จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้พื้นที่การเกษตรประสบภัยน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ก่อเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกษตรกรหลายจังหวัดได้รับความเดือดร้อน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทันที พร้อมสั่งให้หน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงสั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ตรวจสอบความเดือดร้อนและลงพื้นที่เข้าหาเกษตรกร โดยเบื้องต้นเป็นให้ความช่วยเหลือ พร้อมด้วยคำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลจัดการดิน พืช และน้ำ ภายหลังน้ำลดให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะในสวนไม้ผลต่างๆ เพราะในสภาพที่น้ำท่วมขังนานๆ ทำให้ไม้ผลบางชนิดอาจจะล้มได้ ดินขาดการระบายอากาศ รากของต้นไม้ขาดอากาศออกซิเจน และต้นไม้ตายได้ ซึ่งน้ำท่วมทำให้อินทรียวัตถุในดิน เศษพืช และสัตว์ต่างๆ จะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายโดยกระบวนการที่ไม่ใช้อากาศออกซิเจน เกิดก๊าซที่เป็นพิษเป็นอันตรายต่อรากไม้ผล ทำให้ประสิทธิภาพการดูดน้ำและธาตุอาหารของพืชลดลง รากของพืชและลำต้นไม้ผลอ่อนแอลง ซึ่งจะง่ายต่อการที่โรคและแมลงจะเข้าทำลายจนเกิดความเสียหายได้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ดังนั้นหากสวนไม้ผลของเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม หลังน้ำลดลงควรปฏิบัติดังนี้ ไม่เข้าไปเหยียบย่ำใต้ต้นไม้ผลเพราะจะทำให้รากขาดและรากเน่าได้ง่าย ถ้าต้นไม้ล้มควรหาไม้ยาวค้ำยันไว้ก่อนจากนั้นให้ทำการระบายน้ำออกจากโคนต้นให้หมดเป็นการด่วน โดยการทำร่องน้ำระหว่างแถวไม้ผลให้ลึกอย่างน้อยประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นดินเลนให้ใช้เชือกผูกแล้วลากให้เป็นร่องลึกระหว่างแถว ทำให้เป็นทางระบายน้ำแล้วเอาไม้แหวกดินให้เป็นร่องเล็กๆ ที่บริเวณโคนต้นไม้ให้น้ำไหลลงสู่ทางระบายน้ำที่ทำไว้ ถ้ามีเศษพืชและสัตว์ต่างๆ ทับถมกันอยู่ควรเอาออกให้หมด เพราะการสลายตัวของเศษพืชที่ฝังดินทำให้เกิดความร้อนและก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อรากพืช นอกจากนี้อาจจะใช้ไม้ไผ่หรือท่อพลาสติกเจาะรูปักไว้โคนต้น เพื่อระบายความร้อนและก๊าซพิษออกจากโคนต้นด้วยก็ได้ พอดินเริ่มแห้งให้ทำการตัดแต่งกิ่ง เอาใบแก่และกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงออก และให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15โดยใส่ในร่องที่ขุดดินขึ้นรอบๆ ทรงพุ่ม ซึ่งความกว้างของร่องประมาณ 15 เซนติเมตร หรือใส่ที่โคนต้นไม้ในกรณีที่ต้นไม้ยังมีขนาดเล็ก ส่วนการให้น้ำในกรณีที่ดินแห้ง ถ้าเป็นพื้นที่ต่ำให้ทำการยกขอบแปลงเป็นคันดินให้สูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วม ไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร โดยขุดคูน้ำรอบๆ แปลง นำดินจากการขุดคูน้ำมาปั้นเป็นคันดิน ขอบคูให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลลงร่องน้ำ และควรขุดบ่อหรือสระน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ เพื่อใช้กักเก็บน้ำหรือระบายน้ำเมื่อฝนตกชุก และนำไปใช้เมื่อเกิดฝนทิ้งช่วง ถ้าพื้นที่เป็นดินลูกรัง ดินเหมืองแร่เก่า ดินทราย ดินแฉะ แนะนำให้ใช้วงบ่อซีเมนต์ในการปลูกไม้ผล นายสุรเดช กล่าวอีกว่า สำหรับในหลายพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังนาน ทำให้น้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น เกิดมีลูกน้ำและยุงรำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยประชาชน จึงขอแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสียและช่วยขจัดกลิ่นเหม็น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน โทร.0 2941 1565 หรือ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร.0 2579 8515