ปฏิวัติครั้งใหญ่ลดการสอบข้อเขียน เน้นดูประวัติเป็นคนดี-มีความรู้ มีผลงานอย่างไร และสัมภาษณ์ วัดศักยภาพความเป็นผู้นำ วันที่ 13 ม.ค.2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ปรับวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และ รอง ผอ.สพท. โดยให้มีการสอบข้อเขียนน้อยที่สุด เป็นการสอบเพื่อดูพื้นฐานเท่านั้น เนื่องจากการสอบข้อเขียนไม่สามารถคัดคนได้อย่างแท้จริง และยังมีเรื่องการทุจริต โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่จะพิจารณาใน 3 ส่วน คือ 1.ประวัติว่าเป็นคนดีมีความรู้ ความสามารถหรือไม่ 2.มีผลงานที่ผ่านมาอย่างไร โดยเจ้าตัวจะต้องเป็นผู้เสนอผลงานตนเองให้คณะกรรมการพิจารณา หากผ่านการพิจารณาในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ก็จะขึ้นบัญชีซึ่งทุกคนมีสิทธิสมัครและเข้ากระบวนการคัดเลือกได้ อย่างไรก็ตามการจะสู่ขั้นตอนที่ 3.คือการคัดศักยภาพความเป็นผู้นำ โดยการสัมภาษณ์ ทั้งนี้ ในการพิจารณาประวัติรวมถึงการสัมภาษณ์ จะไม่ให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะอาจจะรู้จักกันแต่จะให้ผู้บริหารที่มีระดับตำแหน่งสูงกว่าจากหน่วยงานอื่น จำนวน 3 คนเป็นคณะกรรมการ เช่น ผู้บริหารจากองค์กรหลักอื่น ศึกษาธิการภาค ผู้ตรวจราชการ ศธ.และผู้บริหารในท้องถิ่น เป็นต้น และหากผ่านการคัดเลือกก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรมพัฒนา เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยการอบรมในภาคทฤษฎีจะใช้เวลาไม่กี่วัน ที่เหลือไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ ซึ่งการประเมินจะดูจากวิสัยทัศน์ที่ให้ไว้ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ ว่าจะทำอะไร และสามารถทำตามที่พูดไว้ได้หรือไม่ จะไม่มีการกำหนดตัวชี้วัด หรือ KPI จากส่วนกลาง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ของการเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารของ ศธ.โดยที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า อยากให้การดำเนินการในลักษณะนี้ เกิดขึ้นกับ ผอ.สถานศึกษา ด้วย โดยตนมั่นใจว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการคัดเลือกที่ให้ความยุติธรรม ไม่สามารถวิ่งเต้นได้เพราะไม่รู้ใครเป็นกรรมการสอบตนเอง และขจัดปัญหาการทุจริต ทั้งนี้ ได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.และ สพฐ.ไปจัดทำรายละเอียดและปฏิทินการสอบ เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป "ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาการสอบให้เป็นในรูปแบบเดียวกับ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คือ เปิดสอบข้อเขียนเป็นระยะ และขึ้นบัญชีไว้ก่อน ขณะเดียวกันการสอบ ผอ.สพท.และ รอง ผอ.สพท. ก็ไม่จำเป็นต้องรอเปิดสอบพร้อมกัน หาก สพท.ใดมีอัตราว่าง ก็สามารถเปิดคัดเลือกได้ เพราะคะแนนสอบถือเป็นส่วนน้อยแค่ 10% นอกจากนี้ ที่ประชุมอนุมัติย้ายรอง ผอ.สพท.จำนวน 66 รายอีกด้วย"รมว.ศึกษาธิการ กล่าว