สหกรณ์โรงเรียนช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่นักเรียนทางด้านภาษาไทยและคณิตศาสตร์ ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนกับวิชาหลักของโรงเรียน เช่น การสอดแทรกวิชาสหกรณ์เข้ากับวิชาสังคมศาสตร์ ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ โดยฝึกให้นักเรียนได้รู้จักการจัดประชุมคณะกรรมการสหกรณ์
"...เรื่องสหกรณ์โรงเรียน (เริ่ม พ.ศ. ๒๕๓๔) ก็เป็นงานหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจัดให้มีขึ้นทุกแห่ง เมื่อเริ่มโครงการข้าพเจ้ากำชับไว้ว่าผลผลิตที่เกิดจากงานเกษตรห้ามขายเด็ดขาด ต้องให้นักเรียนรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณเกินกว่าที่จะบริโภคได้หมด ก็ให้ทำการถนอมอาหารเก็บไว้ หรือแจกให้นักเรียนไปรับประทานที่บ้าน ต่อมาเมื่อโครงการประสบความสำเร็จพอสมควรแล้ว ก็ยอมให้ขายได้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้โครงการบางส่วนเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการเมื่อมีการซื้อขายก็ต้องเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ...
ระบบที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งโรงเรียน ตชด. มากที่สุด ก็คือ ระบบสหกรณ์ เพราะแต่ละคนมีเงินน้อย เมื่อร่วมกันจึงพอลงทุนธุรกิจใด ๆ ได้ ในหนังสือเรียนชั้นประถมศึกษา ก็มีบทที่ว่าด้วยการสหกรณ์อยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้มีการปฏิบัติจริงในโรงเรียน กรมส่งเสริมสหกรณ์ (สหกรณ์จังหวัด สหกรณ์อำเภอ)ได้มาช่วยจัดกิจกรรมสหกรณ์ โดยให้สหกรณ์ (จริงๆ) ที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลแนะนำให้กรรมการสหกรณ์เด็กนักเรียนไปดูงานถ้าเป็นไปได้..."
พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหนังสือสืบสานพระราชปณิธาน สามทศวรรษจรัสหล้า การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร แสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสและเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง และทรงเห็นว่าการปลูกฝังสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชน โดยเริ่มจากกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน จะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในกลุ่มนักเรียน ตลอดจนครู ผู้ปกครองและชาวบ้านในชุมชน ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ฝึกการวางแผน ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ไขปัญหา
พระองค์ทรงมีรับสั่งกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในขณะนั้น (นายเสงี่ยม มาหมื่นไวย) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ให้มีการจัดการเรียนรู้วิชาการสหกรณ์และดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยให้เริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพราะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับการพัฒนาชนบทในพื้นที่ห่างไกลคือระบบสหกรณ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ ในโรงเรียนตามแนวพระราชดำริ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้กำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันสหกรณ์นักเรียน" และเริ่มจัดกิจกรรมวันสหกรณ์ครั้งแรก ในปี 2552 ที่จังหวัดเพชรบุรี
นายนรุทธ์ อุทธา สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 28 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในการสนองพระราชดำริ ด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริ มาศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสหกรณ์ ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติที่เหมาะสมกับนักเรียน และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ในสังกัดสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปแนะนำการจัดกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน เริ่มต้นจัดกิจกรรมและสอนวิชาการสหกรณ์ในโรงเรียนที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จวบจนถึงปัจจุบันได้มีการขยายผลการสอนวิชาสหกรณ์ไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดอบรมครูผู้รับผิดชอบสอนวิชาสหกรณ์ในโรงเรียน เพื่อกำหนดหลักสูตรการสอน คู่มือการจัดการเรียนรู้การสหกรณ์ในสถานศึกษา และการผลิตสื่อการสอนวิชาสหกรณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการเรียนและการดำเนินชีวิต เป็นการปลูกฝังค่านิยมสหกรณ์แก่เยาวชน
การจัดกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนนั้น นักเรียนจะเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและการปฏิบัติจริง มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามแนวทางของสหกรณ์ เหมือนการจำลองภาพการดำเนินงานสหกรณ์ของสหกรณ์จริง ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรและอาชีพ นักเรียนจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด แปรรูปอาหาร นำผลผลิตมาขายผ่านสหกรณ์ของโรงเรียน กิจกรรมร้านค้าสหกรณ์ รับซื้อผลผลิตการเกษตรจากฟาร์มของโรงเรียน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นักเรียนร่วมกันทำ เช่น อาหารแปรรูป ขนม หรือหัตถกรรมต่าง ๆ เพื่อป้อนสู่โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ ส่วนที่เหลือจากการทำอาหารกลางวันก็จะจำหน่ายให้กับผู้ปกครองและคนในชุมชน ทำให้มีรายได้เข้ามาเพื่อเป็นสวัสดิการของนักเรียน
การฝึกกิจกรรมในร้านสหกรณ์ นักเรียนต้องรู้จักวางแผนการสั่งซื้อสินค้าและการจำหน่าย การเก็บรักษา การตรวจสอบจำนวนสินค้าคงเหลือ การจัดวางสินค้าเพื่อจำหน่าย การตั้งราคาขายสินค้า การคิดผลกำไรหรือขาดทุน มีการจดบันทึกและทำบัญชี ทุกกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกความละเอียด ถี่ถ้วน ความรอบคอบ ความเป็นระเบียบ เป็นอุบายสอนวิธีจดบันทึก ฝึกหัดทักษะทางคณิตศาสตร์ ซึ่งการทำบัญชีจะสอนให้เด็กเรียนรู้การทำธุรกิจ รู้ว่าลงทุนไปเท่าไร ตั้งราคาอย่างเหมาะสม เมื่อมีผลกำไรก็จัดสรรเป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนแก่สมาชิก บางส่วนสะสมไว้เป็นเงินทุนของสหกรณ์ หรือไว้เป็นเงินบริจาคสำหรับกิจกรรมสาธารณประโยชน์
กิจกรรมออมทรัพย์ เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เด็กนักเรียน รู้จักวางแผนการใช้จ่ายไม่ให้เกินที่ตนเองมี ในพื้นที่ทุรกันดาร นักเรียนส่วนใหญ่ยากจน แต่ก็สามารถออมเงินนำมาฝากได้ครั้งละ 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง ซึ่งคณะกรรมการสหกรณ์ฯจะรวบรวมและนำไปฝากธนาคาร แล้วมีการคิดดอกเบี้ยให้ เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนั้นๆ นักเรียนจะมีเงิน ก้อนหนึ่ง ไว้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อ หรือไปประกอบอาชีพเสริมได้
กิจกรรมการศึกษาและสวัสดิการ เป็นการส่งเสริมความรู้ให้แก่คณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนหรือสมาชิก เช่น การพาไปศึกษาดูงานสหกรณ์จริงๆ ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากสหกรณ์จริง และมีประสบการณ์ในการทัศนศึกษา มีการเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตด้านอื่น ๆ และยังสร้างแรงจูงใจในการดำเนินกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนด้วย
นอกจากนี้ วิชาสหกรณ์ยังช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่นักเรียนทางด้านภาษาไทยและคณิตศาสตร์ ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนกับวิชาหลักของโรงเรียน เช่น การสอดแทรกวิชาสหกรณ์เข้ากับวิชาสังคมศาสตร์ ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ โดยฝึกให้นักเรียนได้รู้จักการจัดประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ การจดบันทึกรายงานการประชุม และยังเป็นการปลูกฝังนิสัยด้านความเป็นประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์ ความประหยัดและความเอื้ออาทรต่อผู้อื่นให้กับเยาวชนอีกด้วย
การสอนวิชาสหกรณ์ให้กับนักเรียนจะเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างอนาคตของเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งวิธีการสหกรณ์จะสอนให้เด็กรู้จักพึ่งตนเอง การรับผิดชอบต่อส่วนรวม กล้าตัดสินใจและแก้ปัญหา และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งต้องให้เด็กได้ซึมซับหลักและวิธีการของสหกรณ์ ต้องสร้างความเข้าใจและฝึกฝนตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบสหกรณ์ และเมื่อจบการศึกษาในโรงเรียนแล้วไปเรียนต่อที่อื่น หรือออกไปประกอบอาชีพ สามารถนำความรู้ด้านสหกรณ์ไปใช้ในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในอนาคตต่อไป





