กรมชลประทานศึกษาการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได เพื่อบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดลำน้ำ ด้านรองอธิบดีฝ่ายวิชาการนำสื่อลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเมืองแพร่-สุโขทัย ชี้ช่วยสร้างประโยชน์อย่างมาก พร้อมเร่งดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำยมที่มีการเพาะปลูกเป็นประจำในเขต อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก,อ.โพธิ์ประทับช้าง,อ.บึงนาราง จ.พิจิตร กรมชลประทานจะสนับสนุนน้ำเป็นครั้งคราว ตามความจำเป็น และเพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์ในปัจจุบัน กรมชลประทานจึงมีโครงการศึกษาการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดลำน้ำ โดยได้พิจารณาจุดที่เหมาะสม 6 แห่ง เป็นประตูระบายน้ำจำนวน 4 แห่ง ซึ่งต้องศึกษา EIA ประกอบด้วย 1.อาคารบังคับน้ำบ้านวังน้ำเย็น 2.อาคารบังคับน้ำบ้านหาดอ้อน 3.อาคารบังคับน้ำบ้านบานชื่น 4.อาคารบังคับน้ำบ้านเกาะน้อย นอกจากนี้ยังมีการพิจารณารูปแบบอาคารเป็นฝายอีก 2 แห่งคือ อาคารบังคับน้ำบ้านหาดรั่ว และอาคารบังคับน้ำบ้านสุเม่น ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องศึกษา EIA โดยขณะนี้ กรมชลประทานมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา เข้ามาศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมทั้ง 4 แห่ง ซึ่ง 2 แห่งอยู่ในเขต อ.ลอง กับ อ.วังชิ้น จ.แพร่ และอีก 2 แห่งอยู่ใน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยโครงการบังคับน้ำทั้ง 4 แห่งนี้จะช่วยเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดจนสัตว์เลี้ยง และยังช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย โดยมีพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งสิ้นกว่า 147,000 ไร่ “ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยมีการดำเนินการภายใต้แนวคิดการพัฒนาลุ่มน้ำยมแบบร่วมคิดร่วมทำ เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งโครงการ รูปแบบหัวงาน และระดับเก็บกักที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เป็นที่ยอมรับจากชุมชนเอง ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ได้รับประโยชน์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” สำหรับความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสม ขณะนี้เกือบจะสมบูรณ์แล้ว แต่เนื่องจากโครงการนี้ตั้งอยู่ในแม่น้ำยม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และเป็นโครงการประเภทประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลักของประเทศจึงจำเป็นต้องศึกษาและจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ด้านนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน และนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องของกรมชลประทาน ได้นำคณะผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อติดผลการดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมพื้นที่ อ.ลอง ซึ่งเป็นหนึ่งขั้นตอนของการดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม และเป็นโครงการที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มแม่น้ำยมเขต อ.ลอง และ อ.วังชิ้น จ.แพร่ และ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยการดำเนินงาน กรมชลประทานได้จัดให้มีการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนตั้งแค่เริ่มโครงการ โดยได้เสนอผลการดำเนินงาน และความก้าวหน้าของโครงการเป็นระยะๆ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงานของโครงการให้บรรลุผล และเป็นการสร้างการยอมรับความมั่นใจของประชาชน สำหรับความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ อ.ลอง เช่นในพื้นที่ ต.ปากกาง ประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นด้วยกับการดำเนินของกรมชลประทานในครั้งนี้ เพราะจะสร้างประโยชน์แก้ไขปัญหาในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมสนับสนุนแผนดำเนินการยอมสละพื้นที่ทำกินของตนเองให้กับกรมชลประทานเพื่อดำเนินการก่อสร้างส่วนอาคารบังคับน้ำ เช่นนายธนชัย วิริยะสกุลวานิช ซึ่งได้เสียสละพื้นที่ 50ไร่เพื่อให้การดำเนินการของกรมชลประทานแล้วเสร็จ โดยกล่าวว่า เนื่องด้วยเห็นว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับชา อ.ลอง ซึ่งถ้าไม่ร่วมมือให้ความร่วมมือแล้ว อนาคตของประชาชนในพื้นที่นี้ต้องลำบากมากขึ้น เห็นได้จากในช่วงนี้ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำมาเพื่อทำการเกษตร ส่งผลกระทบกับชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างมาก ขณะเดียวกันนายเฉลิมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศึกษความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม ประกอบด้วย 4 งานหลักคือ 1.การทบทวนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำและการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในลุ่มน้ำยม 2.การศึกษาความเหมาะสมโครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม อย่างน้อย 4 โครงการ 3. การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) 4 การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนรวมของประชาชน และงานสนับสนุนการศึกษา ซึ่งเมื่อได้ผลการศึกษาเสร็จสิ้นแล้วจะส่งไปให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้สำหรับการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำลุ่มน้ำยมในพื้นที่ จ.แพร่และสุโขทัย จะช่วยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัดที่เดิมจะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และใช้สำหรับอุปโภคบริโภค รวมทั้งจะช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยด้วย