เยาวชนชาวอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล กำลังช่วยกันแต่งหน้ากันอย่างสนุกสนานเพื่อเตรียมตัวแสดงรองแง็ง การแสดงพื้นบ้านชาวเลที่กำลังจะสูญหายไปให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
น.ส.แสงโสม หาญทะเล ครูชาวเล โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง บอกว่า การแสดงศิลปวัฒนธรรมรองแง็งเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ชาวเล ใน 3 จว.สตูล ภูเก็ต และ กระบี่ โดยใช้ภาษามลายูขับร้องเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของผู้คนบนเกาะ อย่าง “ เพลงระบำผักบุ้งที่แปลเป็นภาษาไทย บอกเล่าเกี่ยวกับสตรีที่ออกไปเก็บผักบุ้งมาทำกับข้าวให้สามีแต่มัวแต่เต้นระบำไม่ได้ผักบุ้งกลับมา ตกตอนเย็นก็กินแต่ข้าวเปล่า”
โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง (บนเกาะหลีเป๊ะ) จะเป็นแกนหลักในการบ่มเพาะเด็กๆ ชาวเลให้ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ด้วยการจัดตั้งหลักสูตรอัตลักษณ์ให้รู้ความเป็นตัวตนของตัวเอง โดยบ่มเพาะตั้งแต่ชั้น ประถม 1 ไปถึง มัธยม 3 เด็ก ๆต้องสืบสานศิลปวัฒนธรรมชาวเลได้
นางแส้หนา เกาะสิเร๊ะ นักร้องนำรองแง็งชาวเลเกาะหลีเป๊ะ วัย 73 ปี ยอมรับว่า เวลาที่ล่วงเลยทำให้การแสดงรองแง็งของชาวเลเริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา เยาวชนชาวเลไม่ค่อยสนใจมากนักโชคดีที่ยังมีโรงเรียนบ้านเกาะอาดังพยายามสอนและผลักดันในเด็ก ๆเหล่านี้ได้แสดงระบำรองแง็งได้ บางคนตีกลองรัมนาได้ เครื่องมือบางชิ้นอย่างไวโอลินก็เริ่มหายไป
ส่วนใหญ่การแสดงรองแง็งจะแสดงเฉพาะงานประเพณีลอยเรือ งานแก้บน ปัจจุบันโรงแรม รีสอร์ต เรียกใช้บริการให้นักท่องเที่ยวชม และร่วมสนุกกับการแสดงรองแง็งของชาวเลได้อย่างเป็นกันเอง
ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กๆ จะรับจ้างแสดงตามรีสอร์ตตามผู้ประกอบการ ค่าจ้างครั้งละละ 2,000 ถึง 3,000 บาทหากเป็นวงใหญ่ครบชุด 10,000 บาท นำมาเป็นค่าชุดค่าแรง