ในพื้นที่หมู่ 6 ต.วัดจันทร์ อ.สทิงพระ จ.สงขลา แต่เดิมเกษตรกรได้ทำนาข้าว ซึ่งสภาพดินนั้นเป็นดินเหนียว เมื่อเวลาที่ดินเหนียวเจอแดดหรืออากาศร้อนจัด พอดินแห้งก็จะกลายเป็นดินที่แข็ง จึงส่งผลต่อในเรื่องของการปลูกข้าว และอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ คือน้ำท่วมที่นาซ้ำซาก ราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่ได้กำไร ทางสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้เข้ามาดูแลเกษตรกรในเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแปลงนา เป็นลักษณะของโครงการขุดคูยกร่อง ซึ่งเป็นการปรับแปลงนารูปแบบที่ 3 เพื่อที่จะให้เกษตรกรได้หันมาปลูกเป็นพืชผสมผสานแทนการทำนา ซึ่งในส่วนของแปลงนี้เกษตรกรสนใจในเรื่องของมะม่วงซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนแล้วปลูกมะม่วงนั้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คนที่มารับมะม่วงจากสวนไปส่วนใหญ่นำไปแปรรูปเป็นน้ำมะม่วงปั่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และเมื่อรับประทานแบบผลสุก ก็ได้รสชาติที่ดี นางสาวสุภาวดี เรืองกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าการยกร่องสวนขึ้นมา เพื่อเตรียมจะปลูกพืชนั้น ดินก็อาจจะแข็งกระด้าง จึงมีวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ของ พด.มาช่วยในการปรับปรุงดิน จะเป็นพวกสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ปุ๋ยหมัก ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลาย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน แล้วก็ในส่วนของสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ในเรื่องของน้ำหมักชีวภาพ สำหรับใช้ในการบำรุงต้น และก็มีการดูแลแปลงด้วยการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 มีคุณสมบัติในการควบคุมและป้องกันแมลงศัตรูพืช เกษตรกรท่านใดสนใจทั้งเรื่องของโครงการแล้วก็การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา เบอร์โทรติดต่อ 074-894299-30 หรือ 1760 กรมพัฒนาที่ดินได้เลย ด้าน นายเฉลิมชัย เชาวลิต เกษตรกร กล่าวว่า หลังจากสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้เข้ามาแนะนำ จึงได้ทำการขุดยกร่องสวน ทำให้ได้รับประโยชน์เรื่องของการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ของตนเอง ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เริ่มปลูกผักมะม่วงแทนการทำนา มะม่วงที่สร้างรายได้ให้มากที่สุดคือ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตดีมาก มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนี้เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะว่ามีสีสวย มีสีเหลืองทอง มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม นอกจากนั้นยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น ไอศครีมหรือแยม ซึ่งสร้างรายได้ได้ดีอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของมะม่วง สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้แนะนำและส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูดินและปรับปรุงดิน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ ที่สามารถทำได้เองและวัสดุหาได้ในพื้นที่ของตนเอง โดยสถานีพัฒนาที่ดินสงขลากจะนำปัจจัยการผลิตมาแจกให้กับเกษตรกร เป็นการลดต้นทุนการผลิต มีผลกำไรที่เกษตรกรอยู่ได้ และเลี้ยงจุนเจือครอบครัว ซึ่งในปีนี้ผลผลิตก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 ตันหรือ 6,000 กิโลกรัม ถ้าเกษตรกรท่านใดสนใจก็อยากให้เริ่มลงมือทำทีละน้อยๆก่อน มีใจรักและก็ลงมือทำ มีปัญหาอะไรก็มาปรึกษากับสถานีพัฒนาที่ดินหรือหมอดินอาสา เมื่อดินดีแล้วก็สามารถปลูกพืชอะไรก็ได้เกือบทั้งหมด