ทหารประชาธิปไตย ภายหลังสงครามเย็น ชาวโลกต่างรู้สึกโล่งใจ เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกพังทลาย และมีการลงนามจำกัดอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ระหว่างสหรัฐฯกับอดีตสหภาพโซเวียต หรือรัสเซีย โดยประธานาธิบดีเรแกน และประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ในปีค.ศ.1987 (The Intermediate-Range Nuclear Force) แต่ไม่นานจากนั้นก็เกิดความตึงเครียดและเกิดสงครามภายในที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติเกิดขึ้นหลายจุด หลายภูมิภาค อันอาจนับได้ว่าเป็นสงครามตัวแทน เช่น การเกิดสิ่งที่เรียกว่า อาหรับสปริง (Arab Spring) ขึ้นในตะวันออกกลาง อาฟริกาเหนือ การปรับเปลี่ยนค่ายของอดีตประเทศในสหภาพโซเวียต คือ ยูเครน จอร์เจีย ตลอดจนเวนาซุเอลล่าในอเมริกาใต้ นอกจากนี้จีนได้เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลด้วยโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) ตลอดจนขยายอิทธิพลกระชับอำนาจในทะเลจีนใต้ ด้วยการสร้างสนามบิน และฐานทัพบนหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะมีผลเท่ากับเป็นการคุกคามเส้นทางเดินเรือในภูมิภาคนี้ไปสู่เกาหลีและญี่ปุ่น นอกเหนือจากแหล่งข้อมูลเบื้องต้นว่ามีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล ทั้งหลายทั้งปวงนี้นับว่าเป็นกระบวนการที่นักรัฐศาสตร์การทหารเรียกว่า “การปรับดุลอำนาจใหม่” (Rebalancing Power) ด้วยปรากฎการณ์ดังกล่าว แทนที่โลกภายหลังสงครามเย็นจะอยู่ในสภาพที่เข้าสู่โหมดของสันติภาพ ที่มีแต่ความสงบร่มเย็น ขยายขอบเขตความร่วมมือทางการค้า เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของชาวโลก ที่จะได้จากอานิสงค์ของความเจริญรุ่งเรือง จากการค้าระหว่างประเทศ การณ์กลับปรากฏว่าสันติภาพดังที่เราเห็น หรือคาดหวังกลับกลายเป็นสันติภาพที่ร้อนแรงด้วยไฟสงคราม ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “Hot Peace” ล่าสุดสหรัฐฯโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศยกเลิกข้อตกลง หรือสนธิสัญญาการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ที่ได้ทำไว้ในสมัยประธานาธิบดีเรแกนเมื่อปีค.ศ.1987 ทำให้ชาวโลกเกิดการหวั่นวิตกว่าจะเกิดการแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และขยายการติดตั้งในยุโรป โดยเฉพาะในแนวชายแดนที่ประชิดรัสเซีย ตลอดรวมทั้งในกองกำลังนาโต้ ซึ่งแน่นอนรัสเซียย่อมจะยอมไม่ได้ ก็คงต้องขยายการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางขึ้นตามแนวชายแดนของตน และตามจุดยุทธศาสตร์อื่นๆที่จะเป็นการตอบโต้ ทั้งนี้จะทำให้โลกเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม ค.ค.2019 นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีการต่อสายตรงเพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย และหนึ่งในหัวข้อสนทนาคือเรื่องการเจรจาเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ซึ่งนับว่าเป็นการริเริ่มที่ดี แต่การขยายขอบเขตของการกลับมาเจรจาหาข้อตกลงที่จะควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะพิสัยกลางที่มีความสำคัญและมีอันตรายมากกว่าพิสัยไกลนี้ ยังคงมีอุปสรรคมากมายที่จะขับเคลื่อนต่อไป ประการแรก หัวหอกสำคัญที่ดูแลเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ นายจอห์น โบลตัน และนายไมค์ ปอมปิโอ ต่างก็เป็นเหยี่ยวสงครามทั้งคู่ จึงมีมุมมองที่เป็นลบต่อสนธิสัญญาที่ผ่านมาของอดีตประธานาธิบดีทั้งหลาย โดยเฉพาะในส่วนที่ริเริ่มลงนามโดยประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต กระนั้นก็ตามทีมงานบริหารของทรัมป์ยังมองว่าข้อตกลงใดๆที่แม้จะเกิดจากฝีมือของประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ตั้งแต่ ไอเซนเฮาวร์ นิกสัน หรือเรแกน เป็นสิ่งแปลกประหลาด และทำให้พลังอำนาจของสหรัฐฯลดลง ประการที่สองบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯขณะนี้ที่โหมประโคมโดยพรรคเดโมแครต เกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้ว โดยพรรคเดโมแครตเชื่อว่าการแทรกแซงของรัสเซีย ทำให้พรรคของตนพ่ายแพ้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯที่เป็นกลางไม่เห็นด้วย และกล่าวว่ามันเป็นความผิดพลาดในการเดินหมากการเมืองของพรรคเดโมแครตเอง โดยเฉพาะการรั่วไหลของอีเมลของฮิลลารี คลินตัน ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยโอบามา อย่างไรก็ตามเดโมแครตพยายามใช้ประเด็นนี้เพื่อโค่นล้มทรัมป์ด้วยการขยายผลจากการสอบสวนโดยคณะกรรมการพิเศษที่มีนายมิลเลอร์เป็นประธาน แต่ปรากฏว่ารายงานดังกล่าวแม้จะกล่าวถึงการเข้าแทรกแซงในการเลือกตั้งของรัสเซีย แต่ก็เป็นเรื่องปลีกย่อยของการติดตามและเก็บข้อมูลเป็นหลัก ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับรัสเซียนั้นก็มีลักษณะในเชิงธุรกิจ เพราะทรัมป์เคยเป็นนักธุรกิจ และมีความสัมพันธ์ทางด้านนี้กับรัสเซียมาก่อน แต่ประเด็นคำถามก็คือว่า แล้วสหรัฐฯเคยทำการแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศอื่นไหม และเคยทำยิ่งกว่านี้ไหมเพื่อช่วยให้ผู้ที่ตนสนับสนุนชนะ แม้กระทั่งเคยใช้ซีไอเอหรือกำลังทหารไปล้มล้างรัฐบาลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตนไหม คำตอบก็ชัดเจนว่าสหรัฐฯทำมามากมายทีเดียวในหลายๆประเทศ หลายภูมิภาค เช่น ลาติน อเมริกา อาฟริกา ตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล และในบางพื้นที่ในยุโรป หรือ ยุโรปตะวันออก อย่างโปแลนด์หรือยูเครน หรือแม้แต่ในรัสเซียที่รู้กันดีว่าสหรัฐฯเข้าไปอุ้มทั้งนายกอร์บาชอฟ และ นายเยลซิน อดีตผู้นำรัสเซีย แต่กระแสที่พรรคเดโมแครต พยายามสร้างขึ้นให้สาธารณะตื่นตระหนกต่อรัสเซีย ด้วยบรรยากาศที่เรียกว่า “รัสโซโฟเบีย” ด้วยเรื่อง “รัสเซียเกต” แบบวอเตอร์เกตที่นิกสันไปแอบฟังความลับในการประชุมของดีโมแครตจนถูกบีบให้ลาออกในที่สุด ดังนั้นการเจรจาใดๆกับรัสซีย ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้จึงเป็นไปได้ยาก เพราะมีกระแสกดดันจากสาธารณะ ตลอดจนมีแรงกดดันจากกลุ่มอุตสาหรรมผลิตอาวุธ และธุรกิจพลังงานที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างสงครามในภูมิภาคต่างๆ อนึ่งทรัมป์เล่าว่าการพูดคุยกับปูติน เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.นั้น ได้ข้อคิดเห็นว่าควรดึงจีนมาร่วมเจรจาด้วย แต่จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อทรัมป์ยังคงเปิดฉากสงครามการค้ากับจีนอย่างดุเดือดอยู่ อนึ่งถ้าพูดถึงการแทรกแซงของต่างชาติต่อการเมืองในสหรัฐฯแล้ว ต้องบอกว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่เข้ามาแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายเนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้เข้ามาพูดคุยในที่ประชุมร่วมส.ส.-ส.ว. ของสหรัฐฯ และแถลงโจมตีนโยบายของโอบามาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการไม่ยอมย้ายสถานทูตไปเยรูซาเล็ม ทั้งนี้มิได้แจ้งให้ทำเนียบขาวทราบเลย อนึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาอิสราเอลจะคอยให้การสนับสนุนนักการเมืองสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.,ส.ว. หรือแม้แต่ประธานาธิบดีที่มีนโยบายสนับสนุนตน ด้วยการส่งสัญญาณให้ชาวยิว-ไซออนิสต์ที่มั่งคั่ง หรือคุมสื่อให้ร่วมบริจาคในกองทุนการเลือกตั้ง หรือลงข่าวสนับสนุนแม้กระทั่งล็อบบี้รัฐสภาให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนอิสราเอล ประการสุดท้าย กองทุนการเลือกตั้งประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างมากจากยิว-ไซออนิสต์ เพราะมีนายจาเรตคุชเนอร์ ลูกเขยชาวยิวของทรัมป์ เป็นจักรกลสำคัญ แต่ทั้งหมดนี้การกระทำของอิสราเอลถูกปิดหูปิดตามะกันชนจนไม่นับว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองของต่างชาติเลย