นต้องอาศัยการพิสูจน์ด้วยการปรับแก้เทียบศักราชกับเอกสารประวัติศาสตร์อื่นๆ ดร.ตรงใจ ชี้ให้เห็นภาพความเข้าใจ “ศักราช” และ การใช้ที่ “ลักลั่น” ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา ข้อพึงระวังว่าการนำเอา “พุทธศักราชไทยประเพณี” มาใช้ปนกับพุทธศักราชที่ประเทศไทยใช้กันในปัจจุบัน จะทำให้เกิดความลักลั่น และความคลาดเคลื่อนของเวลาได้ถึง 1 ปีเลยทีเดียว ซึ่งในทางการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น ระยะเวลา 1 ปี ถือเป็นเรื่องร้ายแรงพอสมควร โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา “กรุงศรีอโยธยาสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีใหม่ของพระรามาธิบดีใน พ.ศ. ใด” หลักคิดคือ พุทธศักราชไทยประเพณี ถือเอาวันเถลิงศกเป็นวันขึ้นปีใหม่ จึงต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าวันสถาปนาผ่านวันเถลังศกไปหรือยัง ทั้งทำให้เห็นภาพ เมื่อปรับแก้วันเดือนปีสถาปนากรุงศรีอโยธยาเป็นปฏิทินแบบจูเลียนแล้วตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1351 และเมื่อปรับแก้เป็นปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียนซึ่งเป็นปฏิทินสากลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1351 นั่นคือ พ.ศ. 1894 ไทยสากล ซึ่งมีความลักลั่นของปฏิทินเกรกอเรียน และจูเลียน ทำให้คลาดเคลื่อนกันไปถึง 8 วันทีเดียว หลักคิดคือ ต้องแปลงวันเดือนปีตามจันทรคติเป็นเกรกอเรียนให้ได้ โดยการแปลงเป็นวันเดือนปีตามปฏิทินจูเลียนก่อนจึงปรับมาเป็นปฏิทินเกรกอเรียน คือเท่ากับต้องสางปฏิทินสองต่อ ดังนั้นในการปรับแก้ศักราชจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อได้ค่ามาตรฐานนั่นคือพุทธศักราชไทยสากล การศึกษาครั้งนี้ได้ปรับแก้จุลศักราชไทยและจุลศักราชพม่าให้เป็นคริสต์ศักราชก่อน จากนั้นจึงทียบเป็นพุทธศักราชไทยสากล โดยใช้เครื่องมือประกอบด้วย ตารางเทียบศักราช 5,000 ปี ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว ใช้สำหรับกำหนดวันเถลิงศกของจุลศักราช และเทียบวันนั้นกับปฏิทินคริสต์ศักราชแบบจูเลียนและเกรกอเรียน เว็บไซต์ Myanmar Calendar 1500 years ของ Yan Naing Aye ใช้ปรับแก้เทียบจุลศักราชในเอกสารพม่า เป็นปฏิทินคริสต์ศักราชได้ทั้งแบบจูเลียนเกรกอเรียน และ เว็บไซต์ Calendar Converter ใช้ปรับแก้เทียบคริสต์ศักราชแบบปฏิทินจูเลียน ให้เป็นปฏิทินเกรกอเรียน แบบย้อนกลับขึ้นไปเกิดเดือนตุลาคม ค.ศ. 1582 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มใช้ ดร.ตรงใจ หุตางกูร (กลาง) และวิทยากรร่วม ดร.ตรงใจ ได้สรุปความลักลั่นของศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ในหนังสือการปรับแก้เทียบศักราชฯ ว่า เราอาจพอบอกได้ว่าบางเหตุการณ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ก็ต่อเมื่อสืบค้นเอกสารประวัติศาสตร์จากหลายแหล่ง และเหตุการณ์ตรงกันทุกเอกสาร เหตุการณ์นั้นอาจเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเอกสารเหล่านั้นมีหนึ่งชิ้นที่เหตุการณ์ขัดแย้งกัน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ไหนเป็นเรื่องจริง “ความจริงในสายธารประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มักถูกถ่ายทอดด้วยมุมมองที่หลากหลาย กลายเป็นทั้งข้อเท็จและข้อจริง ดังนั้น การวินิจฉัยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จึงจำเป็นต้องใช้เอกสารประวัติศาสตร์ที่หลากหลายตามไปด้วย แต่ผลที่ได้ ก็อาจสรุปไม่ได้ว่าเรื่องใดเท็จ เรื่องใดจริง ดังที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ อนึ่ง หนังสือเล่มนี้เปรียบได้กับลายแทงเอกสารประวัติศาสตร์ ที่ผู้เขียนได้รวบรวมเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ของพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ เพื่อประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในการตัดสินหรือไม่ตัดสิน ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สมัยกรุงพระนครศรีอโยธยา” ดร.ตรงใจ กล่าวในหนังสือ สำหรับผู้สนใจหนังสือ “การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ” เขียนโดย ดร.ตรงใจ หุตางกูร สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร