เริ่มนับหนึ่งกันแล้ว สำหรับ “เรวะ” ศักราชใหม่ แห่งประชาชาว “ซามูไร” นิกเนมของ “ญี่ปุ่น” ภายหลังจากมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฏราชกุมาร” พระชันษา 59 พรรษา ขึ้นเถลิงราชย์เป็น “สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ” ซึ่งเป็น “สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่น” สืบราชสันตติวงศ์ เมื่อวันพุธที่ 1พ.ค.นี้ ต่อจาก “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” พระราชบิดาของพระองค์ พระชันษา 85 พรรษา ที่ทรงสละราชสมบัติไปเมื่อวันอังคารที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 200 ปี เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของญี่ปุ่น ที่มีการสืบราชสมบัติกันในขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อน ยังทรงพระชนม์อยู่ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่สืบราชย์กันก็เมื่อภายหลังที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อน สวรรคตไปแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ซึ่งสละราชสมบัติ แต่จะทรงสถานะสมเด็จพระจักรพรรดิเฮเซ ตามรัชศกในรัชสมัยของพระองค์ พร้อมๆ กับการขึ้นเถลิงถวัลย์ไอศวรรยาของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ก็มาพร้อมกับยุคใหม่แห่งนามว่า “เรวะ” ด้วย ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของญี่ปุ่น ที่ต้องขนานนาม “ยุค” หรือ “ศักราช” ตามสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิแต่ละพระองค์ เรียกว่า “รัชศก” หรือ “รัชสมัย” ตามบรรดาเหล่านักปราชญ์ ราชบัณฑิต ประชุมหารือ และมีมติเห็นพ้องต้องกัน นายโยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ประกาศนาม “เรวะ” รัชศกใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” ได้ทรงสละราชย์ไปแล้ว แต่ทว่า สถานะความเป็นองค์สมเด็จพระจักรพรรดิหาได้สลายไปไม่ โดยพระองค์ยังคงความเป็นองค์สมเด็จพระจักรพรรดิอยู่ต่อไปในพระนามว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิเฮเซ” ซึ่ง “เฮเซ” ที่ว่า ก็คือ “รัชศก” หรือ “รัชสมัย” ของ “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” ที่ทรงครองราชย์ มานาน 30 ปี อันเริ่มรัชศกมาตั้งแต่ช่วงปี 2532 โดยเมื่อว่ากันตามรัชศกแล้ว ก็ต้องบอกว่า ปีนี้เป็นที่ 30 แห่งรัชศกเฮเซ ทั้งนี้ ในความเป็น “สมเด็จพระจักรพรรดิเฮเซ” ของพระองค์ ก็จะทรงสถานะต่อไปจวบจนพระชนม์ชีพของพระองค์เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อกล่าวถึงพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรของพระองค์แล้ว ก็ต้องยกย่องเทิดพระเกียรติพระองค์ว่า ทรงสถิตในดวงใจที่มิใช่แต่เฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น ทว่า ยังรวมถึงชาวโลกด้วย ของที่ระลึกทำเป็นตุ๊กตาแมวถือป้ายนามรัชศกเก่า “เฮเซ” (ซ้าย) และรัชศกใหม่ “เรวะ” กล่าวถึง “เรวะ” รัชศกใหม่ ที่เพิ่งเริ่มขึ้นนับหนึ่งตั้งแต่วันพุธนี้นั้น ตามความหมายของอักษรที่ทางนักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญ มีมติเลือกนามรัชศกจากบทกวี “มังโยชู” กวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นนั้น แยกอธิบายคำว่า “เร (Rei)” ก็หมายถึง ความมีระเบียบ ความมีสิริมงคล ส่วนคำว่า “วะ (Wa)” หมายถึง ความสามัคคี กลมเกลียว และความมีสันติภาพ ซึ่งความหมายข้างต้น ก็จะเป็นปรัชญาแนวความคิด สำหรับ การเป็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทั้งในประเทศ และวิเทโศบาย คือ การต่างประเทศ ระหว่างที่พระองค์ทรงราชย์นับจากนี้ ว่ากันตามความคิดเห็นของประชาชาวซามูไร คือ พสกนิกรชาวญี่ปุ่น ที่มีต่อการดำเนินไปแห่ง “เรวะ” รัชศกใหม่ ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะนั้น ตามการสำรวจความคิดเห็น หรือการจัดทำโพลล์ โดยสำนักต่างๆ ได้แก่ “หนังสือพิมพ์ไมนิจิชิมบุน” หรือ “ไมนิจิ โพลล์” ก็ระบุว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่น นิยมชื่นชมกับนามแห่ง “เรวะ” รัชศกใหม่ ซึ่งมาแทนที่ “เฮเซ” รัชศกเก่า ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ด้วยจำนวนร้อยละ 65 ส่วนผู้ที่ไม่ชื่นชอบ มีจำนวนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ขณะที่ ผู้ไม่สนใจต่อนามแห่งรัชศกใหม่นี้มีจำนวนร้อยละ 17 ส่วนตัวเลขที่เหลือ คือ ร้อยละ จำนวนของผู้ที่ไม่ออกความคิดเห็น ทางด้าน การสำรวจความคิดเห็นโดย “จิจิ เพรสส์ (Jiji Press)” สำนักข่าวชื่อดังแดนปลาดิบ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแขวงชูโอ กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ก็พบว่า ประชาชาซามูไร ต่างปลื้มใจกับนามแห่ง “เรวะ” รัชศกใหม่ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีจำนวนถึงร้อยละ 84.8 ส่วนผู้ที่ไม่เป็นปลื้มมีจำนวนเพียงร้อยละ 10.4 ใช่แต่เท่านั้น ในการสอบถามชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นทั้งอนาคต และพลังการขับเคลื่อนแดนซามูไร ให้เดินหน้าต่อไปนั้น ว่าคิดเห็นอย่างไรต่อรัชศกเรวะที่เพิ่งเริ่มดำเนินไปนี้ ก็ปรากฏว่า เบื้องต้นล้วนมีทรรศนะว่า “เหมาะสมยิ่ง” พร้อมกับความคาดหวังว่า “เรวะ” รัชศกใหม่ จะให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางสังคม ที่นับวันจะซับซ้อนมากขึ้นด้วย ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามบางคน ก็ระบุว่า อยากเห็นญี่ปุ่นมีความสงบสุข โดยเฉพาะด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ประเทศของพวกเขายังคงเผชิญหน้ากันอยู่เนืองๆ เช่น เหตุแผ่นดินไหว เป็นต้น ส่วนเรื่อง “สันติภาพ” นั้น หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้เข้าสู่สงครามรบราฆ่าฟันใครต่อใครเฉกเช่นเมื่อครั้งอดีตแล้ว แต่ทว่า ญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับด้านนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ตอบแบบสอบถามอีกจำนวนหนึ่ง แสดงทรรศนะอย่างให้ความหวังว่า “เรวะ” รัชศกใหม่นี้จะเป็นยุคที่เปรียบเสมือนดอกไม้ที่กำลังจะเบ่งบาน และขอให้สมัยแห่งความหวังของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ หลังเผชิญหน้ากับสภาวะที่หายไปทางเศรษฐกิจมาหลายทศวรรษ ประชาชน รอเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระจักรพรรดิ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่บริเวณด้านหน้าพระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น