“กฤษฏา" เต้นรีบสั่ง ปลัดเกษตรฯ อธิบดีกรมกรมการข้าว-กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าตรวจสอบ สายพันธุ์ข้าวหอมพวง ข้าวจัสมิน 85 ระบาดหนักชาวนาแห่ปลูกกว่า 1 ล้านไร่ หวั่นโดนหลอกขายพันธุ์ข้าวปลอมปน พร้อมสู้ขยายเมล็ดพันธุ์ กข 79 เกือบ 2 หมื่นไร่ ชี้ข้าวพื้นนุ่มตลาดโลกต้องการมาก ลุยปลูกจริงฤดูนาปี 62 นี้
เมื่อวันที่ 7พ.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรณีนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้รับการร้องเรียนจากจากชาวนาว่า เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สั่งห้ามปลูกข้าวหอมพวง ทั้งมีผลผลิตดี โรงสีให้ราคาดี 7,500-8,000 บาทต่อตัน แล้วบอกให้ปลูกข้าว กข 41 ทดแทนจะมีโรงสีรับซื้อหรือไม่ ขณะนี้ชาวนาภาคกลางปลูกข้าวหอมพวงไปกว่า 1ล้านไร่แล้วนั้น ซึ่งตนขอทราบข้อเท็จจริงจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแนวทางแก้ไขปัญหาด่วน พร้อมกันนี้ให้นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เร่งตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวให้เกิดความชัดเจน เพื่อป้องกันความเสี่ยงผลผลิตเกิดขึ้นกับชาวนาหากมีการปลอมปนพันธุ์ข้าว หรือหลอกขายพันธุ์
ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานด้านส่งเสริมการผลิตขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งขณะนี้กรมการข้าว พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่หลากหลายพันธุ์ตามตลาดต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพันธุ์ที่รับรองแล้วให้เลือกเพาะปลูก เช่น ปทุมธานี 1, กข 43 กข 77 เป็นต้น สำหรับพันธุ์กข 77 ยังต้านทานโรคไหม้และโรคเพลี้ยกระโดสีน้ำตาลได้ไม่ดีพอ จึงพัฒนาข้าวพื้นนุ่ม ไม่ไวแสง อายุการเก็บเกี่ยว 118 วัน ต้านทานโรคแมลง คือ พันธุ์ กข 79 มีผลผลิต 800- 1.2 ตันต่อไร่
“เร่งปรับแผนจากเดิมใช้เวลา 1 ปี ในการขยายเมล็ดพันธุ์ โดยขยับจากปี63 ให้มีการปลูกจริงในปีการผลิตปี 62 เริ่มนำร่องปลูก 9พันไร่นาปีฤดูกาลนี้ ส่วนฤดูนาปรัง 62/63 ปลูก 1 หมื่นไร่ เมื่อตลาดตอบรับข้าวชนิดนี้ไปได้ดี พร้อมขยายปริมาณเมล็ดพันธุ์ และส่งเสริมให้มีการปลูกเพิ่มขึ้น ซึ่งข้าวพื้นนุ่ม ราคาไม่สูง ยังเป็นที่ต้องการมากผู้บริโภคระดับกลางของตลาดต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้าวหอมพวง และข้าวจัสมิน 85 จะมีปัญหานำมาปนกับข้าวหอมมะลิ และกระทบตลาดข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ นายกฤษฏา กล่าวว่า สั่งให้ทุกฝ่ายตรวจสอบแล้วยังไม่มีผลกระทบกับตลาดข้าวหอมมะลิ และไม่สามารถนำมาปนกับข้าวหอมมะลิได้เพราะข้าวหองพวง และข้าวจัสมิน 85 เมล็ดสั้นกว่า รวมทั้งการส่งออกมีมาตรฐานการตรวจสอบทุกขั้นตอน
ด้าน นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ชี้แจงว่า กรมการข้าว ไม่ได้มีการสั่งการในจัดการเรื่องข้าวพอมพวง ตามที่เป็นข่าวเลย ส่วนแนวทางที่กำลังดำเนินการคือการส่งเสริมข้าวพันธุ์ กข.79ซึ่งเป็นข้าวพื้นนุ่ม ให้ผลผลิตสูง และ กรมการข้าว ได้ให้การรับรองพันธุ์แล้ว เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร หวังว่าจะทดแทนเรื่องข้าวหอมพวง ซึ่งตามข่าวว่าเป็นข้าวพื้นนุ่ม ให้ผลผลิตสูง เพียงแต่ไม่ทราบที่มาของพันธุ์ที่แน่นอน
“เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมพวงที่ขายกันอยู่ยังไม่ทราบแหล่งที่มา และได้ส่งไปตรวจดีเอ็นเอแล้ว ไม่ตรงกับข้าวหอมพวงของไทยและไม่ใช่ข้าวพันธุ์จัสมิน 85 ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบที่มาของเมล็ดพันธุ์ข้าว พบการปลอมปนสูง เมื่อนำไปปลูกจะส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตข้าว และอาจไม่ได้ราคาดีตามที่โรงสีบอกไว้ อีกทั้งอยู่ระหว่างนำมาทดลองปลูกเพื่อตรวจสอบทั้งการต้านทานโรค ปริมาณและคุณภาพผลผลิต นอกจากนี้หน่วยงานในพื้นที่เตือนถึงความเสี่ยงที่จะปลูกข้าวพันธุ์นี้ แต่ไม่ได้ห้ามปลูก อย่างไรก็ตามผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ได้ใช้วิธีหลีกเลี่ยงโดยการนำไปบรรจุในถุงปุ๋ยขาว นำหน่ายระบุหน้าถุงว่าข้าวนก หรือ ข้าวไก่ จึงยังไม่สามารถจับฐานปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปนได้”นายประสงค์ กล่าว
ขณะที่ นายสำราญ สารบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่ตำบลมารวิชัย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในพื้นที่นา จำนวน 15 ไร่ เกษตรกร 1 ราย ทั้งนี้ เกษตรอำเภอเสนา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา ได้ลงตรวจสอบพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และได้ตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้เพาะปลูก ปรากฎว่าเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวจัสมิน 85 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวไม่รับรองพันธุ์ ในการนี้ เกษตรอำเภอเสนา และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวฯ ได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่ไม่ส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อีกทั้ง เพื่อตัดวงจรชีวิตในการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวของกรมการข้าวรับรองและเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น กข77, กข79 (ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวอ่อนนุ่ม) และพันธุ์ข้าว กข31, กข41, กข47, กข57
ในสถานการณ์ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสำนักงานเกษตรอำเภอเสนา ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวเพาะปลูกตามที่ตลาดต้องการ เช่น กข77, กข79, กข43 (ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม) และพันธุ์ กข ต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวพันธุ์จัสมิน 85 แต่ได้ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ ชี้แจงให้แก่เกษตรกรทราบว่า พันธุ์ข้าวจัสมิน 85 นี้ อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ กรณีเกษตรกรมีการเพาะปลูกข้าวดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ จะทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายได้ นอกจากนี้ได้รับข้อมูลจากผู้นำเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเสนาและบางซ้าย แจ้งว่า มีท่าข้าวในเขตอำเภอบางซ้าย (ไม่ระบุชื่อ) จะรับซื้อผลผลิตข้าวพันธุ์จัสมิน 85 โดยจะให้ราคาสูงกว่าผลผลิตข้าวพันธุ์ต่างๆ ตันละ 800-1,000 บาท
ทั้งนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีการดำเนินงานส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ข้าว) โดยเริ่มดำเนินงานในปี 2559 ณ ปัจจุบัน มีแปลงใหญ่ข้าวจำนวน 28 แปลง รวม 16 อำเภอ มีพื้นที่ทั้งหมด 38,418.75 ไร่ สมาชิกรวม 1,448 ราย การขับเคลื่อนส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้มีเป้าหมายในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นประเด็นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มปริมาณผลผลิต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลผลิต การจัดการด้านการตลาด โดยใช้แนวทางตลาดนำการผลิต และมีการวางแผนการผลิตและการจัดการผลผลิตร่วมกันในรูปแบบกลุ่ม ซึ่งจังหวัดฯ ได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตข้าวที่มีคุณภาพเพื่อบริโภค มีการส่งเสริมการแปรรูปเบื้องต้น โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้แปรรูป ได้แก่ โรงสีข้าว ถุงบรรจุข้าวสาร ซึ่งขณะนี้ได้มีการสนับสนุนถุงบรรจุข้าวสาร (ถุงข้าวอโยธยา) ให้แก่กลุ่มเกษตรกร (กลุ่มแปลงใหญ่/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน/กลุ่มส่งเสริมอาชีพ)ไปแล้วจำนวน 30 กลุ่ม รวม 55,170 ใบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดเข้าไปประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่สมาชิกเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลมารวิชัย อำเภอเสนา เพื่อสร้างการรับรู้ในการส่งเสริมเกษตรกรนาแปลงใหญ่และขับเคลื่อนตามแนวทางของจังหวัดฯ และกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไปพร้อมกับที่ผ่านมาได้ดำเนินการใช้โดรนเพื่อนำสารชีวภัณฑ์และเชื้อราบิวเวอร์เรีย ไปฉีดพ่นในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ที่มีการระบาดและพื้นที่แปลงนาในบริเวณใกล้เคียง