หอดูดาวสหรัฐฯ เสนอชื่อดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สดร.คนปัจจุบัน ว่าดาวเคราะห์น้อย “โปษยะจินดา” หลังพบเป็นลำดับที่ 3,709 นับถึงปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อคนไทยแล้ว 11 ดวง ไม่ใช่ง่ายๆ ที่ชื่อของใครต่อใครจะไปเป็นชื่อของดาวเคราะห์ได้ เพราะนั่นหมายถึงต้องเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งล่าสุดสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุ “เมื่อวันที่ 6 เม.ย.62 ที่ผ่านมา สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU ประกาศชื่อดาวเคราะห์น้อยล่าสุดจำนวน 106 ดวง หนึ่งในจำนวนนี้ ชื่อของ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้รับการเสนอให้เป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อย 2000 EJ148 ค้นพบโดยหอดูดาวแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยชื่อคนไทยรวมทั้งสิ้น 11 ดวง ดาวเคราะห์น้อย 45692 โปษยะจินดา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.055 กิโลเมตร มีค่าความส่องสว่างสัมบูรณ์ที่แมกนิจูด 14 ตำแหน่งวงโคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ไม่มีโอกาสเข้ามาในวงโคจรของดาวเคราะห์วงใน โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 1,599 วัน อยู่ห่างจากโลกเฉลี่ย 2.676 AU หรือประมาณ 400 ล้านกิโลเมตร หอดูดาวแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ค้นพบดาวเคราะห์น้อยโปษยะจินดาเป็นลำดับที่ 3,709 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2000 ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ขึ้นทะเบียนดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ด้วยชื่อชั่วคราวว่า 2000 EJ148 (ที่มาของรหัสดังกล่าว อ่านเพิ่มเติมได้ที่https://minorplanetcenter.net//iau/info/OldDesDoc.html) ทั้งนี้ หอดูดาวแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ ได้เสนอชื่อ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติคนปัจจุบัน ให้เป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อย 2000 EJ148 เนื่องจาก ดร.ศรัณย์ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงดาราศาสตร์ไทย เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ริเริ่มการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทย อาทิ หอดูดาวแห่งชาติ หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน และผลักดันโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ รวมทั้ง สนับสนุนการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย ทั้งนี้ สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการว่า 45693 Poshyachinda (2000 EJ148) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรก ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยจะตั้งชื่อชั่วคราว ระบุปีที่ค้นพบตามด้วยตัวอักษรจำนวน 2 ตัว หรืออาจจะมีตัวเลขด้วยก็ได้ และเมื่อทราบข้อมูลการโคจรที่ชัดเจน หรือระบุทิศทางการโคจรได้ จะได้รับหมายเลขถาวร จากนั้น ผู้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว จะได้รับสิทธิ์การเสนอตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเขียนข้อมูลอ้างอิงสั้น ๆ เพื่ออธิบายถึงที่มาของชื่อ ตามแนวทางของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) สำหรับเกณฑ์การเสนอชื่อนั้น ต้องเป็นคำเดียว ไม่เกิน 16 ตัวอักษร อ่านออกเสียงได้ ไม่มีความหมายรุนแรง ไม่ซ้ำกับชื่อเดิมที่เคยประกาศ รวมถึงดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ และหากเป็นชื่อของบุคคลหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกิจกรรมทางทหาร จะได้รับการพิจารณาหลังจากบุคคลนั้นเสียชีวิตหรือเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 100 ปี ชื่อที่เสนอทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) จำนวน 15 คน ประกอบด้วย นักดาราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางจากทั่วโลก ปัจจุบันมีชื่อบุคคลและหน่วยงานของประเทศไทย ได้รับการพิจารณาตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยรวมทั้งหมด 11 ชื่อ ได้แก่  1) 21464 Chinaroonchai (1998HH88) 2) 21540 Itthipanyanan (1998QE11) 3) 21632 Suwanasri (1999NR11) 4) 23310 Siriwon (2001 AA25) 5) 23308 Niyomsatian (2001 AS21) 6) 23313 Supokaivanich (2001 AC42) 7) 7604 Kridsadaporn (1995 QY2) 8) 151834 Mongkut (1995 QY2) 9) 13957 NARIT (1991 AG2) 10) 6125 Singto (1989 CN) 11) 45692 Poshyachinda (2000 EJ148) #ดาวเคราะห์น้อย เป็นก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่มีขนาดเล็กเกินกว่าจะเรียกว่า “ดาวเคราะห์” ได้ ส่วนใหญ่ค้นพบใน “แถบดาวเคราะห์น้อย” (Asteroid Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี บางดวงมีวงโคจรซ้อนทับกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี แต่ไม่มีโอกาสชนกับดาวพฤหัสบดี เรียกดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้ว่า “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” (Trojan Asteroids) ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยกลุ่มที่มีวงโคจรผ่านเข้าใกล้โลก จะเรียกว่า “วัตถุใกล้โลก” (Near-Earth Objects หรือ NEOs) ปัจจุบัน มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยแล้วหลายแสนดวง ในจำนวนนี้มีดาวเคราะห์น้อยกว่าสองหมื่นดวงที่ได้รับการตั้งชื่อและรหัสกำกับแล้ว “พัลลัส” (Pallas) เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 550 กิโลเมตร ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่เล็กที่สุดเท่าที่เรารู้จักนั้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวไม่กี่สิบกิโลเมตร แต่นักดาราศาสตร์คาดว่าน่าจะมีดาวเคราะห์น้อยที่เล็กกว่านี้อีกนับหลายล้านดวง”