ดูความชำนาญ-ปริมาณชั่วโมงสอน/ตั้งทีมวิเคราะห์หลักสูตรอบรมนับเป็นคะแนน วันที่ 12 ม.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหาระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ได้มาซึ่งวิทยฐานะและการเลื่อนตำแหน่งของครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยตนจะน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวปฏิบัติที่จะต้องให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพ คือ การเลื่อนตำแหน่งหรือการได้วิทยฐานะต้องดูที่ความชำนาญ ผลงาน และศักยภาพของคนนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับการสอบลดลง แต่พิจารณาปริมาณชั่วโมงการสอน จำนวนวิชาที่สอน กลุ่มเด็กที่สอน เช่น เด็กพิเศษ เป็นต้น หรือการพัฒนาตนเองด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกหลักสูตรจะสามารถนำมาใช้ในการนับคะแนนได้ "อย่างไรก็ตาม ผมได้ตั้งทีมที่จะนำหลักสูตรการอบรมต่าง ๆ มาวิเคราะห์แล้วว่าจะนับเป็นคะแนนได้หรือไม่อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายหลักสูตรที่อบรมโดยไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูเลย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะไม่สามารถนำมานับคะแนนได้ แต่ก็จะไม่ห้ามจัดอบรม หรือห้ามเข้ารับการอบรม ใครจะทำก็ได้ แต่เอามานับคะแนนไม่ได้ รวมถึงจะยกเลิกวิธีประเมินทั้งหมด ให้เป็นระบบการประเมินที่ง่ายและตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น และจะต้องไม่ใช้ผู้ประเมินที่มาก โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ ก.ค.ศ.เสนอรายละเอียดให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณา วันที่ 13 ม.ค.นี้" นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า แม้แต่ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ศธ. จัดทำซีดีถ่ายทอดการสอนของที่เก่ง หรือติวเตอร์ เพื่อมอบให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศนั้น หากครูผู้สอนได้ดูซีดีไปพร้อมกับเด็ก ก็ถือเป็นการพัฒนาตนเอง เนื่องจากได้เรียนรู้เทคนิควิธีการจากครูที่เก่ง ก็สามารถนำมานับเป็นคะแนนเลื่อนวิทยฐานะได้ อย่างไรก็ดี เรื่องการประสานครูเก่ง หรือติวเตอร์มาช่วยถ่ายทอดเทคนิควิธีการสอนนั้นเชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะคนเก่งนี้พร้อมที่จะมาช่วย เพราะได้คุยกันเบื้องต้นแล้ว