นักโบราณคดีกรมศิลป์สำรวจพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีเขากะไดม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย พร้อมด้วยนายสุริยา เสนานุช ปลัดอาวุโส อำเภอชาติตระการ เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลชาติตระการ นายประเสริฐ สิงห์รักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านโคกผักหวาน และเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีเขากะไดม้า พบกลุ่มภาพเขียนสีกระจายตัวอยู่ตามเพิงผา 2 แห่ง บริเวณใกล้กับพุทธอุทยานเขากะไดม้า ได้แก่ ถ้ำพระอีงั่ง พบกลุ่มภาพเขียนสีบริเวณเพดานหินภายในเพิงผา เขียนแบบเงาทึบ (silhouette) ด้วยสีแดง ปรากฏเป็นภาพคน 2 ภาพ สุนัข 1 ภาพ และส่วนของขาสัตว์ที่มีกีบเท้า 1 ภาพ นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ที่ถ้ำคอขาด พบภาพเขียนสีบริเวณเพดานหินภายในเพิงผา กระจายตัวอยู่ 3 จุด ในบริเวณใกล้เคียงกันได้แก่ จุดที่ 1 กลุ่มภาพเขียนสี เขียนแบบเงาทึบ (Silhouette) ด้วยสีแดง เป็นภาพคน 1 ภาพ และมีการเขียนภาพลายเส้นลักษณะภาพแบบนามธรรม แสดงลวดลายต่างๆ ไว้โดยรอบ จุดที่ 2 ภาพเขียนสี สีแดง ปรากฏเป็นภาพคน 2 ภาพ แต่มีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกันคือ ภาพคน ที่อยู่ทางด้านซ้ายเขียนแบบเงาทึบ (Silhouette) ส่วนศีรษะของภาพหายไป เนื่องจากคราบเกลือปกคลุมภาพส่วนศีรษะ โดยภาพคนที่ไม่มีศีรษะนี้ เป็นที่มาของชื่อถ้ำคอขาด ส่วนภาพคนที่อยู่ทางด้านขวาเขียนแบบโครงร่างภายนอก (Outline) และจุดที่ 3 ภาพเขียนสี เขียนแบบเงาทึบ (Silhouette) ด้วยสีแดง เป็นภาพคน 1 ภาพ แต่ในจุดที่ 3 นี้ มีคราบเกลือขึ้นปกคลุมทั่วทั้งภาพ ทำให้มองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจน “กลุ่มภาพเขียนสีที่พบแสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ในบริเวณนี้ โดยเฉพาะกลุ่มภาพเขียนสีที่พบในบริเวณถ้ำพระอีงั่งที่ปรากฏเป็นภาพสุนัข และขาสัตว์มีกีบเท้า ซึ่งน่าจะสื่อถึงการออกไปหาของป่า ล่าสัตว์ โดยอาจมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข เพื่อช่วยในการล่าสัตว์ด้วย ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของชุมชนแบบหาของป่า ล่าสัตว์ ผู้คนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ตามถ้ำหรือเพิงผาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ดำรงชีพด้วยการ หาของป่า ล่าสัตว์ และมักมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลเพื่อหาอาหารในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน” นายอนันต์ อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว