คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น คำว่า “แนวธรรม” ในที่นี้ หมายถึง แนวปฏิบัติและคำสอน (ของวัดพระธรรมกาย) ทั้งๆ ที่พระห่มจีวรแบบพระสงฆ์ไทย (ซึ่งเป็นนิกายเถรวาท) ยกเว้นหลวงพ่อพระธัมมชโย-เจ้าสำนัก ซึ่งใช้จีวรเป็นเครื่องนุ่งห่ม (เหมือนพระสงฆ์ไทยทั่วไป) แต่ออกแบบต่างออกไป รวมถึงมีผ้าคลุมไหล่แทนที่จะเป็นผ้าสังฆาฏิ น่าสังเกตว่า พระวัดพระธรรมกายรูปอื่นๆ ห่มจีวรอย่างพระสงฆ์ไทยทั่วไปไม่ถูกเกณฑ์ให้นุ่งห่มอย่างเจ้าสำนักแต่อย่างใด “หลวงพ่อสด” หรือ ท่านเจ้าคุณพระเทพมงคลมุนี หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อวัดปากน้ำ” ก็ห่มจีวรแบบพระสงฆ์ไทยทั่วไป “สมเด็จวัดปากน้ำ” (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสด และเป็นอุปัชฌาย์ของหลวงพระธัมมชโย ก็ห่มจีวรอย่างพระสงฆ์ไทย และเข้าใจว่า คำสอนของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นเปรียญ (ป.ธ.9) 9 ประโยค ก็เป็นไปตามพระไตรปิฎกบาลีที่ท่านเรียนมา คือ จุดสูงสุดของธรรม ได้แก่ “อนัตตา” ส่วนคำสอนแนวธรรมกายของหลวงพ่อสด มุ่งสู่จุดสูงสุดคือ “ดวงแก้วใส” ที่เห็นในสมาธิ คือจบที่สมาธิ “นิพพาน” มีในสำนักธรรมกายเหมือนกัน แต่นิพพานนั้นหรือภาวะนั้น เป็น “อัตตา” ไม่เป็น “อนัตตา” พระที่พูดชัดที่สุดในเรื่องนี้ คือ ท่านเจ้าคุณพระเทพญาณมงคล (เสริมชัย) เจ้าอาวาส “วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม” จ.ราชบุรี ซึ่งมรณภาพเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า “อนัตตา” เป็นแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่อนัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะความเชื่อดั้งเดิมของคนเราเชื่อว่า มีวิญญาณ มีอัตตา ชนิดถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในพระไตรปิฎก อ่านอย่างไรก็พบแต่ว่า พระพุทธจ้าสอนเรื่อง “อนัตตา” นักคิดนักวิชากของไทย อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ และสมเด็นพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ก็ยืนยันว่า อนัตตาเป็นแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา สมเด็นพระญาณสังวร สมเด็นพระสังฆราชฯ ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็อธิบาย “อนัตตา” ไปในทางเดียวกั แต่... ดังได้กล่าวแล้วว่า อนัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก พระสงฆ์ทั่วไปก็ดูเหมือนจะมีความโน้มเอียงไปในทางเชื่อว่า “มีอัตตา” คือ เชื่อว่าจิตหรือวิญญาณมีอยู่อย่างถาวร หรือมีอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ (เทียบได้กับ “อาตมัน” ของฮินดู หรือ “พระเจ้า” ของศาสนาฝ่ายเทวนิยมต่างๆ) พระสายปฏิบัติ อย่างพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์ชา สุภัทโท ก็มีคำสอนไปในแนวอนัตตา แต่ก็ไม่ชี้ชัดแบบนักวิชาการ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ท่านเหล่านั้นก็ไม่ปฏิเสธคำสอนแนวอนัตตในพระไตรปิฎก แม้ว่า จะเข้าใจยากอย่างยิ่ง ระดับพระมหาเถระชั้นสังฆราช คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ (แพ) “วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นสมเด็นพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พระนามเดิมคือ “แพ” ประสูติ พ.ศ.2399 สิ้นพระชนม์ พ.ศ.2487) ก็มีความเห็นคัดค้านคำสอนเรื่องอนัตตา อย่างชัดเจน สมเด็จพระสังฆราชองค์นั้น เห็นว่า อนัตตา (ไม่มีตัวตน) เป็นมิจฉาทิฏฐิ สำนักวัดพระธรรมกายได้อ้างอิงคำสอนของท่านเป็นหลักฐาน สมเด็จพระสงฆราชองค์นั้น เรียกกันว่า “สมเด็จแพ” ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และอยู่ร่วมสมัยท่านพุทธทาสภิกขุ การที่ท่านปฏิเสธคำสอนเรื่องอนัตตาเป็นเรื่องน่าคิด จะว่าท่านไม่มีความรู้ทางวิชาการหรือทางพระปริยัติธรรม ก็คงไม่ได้ เพราะท่านเป็นเปรียญ 5 ประโยค (สมัยสอบปากเปล่าในพระบรมมหาราชวัง) และเป็นผู้ดำริให้มีการแปลพระไตรปิฎกบาลีเป็นไทย (พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย มีในสมัยนี้) ผมมีความรู้สึกว่า การที่ฝ่ายบ้านเมืองปฏิบัตการเอาผิดกับวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะการตามไล่ล่าหลวงพ่อพระธัมมชโย นั้นไม่เป็นการสมควร การตัดสินว่า หลวงพ่อเป็นปาราชิก เพราะเรื่องเงินทองเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ ไม่ใช่เรื่องของฆราวาส ความผิดเรื่องของเงินของสหกรณ์แห่งหนึ่ง น่าจะเป็นความผิด(ทางกฎหมาย) ของฝ่ายฆราวาส ซึ่งต้องดำเนินไปตามกฎหมาย ส่วนหลวงพ่อเป็นสอนให้คนปฏิบัติธรรม การรับบริจาคเป็นหน้าที่ของพระ จะมีนอกมีในอย่างไร น่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายและวินัยสงฆ์ ต้องตัดสินไปตามครรลอง ในกรณีฉ้อฉลเงินสหกรณ์ เป็นทางกฎหมาย ผิดหรือถูกน่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายฆราวราส ผิดก็ว่าไปตามผิด จบที่นั่น ส่วนพระสงฆ์ หรือ “หลวงพ่อ” ท่านอยู่กับวินัยสงฆ์ ก็ต้องให้คณะสงฆ์พิจารณา ถ้าจะให้สึก ก็เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ ฆราวาสไปจับท่านสึก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ (เรื่องเอาผิดวัดพระธรรมกาย) เกิดขึ้นในสมัยรัฐบยาลประหารของ คสช. รัฐบาลจะทำอย่างไรก็ได้แต่เรื่องก็จะไม่จบ จึงขอเสนอความเห็นว่า ประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีพระไตรปิฎกบาลีเป็นหลักฐานให้ยึดถือ จะผิดจะถูกอย่างไรก็เป็นเรื่องของพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท ขอเสนอความเห็นว่า พระไตรปิฎกบาลีของฝ่ายเถรวาทสอนเรื่อง “อนัตตา” ที่แตกต่างจากเรื่อง “อัตตา” (ของนิกายหรือศาสนาอื่น) ก็ต้องยึดแนวคำสอนเป็นหลัก วัดพระธรรมกายเห็นว่า การสอนวิธีทำสมาธิให้คนปฎิบัติตามได้ แล้วได้ผล สามารถชวนให้คนอยู่ในระเบียบวินัยได้ดี ก็น่าจะเป็นผลดีแก่สังคม ไม่เคยได้ข่าวว่า ชาวธรรมกายไปทำให้ใครเดือดร้อน (อ้อ! มีอยู่บ้าง ว่าคนในบ้านขนทรัพย์สินเงินทองไปบริจาคให้วัดพระธรรมกายจนเป้นที่เดือดร้อน) เรื่องเคยมีมาแล้ว กรณีสำนักสันติอโศก” ของท่านโพธิรักษ์” เรื่องไปจบที่ศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งไม่มีใครว่าได้ สันติอโศก ถูกศาลตัดสินให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมได้ แต่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือไม่ให้(พระสงฆ์) แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ไทย (ของนิกายเถรวาท) ทุกวันนี้ชาวสันติอโศกก็อยู่เป็นปกติ ยังปฎิบัติธรรมได้ เป็นปกติ เพียงแต่ให้เปลี่ยนสีจีวร ให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ไทยทั่วไปกับพระของสันติอโศกเท่านั้นเอง สันติอโศกทุกวันนี้ อยู่ในรูป “มูลนิธิ” อยากให้ชาววัดพระธรรมกายเป็นอย่างนั้น คืออยู่ในรูป “มูลนิธิ” พระของวัดพระธรรมกายก็ยังถือลัทธิ (ศาสนา) อย่างปกติเพียงแต่ไม่แอบแฝงเป็นพระสงฆ์ทั่วไปของไทย นั่นก็คือ เปลี่ยนสีจีวรเป็นอย่างอื่น (ก็ไม่เห็นจะเป็นไร ท่านยันตระไปอยู่สหรัฐอเมริกา ยังห่มจีวรสีเขียวเลย) การเปลี่ยนสีจีวร เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย คือไม่ลอกเลียนแบบการแต่งกาย ซึ่งกฎหมายไทยไม่อนุญาต ดีเสียงอีกสำหรับชาวพุทธ ที่จะได้ มีสำนักปฏิบัติธรรมให้เลือกตามความศรัทธา ผมเห็นว่าเป็นผลดีแก่ประเทศไทย ที่มีสำนักปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนาอันหลากหลายรูปแบบ แต่ก็เชื่อว่าในที่สุด พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่ปฏิบัตตามพระไตรปิฎกบาลี จะมั่นคงที่สุด เอาแค่เรื่องเงินทองหรือเรื่องผลประโยชน์ใดๆ ที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท เมื่อมีการละเมิดเข้า ก็มีอันเป็นไปเอง วัดพระธรรมกายมีการละเมิดเรื่องเงินทอง (ซึ่งมีการบัญญัติเตือนไว้ในพระไตรปิฎก) ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเดือดร้อนตามที่เป็นข่าว อยากให้ฝ่ายบ้านเมืองแก้ด้วยวิธี “มูลนิธิ” มากกกว่าการไล่ล่าจับสึกหรือเอาผิดกับนักบวช “มูลนิธิ” จะป้องกันการยึดวัดร้างมาเป็นของตน และแทรกซึมครอบงำวัดทั่วประเทศ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งวัดพระธรรมกายกำลังแพร่ขยายอิทธิพลอยู่ อยากจะกระซิบแต่เพียงว่า แนวธรรมและการทำงานของวัดพระธรรมนั้น ไม่ใช่ทั้งเถรวาท (ตามพระไตรปิฎกบาลี) ไม่ใช่ทั้งมหายาน แต่เขาก็มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม