ทหารประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยการเชื้อเชิญต่างชาติให้มาลงทุนด้วยรายการ ลดแลก แจกแถม และเปิดกว้างข้อกฎหมายเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือผ่านกฎหมายพิเศษ คือ โครงการ EEC คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก ถึงขนาดที่ต้องยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่การมุ่งเน้นด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับจะทำให้ช่องว่างของรายได้ ระหว่างคนยากจนกับคนร่ำรวย ยิ่งห่างออกไปทุกที และการมุ่งเน้นเทคโนโลยีไฮเทค แต่ทอดทิ้งพื้นฐานสำคัญ คือ การเกษตรของไทย ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตกล่าวคือ 1.การจะก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยีได้นั้น จะต้องทุ่มเทอย่างมากในเรื่องการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา และการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างใช้งบประมาณทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ต่ำว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการศึกษาอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต้องใช้เวลานับ 10 ปี สำหรับประเทศไทยเราใช้งบประมาณน้อยมาก ในด้านวิจัยพัฒนา (R&D) อย่างมากไม่เกิน 0.1 – 0.2 % ทั้งนี้เพราะเราไม่มีเงินลงทุนพอในด้านนี้ ซึ่งก็มีความเสี่ยงสูงในการลงทุน คนก็ไม่พร้อม ดังนั้นธุรกิจเอกชนจึงนิยมนำเข้าซื้อหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่การขาดความมุ่งมั่นที่จะมาพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างที่เรียกว่า ลอกเลียนและพัฒนา C&D (Copy and Development) อย่างที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ทำมาจนเป็นประเทศพัฒนาในปัจจุบัน แต่ไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้นการที่รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค เราก็ได้แต่นำเข้าความรู้เหล่านี้ โดยบริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาประกอบการใช้ทรัพยากรในไทย ที่ราคายังถูกอยู่ ส่งออกขายต่างประเทศ แล้วนำกำไรกลับบ้าน ที่เหลือก็คงเป็นเศษเนื้อเพราะเราลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษี ส่วนคนงานก็คงเป็นได้แค่แม่บ้านกับภารโรง เพราะเขาใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและ AI ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมงาน ที่สำคัญเขาจะทิ้งของเสีย ทั้งทางน้ำและทางอากาศให้เป็นภาระของเรา ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมจากจีนก็คงเข้าใจได้ว่า นักธุรกิจเหล่านี้ ไม่ค่อยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่บ้านเกิดเขาเท่าไร แต่ก็ใช่ว่าจิตสำนึกของนักลงทุนตะวันตกจะดีกว่ามากเท่าไร ตราบใดที่กำไรยังเป็นแรงจูงใจสำคัญในการประกอบธุรกิจ 2.การทอดทิ้งภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และการเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาควบคุมกลไก ทั้งการผลิต การตลาด และการลงทุน จะทำให้เกษตรกรรายย่อยค่อยๆล้มตาย และถูกแย่งชิงเอาทรัพยากรสำคัญในการผลิตคือที่ดินไป เพราะไม่สามารถต่อสู้ทางเศรษฐกิจได้เลย ด้วยเหตุดังกล่าวช่องว่างทางรายได้ก็จะยิ่งถอยห่างออกไปทุกที แม้ว่าในภาพรวมทางเศรษฐกิจจะดูดี เช่น ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังเติบโตได้พอควรก็ตาม แต่ผลของความเติบโตก็ไปกระจุกตัวกับคนระดับบนในขณะที่คนรากหญ้า ยังคงยากจน พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำเพราะไม่มีการพัฒนาเพิ่มมูลค่าต่อยอด แต่นายทุนคุมการตลาดและเอาส่วนแบ่งไปเกือบหมด โดยแทบไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเหมือนเกษตรกร การแจกเงินคนยากจน จึงไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน แต่การใช้นโยบายที่ชาญฉลาดในการแก้ปัญหา ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างการเจริญเติบโต การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี จึงเป็นหลักสำคัญที่ต้องพิจารณา การใช้แนวทางเศรษฐกิจสีเขียวจึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่มีพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรมมายาวนาน การสะสมองค์ความรู้จึงมีมานาน และไม่ยากต่อการต่อยอด เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ หากเรานำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ลดการใช้และพึ่งพาสารเคมี จนสามารถนำไปสู่การเกษตรแบบชีวภาพ (Organic) ได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มการเกษตรโลก สำหรับคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงสุขภาพ และการบริโภคโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนแนวทางที่จะเพิ่มพูนความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับพืชและสัตว์ผ่านการศึกษาพันธุกรรมอย่างเหมาะสม ตลอดจนการพัฒนากลไกตลาดโดยใช้เทคโนโลยีด้านไอทีส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้มีความสามารถที่จะแข่งขันกับทุนรายใหญ่ได้ ด้านการเงินรัฐบาลควรพัฒนาโครงสร้างตลาดทุนเสียใหม่ ไม่ใช่เพียงการพึ่งพาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ควรขยายโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยในรูปแบบ Micro หรือ Nano Finance เพื่อให้เกษตกรได้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนด้านการผลิตนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพแล้ว ก็ควรจะส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอันเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรรายย่อยเพิ่มขึ้น ในอนาคตเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจาก 6,000 ล้านไปสู่ 9,000 ล้าน ในช่วง 2-3 ทศวรรษนี้ และสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารดีมีคุณค่าต่อสุขภาพก็ยิ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น หากประเทศไทยที่เคยตั้งเป้าจะเป็นครัวของโลก และต้องการจะทำอย่างเป็นจริงเป็นจังไม่ใช่แค่วาทกรรม แต่ปล่อยให้ทุนใหญ่ทางด้านการเกษตรได้เข้าควบคุมการผลิตอาหาร ก็มีแนวโน้มว่าธุรกิจเหล่านั้นที่มุ่งหวังกำไร จะต้องผลิตอาหารขยะเพราะมีต้นทุนต่ำออกขายให้แก่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรายได้ต่ำ ผลคือประชากรส่วนใหญ่มีสุขภาพที่ย่ำแย่ลง เป็นภาระด้านสาธารณสุขของชาติ และสิ้นเปลืองงบประมาณอันเป็นภาระอย่างมาก และเมื่อคุณภาพของประชาชนต่ำลง กำลังการผลิตก็จะลดทอนลงไปอีก จนในที่สุดทุนใหญ่ที่เข้ามาครอบงำกระบวนการ ต้องหันไปพึ่งพาเครื่องจักรอัตโนมัติ แล้วคนเหล่านั้นจะไปทำอะไร นอกจากจะกลายเป็นส่วนเกินในสังคม รัฐบาลจึงต้องทบทวนนโยบายให้รอบคอบ อย่าเห็นต่ประโยชน์เฉพาะหน้า แต่ต้องพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ตัวอย่างที่เห็นชัดของการพัฒนาที่สวนทางคือ การส่งเสริม EEC อย่างไม่ลืมหูลืมตา จนทำลายสภาพแวดล้อม และแหล่งผลิตอาหารสำคัญอย่างการสร้างอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่บางประกง อันเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ