เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ มีพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้กล่าวคำถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตำราปัญจราชาภิเษก กล่าวถึงเครื่องสำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ พระภูษาผ้ารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตร และเกือกทอง ซึ่งมีความหมายคือ พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ เครื่องประดับผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เศวตฉัตร 6 ชั้น หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น และเกือกทอง หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า วันพระบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2394 พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระมหาราชครูพราหมณ์ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร 9 ชั้น หุ้มผ้าขาว มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทองแผ่ลวด มียอด ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว ใช้แขวนหรือปักเหนือพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ในท้องพระโรงพระมหาปราสาทราชมณเฑียร ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้นจึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่การสวมมงกุฎ แต่นั้นมาจึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ใบพระขรรค์เป็นของเก่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ให้ข้าราชการจากเมืองพระตะบองนำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพุทธศักราช 2327 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับอัญมณี ใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2328 ธารพระกร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้าง ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ที่สุดส้นเป็นส้อมสามง่าม เรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่ทำด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า (สะ-เหน่า) ยอดมีรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อมา วาลวิชนี (พัดและแส้) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะเป็นพัดใบตาล ที่ใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน ขอบขลิบทองคำ ด้ามทำด้วยทองลงยา เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” ไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี เพราะวาล แปลว่า ขนโคชนิดหนึ่ง ตรงกับที่ไทยเรียก จามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแส้ขนจามรีเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือก เรียกว่า “พระแส้หางช้างเผือก” แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้พัดใบตาลและพระแส้จามรีควบคู่กันโดยเรียกว่า วาลวิชนี ฉลองพระบาทเชิงงอน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร ประธานพระครูพราหมณ์เป็นผู้สวมถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เป็นเครื่องประดับแสดงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ในที่นี้หมายถึง เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระครูพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ประกอบด้วย พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉวียงพระอังสาซ้ายพระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นสังวาลแฝดทำด้วยทองคำล้วน มีดอกประจำยาม 36 ดอก ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ดอกละชนิดสลับกันไปตลอดทั้งสาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเมื่อพุทธศักราช 2400 – 2402 เมื่อทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉวียงพระอังสาขวา และ strong>พระสังวาลพระนพ ทำด้วยทองคำล้วน มี 3 เส้น มีดอกประจำยาม ประดับอัญมณีนพรัตน์ 1 ดอก สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉวียงพระอังสาขวา พระธำมรงค์วิเชียรจินดา และ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ ทรงรับมาแล้วทรงสวม เครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เป็นฉลองพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทำจากไหมทองสลับไหมสีฟ้า กลัดกระดุมนพรัตน์ 7 กระดุม และจีบหลัง 2 กระดุม ทรงฉลองพระองค์ครุยริ้วทองพื้นสีเหลืองอ่อน ชั้นนอก ทรงสวมสายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ ประดับจักรีดารา ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นสีน้ำเงิน พระสนับเพลาเชิงงอนสีเขียว รัดพระองค์สายทองหัวฝังเพชร ถุงพระบาทแพรสีฟ้า ฉลองพระบาท (เข็ม) ไหมทองสลับสีฟ้า เครื่องราชูปโภค เป็นเครื่องใช้สอยประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งไว้ในที่พระมหากษัตริย์เสด็จประทับโดยทอดไว้บนโต๊ะเคียงข้างพระราชอาสน์ ประกอบด้วย พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ ภาชนะใส่น้ำเสวย ทำด้วยทองคำลงยา ประดับอัญมณี พานพระขันหมาก พานหมาก ทำด้วยทองคำลงยา ประดับอัญมณี พระสุพรรณศรีบัวแฉก กระโถนเล็ก ทำด้วยทองคำลงยา ประดับอัญมณี พระสุพรรณราช กระโถนใหญ่ ทำด้วยทองคำลงยาจำหลักลาย พระแสงราชศัสตราวุธ คือ อาวุธของพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญเช่น 1. พระแสงราชศัสตรา ดาบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่เมืองสำคัญต่างๆ เป็นพระแสงอาญาสิทธิ์แทนพระองค์ในการปกครอง 2. พระแสงอัษฎาวุธ อาวุธที่ใช้ตั้งแต่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีสำคัญ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมี 8 พระองค์ ได้แก่ พระแสงตรี พระแสงจักร พระแสงธนู พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงหอกเพชรรัตน์ หรือพระแสงหอกชัย พระแสงดาบเชลย พระแสงดาบมีเขน 3. พระแสงดาบคาบค่าย ดาบ ฝักและด้ามทำด้วยทองคำ 4. พระแสงดาบใจเพชร ดาบ ฝัก และด้ามทำด้วยทองคำฝังเพชร 5. พระแสงเวียด ดาบ ฝัก และด้ามทำด้วยทองคำ พระเจ้าเวียดนามญาลองถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 6. พระแสงฟันปลา ดาบ มีลายที่ใบดาบลักษณะคล้ายฟันของปลา ฝัก และด้ามทำด้วยทองคำ 7. พระแสงแฝด ดาบ มี 2 เล่ม ซ้อนอยู่ในฝักเดียวกัน ฝัก และด้ามทำด้วยทองคำ 8. พระแสงฝักทองเกลี้ยง ดาบ ฝัก และด้ามทำด้วยทองคำ